กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ได้รายงานผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา โดยวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข ประกอบด้วย ประเด็นการสร้างประชาคมอาเซียน โดยผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาสนับสนุนข้อริเริ่มของบรูไน เช่น ข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติอาเชียน (ASEAN SHIELD) การรับรองขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเล และการส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพจิต
สำหรับการรับมือโรคโควิด-19 นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรวมถึงการใช้เงินจากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 จัดซื้อวัคซีนผ่านโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีน โควิด-19 หรือโคแวกซ์ ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนในมูลค่าประเทศละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำนักเลขาธิการอาเซียนในมูลค่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะสามารถจัดส่งวัคซีนได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2565 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสนับสนุนให้มีการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับคู่เจรจาเพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความมั่นคงและพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้ในอนาคต
ขณะเดียวกันคู่เจรจาหลายประเทศได้ประกาศข้อริเริ่มเพื่อสนับสนุนอาเซียนในด้านวัคซีน เช่น ออสเตรเลียประกาศมอบวัคซีนให้อาเซียนเพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดสภายในช่วงกลางปี 2565 เกาหลีใต้ประกาศที่จะให้เงินสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศจะให้วัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งอาเซียน เพิ่มเติมอีก 500 ล้านโดสภายในปี 2565 และจีนได้ประกาศข้อเสนอจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-จีนด้านการวิจัยและพัฒนาความมั่นคงทางสาธารณสุข
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ที่ประชุมอาเซียน ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับที่ตั้งได้ โดยประเทศที่เสนอตัวจะเป็นที่ตั้งศูนย์ ประกอบด้วยไทย ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 6 ประเทศ อินโดนีเซียก็ได้รับเสียงสนุบสนุนจาก 6 ประเทศเท่ากัน ขณะที่ประเทศเวียดนามได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศลาวเพียงประเทศเดียว
ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ที่ประชุมอาเซียนเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการเริ่มเปิดภูมิภาคและการเดินทางระหว่างกันอย่างปลอดภัย โดยใช้ประโยชน์จากกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียน (ASEAN Travel Corridor Arrangement Framework: ATCAF) เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางที่จำเป็น เช่น ราชการและธุรกิจ โดยไทยเสนอให้พิจารณาขยายให้ครอบคลุมการท่องเที่ยว รวมทั้งผลักดันให้อาเซียนจัดทำการรับรองวัคซีนและใบรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน
- 250 views