เลขาฯสปสช. จ่อเปิดรายละเอียดการเบิกจ่ายค่าดูแลรักษา ค่าอาหารผู้ป่วย HI และ CI ผ่านเว็บไซต์ เพื่อความโปร่งใสการดำเนินงาน พร้อมส่งหนังสือแจ้งหน่วยบริการปรับการเบิกจ่ายเป็นเหมา 7 วันขึ้นไป 1.2 หมื่นบาท เริ่ม 1 มี.ค.65 แต่จะเบิกได้นั้น ผู้ป่วยต้องอยู่ในระบบแล้ว 7 วัน  ขณะเดียวกันเผยเหตุผลค่าอาหารวันละ 400 บาท  

จากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับเกณฑ์การจ่ายค่าอาหารให้หน่วยบริการในการรับรักษาผู้ป่วยโควิดผ่านระบบการรักษาที่บ้าน Home Isolation หรือ HI  และการรักษาในระบบชุมชน  Community Isolation หรือ CI  ปรับเป็นการเหมาจ่ายต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 ราย กรณีรักษา 7 วันขึ้นไปไม่เกิน 10 วัน จ่ายค่าดูแลรวมค่าอาหาร 12,000 บาท แต่หากไม่รวมค่าอาหารจะอยู่ที่ 8,000 บาท เริ่มวันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สปสช. แจงปรับแนวทางเบิกค่าอาหาร HI 1 มี.ค.นี้ ลดปัญหาคนไม่ได้อาหาร)

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus เพิ่มเติมเรื่องนี้ ว่า   การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้หน่วยบริการมีความสะดวกมากขึ้น ประกอบกับผู้ป่วยก็จะได้มั่นใจว่า ได้รับการดูแลที่ดี โดยเดิมการจ่ายค่าดูแลรักษาและค่าอาหารให้แก่หน่วยบริการจะมีรายละเอียดมาก ว่า มีการดำเนินการอะไร อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากหน่วยบริการว่า กว่าจะตรวจเสร็จจะได้รับเงินไป 70% ก่อน และอีก 30% จะติดเรื่องข้อมูลยังไม่ครบ เช่น สปสช.โทรไปหาชาวบ้านได้ข้อมูลว่า รับอาหารไม่ครบ หรือหมอไม่โทรมาติดตามอาการคนไข้ ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 30% สปสช.จึงค้างส่วนนี้ เพราะถือว่าไม่ได้ให้บริการ ทำให้หน่วยบริการหลายแห่งโดนและมีการร้องเข้ามา

"ที่ผ่านมา สปสช.โทรไปสอบถามผู้ป่วยโควิดประมาณ 3 แสนกว่าคนจากรอบรักษาโควิดที่ผ่านมา มีประมาณ 6 หมื่นกว่าคน ประมาณ 20-30% บอกไม่ได้อาหาร แต่โรงพยาบาลก็บอกว่ามีให้ ทำให้ต้องมาหาหลักฐาน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ สปสช.จึงแก้ไขด้วยการแยกเงินออกเป็นค่าอาหารส่วนหนึ่ง ค่ารักษาส่วนหนึ่ง เพื่อความชัดเจน และหลังจากรับคนไข้ไปแล้วก็จะมีการเหมาจ่ายให้ หากรักษาเกิน 7 วันขึ้นไปรวมค่าอาหารคิดเหมา 12,000 บาท แต่หากต่ำกว่า 7 วันเหมาเป็น 6,000 บาท และหากตรวจพบไม่มีอาหารก็จะตัดออกวันละ 400 บาท" เลขาธิการสปสช.กล่าว


 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดังกล่าวสามารถเบิกก่อน หรือต้องรักษาก่อน นพ.จเด็จ กล่าวว่า เบิกก่อนไม่ได้ ต้องให้บริการก่อนอย่าง 7 วัน แล้วทำเรื่องเบิกมา เพราะจ่ายก่อนก็จะถูกตั้งคำถาม เพราะมีคนร้องอาหารไม่ดี ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งเราก็อยากให้คนที่เข้าระบบได้รับอาหารที่ดี โดยอีกทางเลือก หากเข้าระบบ HI หรือ CI ให้ประชาชนแอดไลน์ สอบ  คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso เพื่อจะได้ติดต่อกับทางสปสช.โดยตรง

เมื่อถามต่อว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การจ่ายค่าอาหารวันละ 400 บาทต่อ 3 มื้อราคาค่อนข้างสูง แต่ความเป็นจริงหน่วยบริการบางแห่งคิดค่าอาหารกับร้านค้ามื้อละ 45 บาท  นพ.จเด็จ กล่าวว่า  การคิดค่าอาหารวันละ 400 บาท มาจากเลตราคาของกรมบัญชีกลาง ตอนข้าราชการแอดมิท คิดค่าอาหารวันละ 400 บาท ซึ่งสปสช.ต้องการให้ดูแลเต็มที่ และต้องมีการอ้างอิงข้อมูลให้ถูกต้อง เพราะจะมีค่ารถ ค่าอะไร แต่ทุกอย่างต้องเหมาะสม โดยขณะนี้ได้หารือกับสมาคมภัตตาคารฯ ขอให้เป็นตัวกลางในการประสานกับหน่วยบริการจัดทำตรงนี้ไปให้

"การเพิ่มแอดไลน์กับสปสช. จะสามารถส่งรูปได้ อย่างคนที่เข้าระบบ HI และ CI ขอให้เพิ่มเพื่อนมา หากติดปัญหาอะไรให้ส่งข้อมูลมา" นพ.จเด็จ กล่าว และว่า ขณะนี้ สปสช.มีหนังสือแจ้งไปยังสถานพยาบาล หน่วยบริการต่างๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์นี้ เนื่องจากจะเริ่มใช้วันที่  1 มี.ค.2565 และจะมีการประกาศผ่านเว็บไซต์  สปสช. แจงรายละเอียดการจ่ายเงินด้วย เพื่อความโปร่งใส

ภาพจาก Hfocus

แฟ้มภาพสปสช.

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org