สปสช. แจงปรับแนวทางเบิกค่าอาหาร Home Isolation 1 มี.ค.นี้ เตรียมลดปัญหาคนไม่ได้อาหารเลย หลังปีที่แล้วพบถึง 27% พร้อมปรับวิธีเบิกจ่ายค่าอาหารไม่ให้ล่าช้า
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเสวนาทาง Facebook Live ในวันที่ 19 ม.ค. 2565 ในประเด็นเรื่อง การจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าระบบการรักษาที่บ้าน Home Isolation โดยมี พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. และ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ร่วมพูดคุย
โดย พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในเวทีเสวนา “การจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่เข้าระบบการรักษาที่บ้าน Home Isolation” ว่า การระบาดของโควิดขณะนี้เป็นโอมิครอน ส่วนมากผู้ติดเชื้อ 90-95% ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศนโยบายรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) และชุมชน (Community Isolation : CI) เป็นทางเลือกแรก
พญ.กฤติยา กล่าวต่อว่า สปสช.ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับจ่ายค่ารักษา รวมถึงค่าอาหารด้วย กรณีเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมอาหารจะจ่าย 1,000 บาท/วัน แต่รักษาพยาบาลอย่างเดียวไม่รวมอาหารจะจ่ายที่ 600 บาท/วัน รวมไม่เกิน 10 วัน แต่จะปรับหลักเกณฑ์ในวันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นเหมาจ่ายต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 ราย กรณีรักษา 7 วันขึ้นไปรวมค่าอาหาร 12,000 บาท หากไม่รวมค่าอาหารจะอยู่ที่ 8,000 บาท
พญ.กฤติยา กล่าวอีกว่า จากการติดตามประเมินผลการจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่เข้าระบบ HI ในปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับอาหารทุกวัน 66.63% ไม่ได้รับอาหารเลย 27.76% และได้รับอาหารเป็นบางวัน 5.6% ซึ่งระลอกนี้ สปสช.พยายามลดส่วนที่ไม่ได้รับอาหารให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเบิกจ่ายค่าอาหารจากผู้ประกอบการ เช่น ไม่พบหลักฐานการจัดส่งอาหารหรือรับอาหารตามวันที่ขอเบิก หรือมีหลักฐานการจัดซื้ออาหารแต่ไม่พบหลักฐานการบริการอาหารรายบุคคล หรือส่งภาพหลักฐานหน้าจอการสนทนาทางไลน์ ซึ่งไม่มีวันที่และ Line ID ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อจริง
ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อจริง ดังนั้นเพื่อความราบรื่นในการเบิกจ่ายค่าอาหาร ผู้ประกอบการควรมีมีหลักฐานที่บ่งบอกชื่อ-นามส่งสกุลผู้ติดเชื้อ หรือหลักฐานการจัดอาหารจากผู้ผลิตอาหารจัดส่งให้ผู้ติดเชื้อตามจำนวนวันที่เบิกเป็นรายบุคคล หรือหลักฐานการรับอาหารของผู้ติดเชื้อหรือญาติ ทั้งนี้เพื่อให้การจ่ายเงินค่าอาหารเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ด้านนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ในส่วนของการจัดส่งอาหารแก่ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation ทางสมาคมฯสามารถเป็นโซลูชั่นหรือตัวกลางแก่หน่วยบริการในการจัดหาอาหารและการขนส่ง ซึ่งนอกจากประกอบอาหารและจัดส่งแล้ว สมาคมฯยังมีแพล็ตฟอร์มอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น มีแอปพลิเคชัน "ปันสุข" ซึ่งผู้ป่วยสามารถติดตามได้ว่าอาหารส่งถึงไหนแล้ว แพ้อาหารอะไรก็สามารถแจ้งได้ เมนูต่างๆอิงกับมาตรฐานโภชนาการ ได้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน มีบริการ Call Center และมีการเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ที่ สปสช.หรือกระทรวงสาธารณสุข สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ 12 เดือน
"สมาคมมีเครือข่ายสมาชิกที่พร้อมให้บริการประชาชน และนอกจากเครือข่ายของสมาคมภัตตาคารไทยแล้ว เรายังมีสมาคมหรือชมรมผู้ประกอบการอาหารอื่นๆ ที่ได้มาตรฐาน Clean food good teste จากกรมอนามัย ซึ่งในรอบที่ผ่านมาสมาคมภัตตาคารไทยเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมผู้ประกอบการร้านอาหารเพื่อส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ดูแล ได้ประมาณ 270,000 คน ใน กทม. สามารถทำได้ 30,000 กล่อง ส่วนในต่างจังหวัดก็มีสมาคม/ชมรมร้านอาหารในทุกจังหวัด ซึ่งสมาคมฯพร้อมเป็นคนกลางประสานงานให้ในพื้นที่" นางฐนิวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ดี นางฐนิวรรณยังสะท้อนปัญหารในการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาให้ สปสช. ทราบว่ารัฐสนับสนุนค่าอาหารที่ 400 บาท/3 มื้อ แต่มีผู้ที่ได้รับงานจากโรงพยาบาลต่างๆแล้วมาจ้างต่อในราคา 145 บาท/3 มื้อ หรือมื้อละ 45-50 บาท จึงทำให้บางส่วนได้อาหารตามราคา ดังนั้นทั้งผู้ป่วยและผู้ประกอบการควรจะได้ทราบสิทธิที่รัฐบาลดูแล นอกจากนี้ ในขั้นตอนในการส่งมอบงานต้องมีการใช้เอกสารจำนวนมากตามระบบราชการ มีต้นทุนค่าบริหารจัดการ ดังนั้นจึงอยากฝาก สปสช. กำหนดเป็นนโยบายในภาพใหญ่ให้สามารถใช้ระบบออนไลน์ในการส่งมอบงานได้ รวมทั้งระยะเวลาการเบิกเงิน 60 วันก็ค่อนข้างนาน
ทั้งนี้ หากมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมให้บริการผู้ป่วย Home Isolation กับทางสมาคมฯ หรือมีโรงพยาบาลทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ต้องการให้สมาคมฯประสานงานกับผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ให้ สามารถส่งข้อความมาได้ที่ inbox ข้อความของเพจเฟสบุ๊ก สมาคมภัตตาคารไทย - Thai
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso
- 5693 views