ศูนย์จีโนมรามาโพสต์อัปเดต “เดลตาครอน” เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญอังกฤษแจ้งว่า อาจมาจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” และ “เดลตา” ในห้องแล็บ ประกอบกับตัวอย่างเชื้อไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน ย้ำ! แต่เพื่อความชัดเจนต้องติดตามข้อมูลที่ไซปรัสอย่างใกล้ชิดใน 1-2 สัปดาห์
จากกรณีสื่อต่างประเทศรายงานการติดเชื้อของสายพันธุ์เดลตากับโอมิครอน เรียกว่า “เดลตาครอน” จนสร้างความวิตกกังวลต่อคนทั่วโลกว่า เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่นั้น ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำยังไม่มีข้อมูลทางการ แต่ไทยติดตามต่อเนื่อง ขณะที่ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์รามาฯ เผยไม่พบข้อมูลทางการใน GISAID แต่ตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ หรืออาจไม่ได้เป็นการผสมเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ไทยจับตา "เดลตาครอน" ผสมระหว่าง "เดลตา+โอมิครอน" หลังยังไม่พบข้อมูลทางการ)
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์รามาฯ โพสต์อัปเดตเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า
"เดลตาครอน (Deltacron)"สายพันธุ์ลูกผสม หรือการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ
มีผู้สอบถามเข้ามาที่ศูนย์จีโนม รพ. รามาธิบดี มากมายว่าเกิดสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” ขึ้นที่ไซปรัสแล้วใช่หรือไม่ คำตอบคือ น่าจะไม่ใช่ครับ
เพราะ Dr. Tom Peacock ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลกชาวอังกฤษ รีบทวิตแจ้งว่าจากการพิจารณารหัสพันธุกรรมมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของ "โอมิครอน" และ "เดลตา" ในห้องปฏิบัติการ
เวลาถอดรหัสพันธุกรรมจึงมีรหัสปนกันออกมาเสมือนเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม และจากการนำเอาข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic tree พบว่าตัวอย่างทั้ง 25 ราย ไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน ซึ่งแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน
Tom Peacock on Twitter: "Small update: the Cypriot 'Deltacron' sequences reported by several large media outlets look to be quite clearly contamination - they do not cluster on a phylogenetic tree and have a whole Artic primer sequencing amplicon of Omicron in an otherwise Delta backbone.
*** ล่าสุด ศูนย์จีโนมฯ ได้นำรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจำนวน 25 ตัวอย่างที่ทางไซปรัสได้อัปโหลดขึ้นมาแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” โลก มาวิเคราะห์ เห็นพ้องกับที่ ดร. Tom Peacock กล่าวไว้ คือ เมื่อนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic tree (ภาพ ขวามือ) พบว่าตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกันซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ มีที่มาจากแหล่งเดียวกันยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกันไม่แตกกิ่งก้านสาขาไปมากมาย และจากรหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” เข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม
คำถามที่ตามมา คือ หากมีสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมาจริงๆ ทางศูนย์จีโนมฯจะตรวจพบหรือไม่ คำตอบคือน่าจะตรวจพบ เพราะขณะนี้เราถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีสายยาว (long-read sequencing) ประมาณ 1,000-2,000 ตำแหน่งต่อสาย ดังนั้น หากพบรหัสพันธุกรรมของ "เดลตา" และ "โอมิครอน" ผสมปนกันอยู่ในสายเดียวกัน ก็แสดงว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม
อย่างก็ตาม เพื่อความชัดเจนอาจต้องเก็บรวบรวมข้อมูลสักระยะ หากหลายสถาบันในไซปรัสยังสามารถถอดรหัสพันธุกรรมพบสายพันธุ์ลูกผสมดังกล่าวจากบรรดาตัวอย่างที่ส่งเข้ามาภายใน 1-2 อาทิตย์จากนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าได้เกิดสายพันธุ์ลูกผสม "เดลตาครอน" ที่ไซปรัสขึ้นแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 148 views