สธ.เดินหน้าสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ระหว่างวันที่ 27 พ.ย.- 5 ธ.ค.64 ตั้งเป้า 100 ล้านโดสในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ ลั่นหลัง 5 ธ.ค. ยังฉีดต่อเนื่อง พร้อมเผยกลุ่มที่ไม่มาฉีดวัคซีนมี 3 ประเภท "กลุ่มลังเล- กลุ่มรอวัคซีนที่จอง-คนอยู่ห่างไกล"  ส่วนปี 65 เตรียมวัคซีนบูสเตอร์โดสแล้ว  ตกลงเซ็นสัญญา 120 ล้านโดส 

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2564 ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต จ.นนทบุรี  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการจัดสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องในวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขและวันพ่อแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 5 ธ.ค. 2564 ซึ่งเริ่มคิกออฟวันนี้เป็นวันแรก โดยตั้งเป้าหมายให้ถึง 100 ล้านโดส ภายในสิ้น พ.ย.นี้ พร้อมลงมือปักเข็มฉีดให้แก่ประชาชนเองจำนวน 3 ราย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โรคโควิด 19 โจมตีเราตั้งแต่ต้นปี 2563 จนขณะนี้ปลายปี 2564 สู้กันมา 2 ปี ซึ่งเราจะต้องอยู่กับโรคนี้แบบให้ทำร้ายเราไม่ได้ ให้เป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็วที่สุด โดยประเทศไทยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้ายโดส หรือ 50 ล้านคน ซึ่งวันนี้เราฉีดสะสมได้ 92 ล้านโดส หมายความว่าทำงานได้ 92% แล้ว ช่วงสัปดาห์นี้ในโค้งสุดท้ายก็พยายามให้ได้มากที่สุดให้ถึง 100 ล้านโดส แปลว่าคนไทยอย่างน้อย 70% จะมีภูมิต้านทานไวรัส และไม่ใช่ว่าถึงวันที่ 5 ธ.ค.แล้วจะหยุดฉีด แต่เราจะฉีดต่อเนื่อง 
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้หาคนมาฉีดวัคซีนยากมากขึ้น คนที่ยังไม่มาฉีดมี 3 ประเภท คือ 1.ลังเล จากการได้ข่าวไม่ชัดเจนเรื่องเสียชีวิตจากวัคซีน ซึ่งจากการติดตามผู้เสียชีวิตจากวัคซีนมีเพียงรายเดียว ถือว่าน้อยมาก ส่วนผลข้างเคียงอาจมีบ้างก็ได้รับการดูแล 2.คนที่จองวัคซีนไว้และอยากฉีดที่จองไว้ แต่รัฐบาลก็มีให้ อยากให้มาฉีดฟรี ส่วนวัคซีนที่สั่งจองไปก็อาจบริจาคคืนหลวง หรือบริจาคฉีดให้คนอื่น เพราะวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่อยู่ในตัว และ 3. คนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงยากหรือไม่มีทะเบียน หรือคนต้างด้าวลอบเข้าเมือง

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เราประมาณจำนวนประชากรไว้ 75 ล้านคน ซึ่งจริงๆ เรามีประชากร 67 ล้านคน ประมาณการณ์ว่าชาวต่างชาติในไทย 5 ล้านกว่าคน ช่วงระบาดใหญ่กลับไป 2-3 ล้านคน เราฉีดต่างชาติไป 1.8 ล้านคนก็เริ่มหายากแล้ว ซึ่งจากจำนวน 67 ล้านคน หากไม่รวมเด็กอายุ 0-11 ปีประมาณ 10  ล้านคน ก็เหลือประมาณ 57 ล้านคน เราฉีดคนไทยประมาณ 47-48 ล้านโดส เป็นเข็ม 1 ประมาณ 71% เข็ม 2 ประมาณ 61% ก็ถือว่าเหลือไม่มากแล้วสำหรับคนไทย แต่คนที่มาพำนักในไทยต้องได้รับด้วย ซึ่งเราก็จัดรณรงค์ฉีดและจะฉีดต่อเนื่อง ไม่ใช่หลังจากวันที่ 5 ธ.ค.แล้วไม่ฉีดต่อ เราจะก็ฉีดจนสิ้นปี เพราะมีมากพอ ไม่ใช่เพียงพอ เรามีถึง 140 ล้านโดสในมือ ไม่ต้องตกใจว่าจะไม่ได้ หรือไม่ต้องไปฉีดวิธีอื่น อย่างฉีดใต้ผิวหนังที่ใช้โดสน้อยก็ไม่จำเป็น และเรามีวัคซีนทุกเทคโนโลยี ทั้งเชื้อตาย ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม , ไวรัลเวคเตอร์ แอสตร้าเซนเนกา และ mRNA ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ส่วนวัคซีนทางเลือกก็มี จึงเพียงพอทุกคนในประเทศไทย อย่างน้อย 2-3 เข็ม

สำหรับปี 2565 สธ.เตรียมวัคซีนบูสเข็ม 3 และ 4 ไว้หมดแล้ว ตกลงเซ็นสัญญา 120 ล้านโดส แม้จะมี 60 ล้านคน แต่เราเตรียมไว้เพราะอาจบูสต์จำนวน 1-2 เข็ม ซึ่งเราจองเรียบร้อยแล้ว จะทยอยมาตั้งแต่ต้นปี โดยเรายังพิจารณาให้คนที่ไม่ได้รับเข็ม 1 และ 2 หรือครบ 2 เข็มต้องเข็ม 3 ก็ฉีดให้ หรือคนที่รับเข็ม 3 ไปแล้วเมื่อถึงเวลาก็อาจต้องฉีดเข็ม 4 ใน ก.พ.-มี.ค. ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเรื่องภูมิต้านทานคงไม่เป็นปัญหา

"เราพบว่าภาคพื้นยุโรปเกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก เกิดจากฉีดแค่ 2 เข็ม แต่ประเทศไทยนักวิชาการเราเก่งก็แนะนำฉีดเข็ม 3 ฉีดไป  3-4 ล้านโดส ทำให้ประเทศไทยยังไม่มีการติดเชื้อรุนแรง การติดเชื้อรายวันเป็นไปตามเป้าหมายที่ควบคุมไว้ ลดลง ประมาณต้น ธ.ค.น่าจะเหลือต่ำกว่า 5 พันรายต่อวัน และเสียชีวิตน่าจะประมาณ 30-40 รายต่อวัน ก็กำลังเข้ามาสู่แนวนี้ ซึ่งเป้นตัวเลขที่ระบบสาธารณสุขไทยรองรับได้สบาย ซึ่งตอนนี้เราใช้ประมาณ 33-34% มีช่องว่างเหลือประมาณ 60 กว่า% ก็จะรองรับได้และดูแลโรคอื่นได้ด้วย" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การฉีดวัคซีนได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างดี จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันเชิญชวนหรือตามคนที่ยังไม่ฉีดมาฉีดวัคซีนด้วย บอกว่าถ้าไม่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อก็อาจป่วยและแพร่สู่คนรอบข้างด้วย ฉีดเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและสังคม ขอให้ช่วยกันรับผิดชอบ เพราะไม่อยากใช้มาตรการบังคับใครออกนอกบ้านต้องฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ขอให้ปฏิบัติตัวป้องกันตนเองสูงสุดครอบจักรวาล เริ่มจากทัศนคติคนใกล้ตัวอาจมีเชื้อแพร่เชื้อได้ ต้องระมัดระวังโดยสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และอย่าอยู่ด้วยกันเวลานาน อย่างเวลารับประทานอาหารก็ถอดหน้ากาก พูดคุย ก็อาจเกิดคลัสเตอร์ก็ต้องไปควบคุมโรค

"สธ.เคยคุยกันว่าจะไม่ยอมให้มีการปิดประเทศ เพราะที่ผ่านมาการระบาดใหญ่ทำประเทศเจ็บปวดบอบช้ำ ตอนนี้เรารักษาโรคแล้ว 2 ล้านคน มีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งตอนระบาดหนักมีเสียชีวิตขณะยังมาไม่ถึง รพ. ซึ่งจะไม่ให้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ ยอมรับว่าตอนโรคระบาดใหม่ ทุกประเทศเอาไม่ทัน แต่ตอนนี้พร้อมตั้งหลักได้ จะป้องกันไม่ให้เกิดระบาดใหญ่อีก ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย ด้วยวัคซีน การป้องกันตนเอง และเมื่อไปสถานบริการต่างๆ ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ร้านกาแฟ ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ร้านสะดวกซื้อ สธ.ก็เคร่งครัดการเข้าไปใช้บริการ เน้นใส่หน้ากาก วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า อย่างร้านอาหารที่ดื่มสุราได้ ต้องทำมาตรการ COVID Free Setting คือ สถานที่สะอาด ถูกสุขอนามัย มีการเว้นระยะห่าง มีเจลแอลกอฮอล์ มีการตรวจอุณหภูมิ พนักงานต้องฉีดวัคซีนทุกคน คนไปดื่มต้องไปแสดงผลวัคซีน หรือตรวจ ATK ไม่มีเชื้อ มีภูมิถึงปลอดถัย จึงผ่อนคลายสถานบริการให้ได้มากที่สุดแต่ป้องกันการระบาดโรคด้วย อย่างผับบาร์ คาราโอเกะ ก็อยากเปิด เห็นใจ แต่เที่ยวที่ผ่านมากิจการนี้ทำให้แพร่กระจายจำนวนมาก จึงขอเวลา ถ้าทำตามมาตรการนี้ได้ก็จะคุมการระบาดได้ ร้านก็จะติดป้ายว่าเป็น COVID Free Setting หรือ SHA Plus ก็เข้าไปใช้บริการได้ หากไม่เป็นไปตามนี้ให้แจ้งกลับมาบอกเพื่อตรวจสอบ ถ้าช่วยกันอย่างนี้ และเมื่อมีความเสี่ยงก็ตรวจ ATK ซึ่งทุกวันนี้ราคาไม่ถึง 40 บาทขององค์การเภสัชกรรม ปีหน้าก็นิวนอร์มัลใหม่ประเทศก็กลับคืนมา ถ้าไม่ร่วมมือติดเชื้อใหญ่ก็กลับไปอยู่ที่เดิม ซึ่งหาก ธ.ค.นี้ช่วยกันเคร่งครัด เราก็จะคริสต์มาสได้ เคานต์ดาวน์ได้ ฉลองช่วง ธ.ค.ได้แน่นอน เป็นเดือนแห่งความสุข และเข้าสู่ปีหน้าด้วยนิวนอร์มัลอยู่กับไวรัสได้ใกล้เคียงปกติที่สุด