กรมการแพทย์ ย้ำ! ยาฟาวิพิราเวียร์ - ฟ้าทะลายโจร ยังมีประสิทธิภาพ! ใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มแตกต่างกัน ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด สำหรับผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลาง เน้นกลุ่ม 607 ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีการศึกษา ส่วนเกณฑ์การรักษาจะออกมา ธ.ค.นี้ และนำเข้าไทย ม.ค. 65
ตามที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC กรณีมีรายงานการศึกษาระยะที่ 3 ของยา Avigan ฟาวิพิราเวียร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล เปรียบเทียบยาจริงกับยาหลอก เมื่อให้เร็วภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ ทราบแต่ในข่าวว่าผลการศึกษาสร้างความผิดหวังให้กับบริษัทยาของญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยาตัวนี้ ยาตัวนี้คงจะไม่ผ่านการรับรองของประเทศสหรัฐอเมริกา เราคงต้องรอผลงานวิจัยตึพิมพ์ออกมา ถ้าข่าวนี้เป็นจริง ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรจะหยุดใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาหลักในการรักษาโรคโควิด-19 ต่อไป
ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า แนวทางการให้ยารักษาโควิด-19 ของประเทศไทยปัจจุบัน หากไม่มีอาการก็ให้ยาฟ้าทะลายโจร อาการไม่มากถึงปานกลางก็ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ อาจจะมียาตัวอื่นๆ เข้ามาเสริมหากมีอาการรุนแรง แล้วแต่ประเภทผู้ป่วย แนวทางการรักษายังคงเดิม ที่มีข่าวรายงานการศึกษาในต่างประเทศว่าฟาวิพิราเวียร์ อาจไม่ประสบความสำเร็จนั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญรับทราบแล้ว ซึ่งกรมการแพทย์ได้มีการพูดคุยกับอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ สมาคมโรคติดเชื้อ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย หารือเป็นระยะ ต้องยอมรับในระบบของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน บางประเทศฉีดวัคซีนมาก บางประเทศฉีดน้อย และพันธุกรรมแต่ละชาติก็ต่างกัน เท่าที่รับรายงานจากหมอหน้างานที่รักษาก็ยังยืนยันหากให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้เร็วมีประโยชน์
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษาวิจัยระยะ 3 ผลเบื้องต้นสามารถลดป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อห่งชาติ ได้มอบการบ้านผู้เชี่ยวชาญศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยาของประเทศไทย ทั้งยาที่มีใช้กันอยู่ และยาที่กำลังเข้ามา รวมถึงเกณฑ์การให้ยาโมลนูพิราเวียร์ และแพ็กซ์โลวิดสำหรับผู้ป่วย คาดว่าเกณฑ์การให้ยา น่าจะชัดเจนช่วงกลางเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ โดยหลักการยาโมลนูพิราเวีย์ และฟาวิพิราเวียร์ ออกฤทธิ์ที่เดียวกัน โดยยับยั้งการจำลองตัวเชื้อ แต่แพกซ์โลวิดออกฤทธิ์คนละที่โดยยับยั้งกระบวนการสร้างโปรตีน แต่อยู่ในเซลล์ทั้งคู่ ซึ่งต้องกินคู่กับยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ประสิทธิภาพยู่ที่อาการผู้ป่วย ทั้งคู่ได้ผลสำหรับผู้ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และเน้นในกลุ่มที่ 607 คือ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ยาโมลนูพิราเวียร์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา หรือ FDA และเข้า อย.ไทย กว่าจะเข้ามาน่าจะเป็นไตรมาสแรกปี 2565 ได้เร่งรัดบริษัทนำเข้าให้ได้ในเดือนม.ค. 65 ส่วนแพ็กซ์โลวิดก็เช่นกัน ได้มีการเจรจาด้วยวาจาแล้ว อยู่ระหว่างการทำสัญญา เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาก่อนเสนอครม.ขออนุมัติวงเงินและเข้ากรมบัญชีกลาง ทั้งหมดได้เจรจาขอให้ได้ยาภายในไตรมาสแรก โดยทยอยเข้ามาให้เร็วที่สุด
วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมกรณีการจัดซื้อยาเพิ่มเติม ว่า วันนี้ลงนามซื้อยาโมนูพิราเวียร์ แล้ว 50,000 คอส จำนวน 2 ล้านเม็ด และกำลังเจรจาซื้อยาแพคโลวิดเพิ่มเติมจำนวนเท่ากันคือ 50,000 คอส จำนวน 2 ล้านเม็ด
- 606 views