สื่อหน้าจอสำหรับเด็กๆ เป็นสิ่งจำเป็นในยุคที่ต้องเข้มงวดกับการควบคุมระยะห่างเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบออนไลน์ เด็กๆ ต้องอยู่กับหน้าจอตั้งแต่เช้า ซึ่งมีผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการออนไลน์ เรื่อง "สื่อหน้าจอ กับเด็กปฐมวัย แค่ไหนจึงจะดี" เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทคโนโลยีทุกอย่างมีทุนทางเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลังหลายหมื่นล้านบาทต่อปี แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของประชาชน ในขณะที่เด็กๆ อยู่ในวัยที่กำลังสร้างสมองเซลล์ประสาทเชื่อมโยงการสื่อสารทางประสาทจากที่เคยพบเจอกัน ใช้ภาษาสื่อสารพูดคุย เมื่อต้องมานั่งมองจอนานๆตั้งแต่อายุยังน้อยสมองจะได้รับผลกระทบและการมาแก้ไขตอนโตแล้วเป็นเรื่องยาก
"นอกจากเราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีฝังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้วต้องปรับวิธีการใช้ลดอย่างไร โดยเฉพาะเด็กอายุ 2-5 ปี ใช้อย่างไรถูกวิธี" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
ขณะที่มุมมองของนักวิชาการด้านสุขภาพและพัฒนาการเด็ก ศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในประเด็น ผลของสื่อหน้าจอต่อเด็กปฐมวัย และ ควรใช้ยังไงให้ปลอดภัย ว่า ในเด็กปฐมวัยอายุตั้งแต่ 0-6 ปี มีงานวิจัยในไทยและต่างประเทศระบุว่าสื่อหน้าจอมีผลต่อเด็ก โดยการใช้สื่อในช่วงโควิดเป็นการ disrupt ทั้งระบบเพราะเด็กเรียนออนไลน์
"บางบ้านเปิดจอทีวีตั้งแต่เช้าการใช้สื่อในเด็กเล็กยังทำให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาไม่เหมาะกับวัย และอายุน้อยลงเข้ามาใช้มากขึ้น เป็นการใช้จอไม่เหมาะสมจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ต้องเปิดทีวีทิ้งไว้เพื่อทำงานบ้านหรือค้าขาย และบางกรณีพบว่ามีแอพพลิเคชั่นที่ลูกใช้มีข้อมูลถูกส่งไปยังบุคคลที่สามเป็นจำนวนมาก ในปี 2559 เรามีแคมเปญอย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก เนื่องจากพบว่าส่งผลต่อการพูดช้าและการควบคุมทางอารมณ์ เคสเหล่านี้มีเพิ่มขึ้นปัญหาคือเด็กดูเยอะเกินไป ที่จุฬาฯ ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยไม่ให้เด็กใช้จอคือความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ต้องตอบสนองลูกอย่างเหมาะสมคือควรมีกิจกรรมร่วมกัน โดยในเด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไปถ้าประวิงเวลาไม่ให้เด็กใช้จอตัวเลขผลการเลี้ยงลูกเชิงบวกเพิ่มขึ้น ถ้าแม่มีปฏิสัมพันธ์อันดีในเด็กอายุ18เดือน การเลี้ยงลูกจะดีขึ้นเมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ และจะใช้จอลดลงเมื่ออายุ4ขวบ ถ้าใช้จอเพิ่มมากขึ้นแนวโน้มความสัมพันธ์กับพ่อแม่มีผลต่อการเลี้ยงดู การใช้สื่อที่ดีพ่อแม่ควรมีการสนทนากับลูกระหว่างดูทีวี ในเด็กอนุบาลเด็กจะอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้นอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ๆ ยิ่งพูดคุยมากขึ้นจะเกิดประโยชน์กับลูกมากขึ้น" ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอีกว่า จากการศึกษาในเด็ก 19,000 ราย การที่ผู้ปกครองทิ้งให้อยู่กับทีวีการเรียนรู้ด้านภาษา ของเด็กลดลง ความสัมพันธ์นะหว่างพ่อแม่กับเด็กลดลง ยิ่งเปิดเยอะพัฒนาการด้านภาษาก็ลดลง การดูทีวีกับลูกแล้วชวนคุยจะทำให้ความสัมพันธ์เป็นบวกเพิ่มขึ้น
"ผลกระทบต่อมาคือสมอง ในเด็กอายุ 3-5 ปี การอยู่หน้าจอโทรศัพท์หรือทีวีมีโอกาสทำให้โครงข่ายในสมองความหนาแน่นลดลง ความเชื่อมโยงสมองควบคุมด้านภาษาเกี่ยวพันกับการมองเห็นด้วย และผลกระทบอีกด้านคือสติปัญญา ช่วง 3 ปีแรกถ้าใช้จอน้อยพัฒนาการไอคิวจะสูงคืออยู่ที่ประมาณ 108 เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ใช้จอเยอะอยู่ที่ 98 หากอยู่หน้าจอทีวีนานกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งต่อวันสัดส่วนเด็กจะมีสติปัญญาน้อยลง ดังนั้นหากผู้ปกครองชะลอการเปิดหน้าจออย่าให้เด็กรับเร็ว หรือเปิดทีวีแล้วคุยกับลูกอย่าเปิดแช่ไว้นานๆเซลล์ประสาทถูกปล่อยทิ้งมีผลต่อสติปัญญา โตมามีผลสมาธิสั้นและการเรียน เพราะฉะนั้นอย่ารีบซื้อมือถือให้ลูกเร็ว" ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว
ในเรื่องการเรียนออนไลน์นั้น ศ.นพ.วีระศักดิ์ ให้ความเห็นว่าขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง หลังจากหลายโรงเรียนพยายามลดการสอนลงมาเพราะฟีดแบ็คการเรียนอยู่บ้านไม่ง่าย เด็กบางคนเปิดหน้าจอแล้วเล่นเกมตลอดเวลาโดยที่ครูไม่รู้ หรือบางคนก็ปิดกล้องไปเลย ผู้ปกครองต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กให้มาก ตรงนี้สุดท้ายแล้วอย่างไรก็ต้องกลับไปเรียนที่โรงเรียน
ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างสร้างสรรค์และเท่าทันสื่อว่า เทคโนโลยีไม่ดี ไม่เลว และไม่เป็นกลาง ขึ้นอยู่กับว่าเราเท่าทันหรือไม่ สถิติการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตหลายประเทศไทยอยู่อันดับสุดท้ายระดับคะแนนต่ำกว่าค่ากลางแม้ว่าอินเตอร์เน็ตในไทยจะเร็วแต่การใช้งานสอบตกมาหลายปี ความฉลาดทางดิจิทัลของไทยมีปัญหาทักษะการใช้ เช่น Cyber bullying, การจัดการใช้หน้าจอ, การแสดงความเห็นอกเห็นใจในอินเตอร์เน็ต การควบคุมเวลาการใช้ รวมถึงระบบการศึกษาที่เพิ่งมามีปัญหาตอนเรียนออนไลน์ โดยปัญหาเกิดจากระบบพ่อแม่แนะนำการกำกับของพ่อแม่ไม่ทำงานเลย เช่นไม่เปิดทีวีทิ้งไว้ ไทยจึงกลายเป็นประเทศที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไม่ดี คำถามคือเด็กต้องการโทรศัพท์มือถือจริงหรือไม่
"e-Learning สื่อดิจิทัลถูกผลิตออกมาเปิดกี่ทีก็เหมือนเดิมความยาวเท่าเดิม แต่หนังสือนิทานเปิดโอกาสให้พ่อแม่ใช้เวลาเปิดระบบเปิดได้ สื่อดิจิทัลไม่ทำให้เด็กสนใจพ่อแม่ สนใจแต่ในจอเพราะฉะนั้นเวลาที่เปิดสื่อดิจิทัลพ่อแม่บอกว่าทำไมลูกดื้อ ก็เพราะว่าเด็กไม่สนใจพ่อแม่ เพราะคุณเลี้ยงลูกไม่ถูกวิธีใช้จอเลี้ยงลูก จอมันดึงความสนใจตลอดเวลาโดยไม่เหนื่อยกดกี่ครั้งก็เปิดมาเหมือนเดิม พ่อแม่ยังมีเหนื่อย เด็กจึงรู้สึกว่าดิจิทัลตอบสนองได้รวดเร็ว พ่อแม่ต่างหากที่ทำไม่ได้ดั่งใจนึก" อ.ธาม กล่าว
อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอีกว่า สื่อดิจิทัลยังทำลายพัฒนาการด้านภาษาและสังคม เด็กไม่ได้เรียนรู้สีหน้า อารมณ์ สูญเสียการเชื่อมโยงโครงข่ายสมาธิ
"การซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกต้องมี Mom Contract หรือข้อตกลงในการใช้มือถือตั้งกฎว่ามือถือเป็นของแม่ แม่เป็นคนซื้อ แม่ให้ลูกยืม แม่มีสิทธิสูงสุด Mom Contract เป็นมาตรการสำคัญมากของโอเปอเรเตอร์ในต่างประเทศก่อนแม่จะซื้อโทรศัพท์ให้ลูก ต้องเซ็นสัญญาเพื่อเป็นกฎกติกาตกลงกัน" อ.ธาม กล่าว
ด้าน มาริสา สังขาร ครูปฐมวัยศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในประเด็นลดเวลาหน้าจอ ชวนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ว่า สมองเป็นส่วนสำคัญกับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีเป็นช่วงที่สมองพัฒนามากที่สุด ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดี เติบโตท่ามกลางปัจจัยลบ ขาดการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ติดสมาร์ทโฟนมากขึ้น บางบ้านพ่อแม่เป็นผู้หยิบยื่นสมาร์ทโฟนให้กับเด็กเพราะคิดว่าจะทำให้สงบ นิ่งขึ้น ฉลาดขึ้น แต่ความจริงแล้วมีผลตรงกันข้าม
"ในมุมของครูที่เจอเป็นเรื่องของภาษา การสื่อสาร เด็กที่ได้รับสื่อจอใสเปิดทิ้งไว้ขาดปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูส่งผลต่อภาษา การพูดการสื่อสารจะช้าลง ต่อมาคือ EF ทักษะการทำงานของสมองระดับสูง ซึ่ง EF จะพัฒนาตั้งแต่ช่วงปฐมวัยในด้านการควบคุมตนเอง รู้คิด การแก้ปัญหาต่างๆ ถ้าเกิดขาดทักษะพัฒนาทำให้สิ่งเหล่านี้ขาดหายไปด้วย อีกปัญหาคืิอพฤติกรรม เพราะสื่อบางอย่างมีเนื้อหารุนแรงก้าวร้าวเด็กบริโภคลำพัง ถ้าบ้านไหนปล่อยให้เด็กดู ไม่ฝึกเรื่องวินัยสิ่งที่ตามมาคือเด็กจะต่อต้าน เลียนแบบพฤติกรรม ปฏิกิริยาทางอารมณ์ส่งผลต่อสมาธิและการนอนหลับ ปัญหาสุดท้ายคือด้านร่างกาย สื่อจอใสทำให้เด็กนั่งอยู่กับที่ปล่อยให้สื่อวิ่งไปเรื่อยๆ ผิดกับธรรมชาติของเด็กที่ต้องได้ออกกำลังกายพัฒนาการตามวัย" นางมาริสา กล่าว
ในขณะที่ ยศพนธ์ ศรีศักดาราษฎร์ นักสุขศึกษา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยามหิดล กล่าวถึงประเด็นลดเวลาหน้าจอ ชวนทำกิจกรรมกลางแจ้ง ว่า การอยู่หน้าจอทำให้เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน หัวใจ ตามมา เพราะเด็กต้องได้ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม ซึ่งองค์การอนามัยโลก มีผลวิจัยว่ามากกว่า 50% พบเด็กที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้วเมินเฉยต่อการออกกำลังกาย ส่งผลให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆของโลก
"องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่ควรได้รับคือการให้เด็กได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย ดังนั้นการที่หยิบยื่นโทรศัพท์ให้เด็กดูหน้าจอจึงเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กด้วย เด็กควรได้ออกกำลังกายกระฉับกระเฉงอย่างน้อยวันละ60นาที โดยฐานพัฒนาการของเด็กที่สำคัญที่สุดคือการเคลื่อนไหวเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ส่งผลไปยังภาษาและการพูดที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก สมาธิการใช้สายตา ควบคุมสายตา การปรับร่างกายจะดีขึ้น ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น" ยศพนธ์กล่าว
ทั้งนี้ นักสุขศึกษา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยามหิดล กล่าวอีกว่าข้อสังเกตพัฒนาการของเด็กในวัย 18 เดือนคือ จะต้องขึ้นลงบันไดไม่สลับก้่าว โดยเกาะบันไดได้ดี เดินถอยหลังได้ ชอบวิ่ง กางแขนขา ล้มบ่อย และปีนขึ้นนั่งบนเก้าอี้ได้
- 2659 views