สสส. เปิดตัววารสารการสร้างเสริมสุขภาพไทย Thai Health Promotion Journal ฉบับปฐมฤกษ์ ครบรอบ 20 ปี เสริมแกร่งยกระดับงานวิชาการสร้างเสริมสุขภาพของไทย พร้อมเปิดรับผลงานวิชาการร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมสุขภาวะ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ในโอกาส สสส. ครบรอบ 20 ปี ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพ มีภาคีเครือข่ายร่วมทำงานทั่วประเทศมากกว่า 20,000 คน/องค์กร มีองค์ความรู้สร้างเสริมสุขภาพทั้งทางวิชาการและแนวปฏิบัติที่สามารถทำได้จริงเห็นผลเชิงประจักษ์ สสส. จึงมีแนวคิดในการจัดทำวารสารวิชาการชื่อ “วารสารการสร้างเสริมสุขภาพไทย” (Thai Health Promotion Journal)
โดยกำหนดเผยแพร่วารสารฯ ฉบับปฐมฤกษ์ ในเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2565 แต่เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ทศวรรษของ สสส. จะมีการนำมาเผยแพร่ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เป็นครั้งแรก ซึ่งวารสารวิชาการนี้ ถือเป็นการพัฒนางานการสร้างเสริมสุขภาพของภาคีเครือข่ายและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” ขับเคลื่อนงานด้านวิชาการ จุดประกายให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อเป็นฐานในการสร้างนโยบายและการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนค่านิยม วิถีชีวิต และพฤติกรรมอย่างยั่งยืน
ซึ่งที่ผ่านมาสสส. พัฒนาให้เกิดศูนย์วิชาการเฉพาะด้านขึ้น อาทิ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา: Center of Alcohol Studies ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย(TPAK) ฯลฯ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายวิชาการที่มีจุดเด่นในการนำข้อมูลเชิงวิชาการมาใช้ได้ตรงจุดเพื่อสร้างเสริมสุขภาพในหน้างานจริงของสังคมไทย ทั้งนี้ วารสารวิชาการนี้จะเป็นฐานสำคัญในการเสริมพลังปัญญาการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร บรรณาธิการวารสารการสร้างเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า การจัดทำวารสารการสร้างเสริมสุขภาพไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงและยกระดับวิชาการด้านการสร้างเสริมสุขภาพของไทย สู่มาตรฐานวารสารวิชาการระดับสากล โดยมีกระบวนการรวบรวม คัดกรองผลงานทางวิชาการของบุคลากรและเครือข่ายที่ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพในหลากหลายมิติและเผยแพร่บทความวิชาการผ่านวารสารฉบับนี้ โดยผลงานที่ได้คัดเลือกตีพิมพ์ในวารสารฯ ฉบับปฐมฤกษ์ที่จะเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ที่น่าสนใจ ได้แก่
1.การขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีความละเอียดอ่อนต่อมิติเพศภาวะและความเป็นชาติพันธุ์ของผู้หญิงชาติพันธ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
2.รายงานกรณีศึกษา ประเด็นสถานการณ์การสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านในประเทศไทยปัจจุบัน
3.บทความพิเศษ เช่น การออกแบบโรงพยาบาลสร้างสุข (ภาวะ) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม
(สแกน QR Code)
วารสารการสร้างเสริมสุขภาพไทย เป็นวารสารฉบับราย 3 เดือน จัดทำ 4 ฉบับต่อปี โดยฉบับปฐมฤกษ์เผยแพร่ในเดือน คือ มกราคม-มีนาคม ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน และฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี โดยเผยแพร่ในรูปแบบวารสารรูปเล่ม และอิเล็กทรอนิกส์ (E-journal) โดย สสส. เปิดรับบทความวิชาการจากนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ โดยต้องเป็นบทความวิชาการที่ไม่เคยเผยแพร่หรือตีพิมพ์งานวิชาการมาก่อน ทั้งนี้ การพิจารณาบทความวิชาการ มีกระบวนการคัดกรอง ประเมินคุณภาพ และให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้สนใจส่งบทความวิชาการด้านการสร้างเสริมสุขภาพของไทย ได้ที่ THPJ@thaihealth.or.th
- 165 views