ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มีมติรับทราบรายงานการประเมินผลการดำเนินงานของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2564 ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ โดยรายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อประเมินผลลัพธ์จากการดำเนินงานตามแนวทางและวิธีการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และวิเคราะห์และประเมินช่องว่างที่เป็นปัญหาสำคัญต่อการดำเนินงานอันเป็นผลจากการประเมินผลในรอบที่ 1 (พ.ศ. 2560 - 2561) รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาการดำเนินงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 1-13 ได้วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาในเขตพื้นที่และร่วมกันกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ เขตพื้นที่ละ 3-5 ประเด็น ปัจจุบันมีประเด็นขับเคลื่อนรวมทั้งสิ้น 55 เรื่อง ประกอบด้วย อาหารปลอดภัย ขยะ อุบัติเหตุ หมอกควัน ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ โรคติดต่อเรื้อรัง ระบบบริการสาธารณสุข ระบบสุขภาพชุมชน การจัดการน้ำ ระบบข้อมูลสารสนเทศ สุขภาวะพระสงฆ์ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้สูงอายุ
2. การประเมินผลเขตสุขภาพเพื่อประชาชนโดยผู้ประเมินภายนอก (สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีผลการประเมิน 4 ด้าน ประกอบด้วย ผลลัพธ์การดำเนินงานของ กขป. ข้อค้นพบสำคัญ ปัจจัยความสำเร็จของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และ ข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนา
กขป. โดยกขป. สามารถบรรลุตามผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพในเขตพื้นที่อาทิ 1) ประเด็นสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบางทางสังคม ซึ่ง กขป. เขตพื้นที่ 12 ได้สานพลังการทำงานของทุกภาคส่วนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์สร้างสุขชุมชนเพื่อให้บริการสุขภาพใกล้บ้าน การสร้างห้องเรียนสวนผักชุมชนให้ชาวบ้านและสร้างอาชีพให้กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งจัดทำระบบข้อมูลกลางผ่านแอพพลิเคชัน iMed@home เพื่อบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ของกลุ่มเปราะบางทางสังคม
2) ประเด็นอาหารปลอดภัย ได้ขับเคลื่อนใน กขป. เขตพื้นที่ 4-10 และ 12 มีเครือข่าย“อาหารปลอดภัยในชุมชน” มีนโยบายการขยายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยไปสู่ชุมชน มีมาตรฐานอาหารปลอดภัย LSF หรือ Loei Safety Food สำหรับการขึ้นทะเบียนรับรองเกษตรกรที่ผ่านมาตรการผลิตปลอดภัย รวมทั้งแพลตฟอร์ม Green smile เป็นพื้นที่ในการประสานความร่วมมือของเกษตรกรรายย่อยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการข้อมูลการผลิตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายอื่น
ประเด็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ได้ขับเคลื่อนใน กขป. เขตพื้นที่ 4-5, 10 และ 13 โดยการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมของชุมชนว่าด้วยการลดอุบัติเหตุ มีแผนปฏิบัติการร่วมระดับตำบลและอำเภอในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน มีฐานข้อมูลการป้องกันและลดอุบัติเหตุภัยทางถนนโดยบูรณาการข้อมูลจากใบมรณบัตร ภาพถ่ายจากกล้อง CCTV และข้อมูลนิติเวช รวมทั้งการถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จจากการดำเนินงานของพื้นที่เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น
ด้านข้อค้นพบสำคัญ กรรมการผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานรัฐมีแนวโน้มการมีส่วนร่วมในการประชุมน้อย ส่งผลให้การบูรณาการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพในเขตพื้นที่เป็นการทำงานของ กขป. ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาสังคม อีกทั้งกรรมการผู้แทนหน่วยงานส่วนใหญ่ไม่มีเครือข่ายหรือโครงสร้างรองรับการสื่อสารประเด็นเพื่อขับเคลื่อนงานจากที่ประชุมระดับเขตเข้าสู่โครงสร้างของหน่วยงานในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ทำให้การบูรณาการภารกิจและบทบาทหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบยังไม่เกิดขึ้นมากนัก รวมทั้งยังไม่สามารถผลักดันเป็นนโยบายของหน่วยงานภาครัฐได้
สำหรับ ปัจจัยความสำเร็จของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน มี 4 ประการ ประกอบด้วย 1) ความเข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่ของ กขป. 2) องค์ประกอบและการมีส่วนร่วมของ กขป. 3) การบูรณาการการทำงานของเลขานุการร่วม ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สช. และ 4) ระบบข้อมูลการดำเนินงานของ กขป. และองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
รายงานดังกล่าวได้เสนอข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนา ประกอบด้วย 1) หน่วยงานระดับกระทรวงควรให้ความสำคัญในการมอบหมายผู้แทนที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนงานระดับเขตหรือกลุ่มจังหวัด เป็นกรรมการผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานรัฐ
2) หน่วยงานระดับกระทรวงควรสนับสนุนให้กรรมการผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานรัฐแต่ละเขต เข้าร่วมและบูรณาการการทำงานร่วมกับ กขป. และองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
3) ควรสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดจากระบบไม่เอื้ออำนวย ไม่บูรณาการกัน เพื่อชี้ช่องว่างให้เห็นข้อจำกัดเชิงระบบ
ทั้งนี้ ที่ประชุมครม.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต่อไป และให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เขตสุขภาพประชาชนจัดตั้งขึ้นตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.2559 เพื่อให้มีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนคณะหนึ่ง รับผิดชอบในการดูแลประสานงาน และสนับสนุนให้มีการบูรณาการเกี่ยวกับระบบสุขภาพในพื้นที่ เขตพื้นที่ 1 ถึงเขตพื้นที่ 12 และให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของ กขป. เขตพื้นที่ 13 โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการร่วมในแต่ละเขตพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กขป.
กขป. มีอำนาจหน้าที่กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ในการดำเนินการและพัฒนาเกี่ยวกับระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ ดำเนินการหรือประสานงานให้เกิดการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ตลอดจนเสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสุขภาพในเขตพื้นที่ต่อหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- 95 views