เริ่มแล้ว! ฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียนอายุ 12-17 ปี ทั่วไทย พร้อมติดตามผลข้างเคียงวัคซีนโควิด19 โดยเฉพาะภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจาก mRNA ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ อุบัติการณ์การเกิด ข้อมูลทั่วโลกอยู่ที่ 6 รายต่อการฉีด 1 แสนโดส พบมากในเด็กชาย ซึ่งส่วนใหญ่หายเอง
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 ที่โรงเรียนพิบูลสงคราม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังงานคิกออฟฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กอายุ 12-17 ปี ว่า ขณะนี้การฉีดวัคซีนในเด็กมีความสำคัญมาก เพราะการปิดเทอมเรียน ออนไลน์เป็นเวลานานส่งผลต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น การฉีดวัคซีนโควิด-19 วันนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราจะฉีดให้กับทุกคนในประเทศไทยที่มีความสมัครใจ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สาเหตุที่ทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กค่อนข้างช้ากว่ากลุ่มอื่นเนื่องจาก การฉีดวัคซีนต้องคำนึงถึง 2 อย่าง คือ 1.ประสิทธิภาพของวัคซีน และ 2.ความปลอดภัย
นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในไทยหลายตัว แต่ที่นำมาฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ แต่ขณะนี้มีตัวเดียวในไทย คือ วัคซีนไฟเซอร์ ที่เป็นชนิด mRNA ส่วนวัคซีนโมเดอร์น่า ยังไม่เข้ามาและไม่ใช่วัคซีนหลักที่รัฐบาลไทยจัดหา ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กของประเทศไทยมีระบบเดิมอยู่แล้ว เช่น วัคซีน HPV ที่ฉีดให้เด็กหญิงชั้น ป.6 ขึ้นไป
นพ.โอภาส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย.64 วัคซีนไฟเซอร์ มาถึงไทย หลังจากตรวจสอบคุณภาพแล้ว วันที่ 30 ก.ย. ก็กระจายไปที่แต่ละอำเภอ โดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รวบรวมข้อมูลเด็กนักเรียนที่เข้าเกณฑ์การรับวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 5 ล้านคน จากการสำรวจความประสงค์ของผู้ปกครอง พบว่ากว่า 80% มีความประสงค์และอนุญาตให้เด็กฉีดวัคซีน เป็นจำนวนเด็กราว 4 ล้านคน จากนั้น ทางจังหวัดกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันวางจุดฉีดวัคซีน จนถึงระบบการติดตามกลังการฉีด โดยส่วนกลางจะส่งวัคซีนไฟเซอร์ไป อย่างที่รู้กันดีว่า หากเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะมีอายุนานประมาณ 30 วัน ฉะนั้นจะต้องมีระบบที่ข้อมูลต่างๆ สอดคล้องกัน
"ดังนั้น วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกที่ส่งไป 2 ล้านโดส ส่วนใหญ่จะถึงที่โรงเรียนแล้ว แต่จะไม่ทุกโรงเรียน เพราะนักเรียนมีประมาณ 4 ล้านคน และวันพุธที่ 6 ต.ค. จะมีเข้ามาเพิ่มอีก 1.5 ล้านโดส สัปดาห์ถัดไปก็จะมาอีกประมาณ 1.5 ล้านโดส ก็จะเร่งกระจายออกไป ฉะนั้นอีก 2 อาทิตย์ก็จะมีวัคซีนกระจายไปครบตามจำนวนนักเรียนที่ฉีด" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า การติดตามเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะชนิด mRNA ที่คนเป็นห่วงกันมาก คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ ทั้งนี้ อุบัติการณ์การเกิด ข้อมูลทั่วโลกอยู่ที่ 6 รายต่อการฉีด 1 แสนโดส พบมากในเด็กชาย ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะหายเองได้ ส่วนน้อยอาจต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่หากดูเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า จึงเป็นแนวนโยบายว่าเราต้องเร่งฉีดวัคซีนเด็กนักเรียน ควบคู่กับการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ผ่านแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม ซึ่งหากพบว่ามีอาการผิดปกติ ก็ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด
"สำหรับเด็กผู้หญิงข้อมูลส่วนใหญ่เชื่อว่าปลอดภัย คำแนะนำหลายคนตอนนี้บอกว่าให้ฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ส่วนเด็กชายให้ฉีดก่อน 1 เข็ม และประเมินข้อมูลอีก 2 อาทิตย์ถัดไป ว่าจะฉีดเข็ม 2 ต่อหรือไม่อย่างไร" นพ.โอภาส กล่าว และว่า นอกจากนั้นก็จะรวบรวมจากข้อมูลทั่วโลกมาประเมินอีกครั้งด้วย
เมื่อถามว่าการฉีดวัคซีน 1 เข็ม ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้เพียงพอหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีด 2 เข็มประสิทธิภาพดีกว่า ผลข้างเคียงก็เกิดขึ้นได้มากกว่า เป็นการชั่งระหว่างผลดีและผลเสีย แต่ยืนยันว่าผลดีมากกว่า ส่วนผลเสียและผลข้างเคียงเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่เด็กรับวัคซีนโควิดแล้ว แต่ผู้ปกครองจองกับซีนโมเดอร์นาไว้ และอาจจะได้เข้ามาในพ.ย.64 นพ.โอภาส กล่าวว่า การให้วัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ ดังนั้น ผู้ปกครองต้องดูข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน คำแนะนำตอนนี้เป็นการฉีดวัคซีนตามกำหนด ส่วนจะฉีดเข็ม 3 เพื่อกระตุ้น ก็ต้องรอข้อมูลวิชาการ ใช้หลักการแพทย์พิจารณาเป็นหลัก ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นเรื่องใหม่ บางข้อมูลที่มียังไม่ชัดเจน ต้องอาศัยหลักวิชาการประกอบกับข้อมูล ส่วนจะต้องเว้นไป 3 เดือนหรือไม่ จะต้องให้คณะผู้เชี่ยวชาญออกคำแนะนำอีกครั้ง แต่ตามหลักการแล้วการฉีดวัคซีน mRNA นั้น การฉีดเข็ม 3 จะเว้นไป 3-6 เดือน แต่โดยหลักการฉีดวัคซีนยิ่งฉีดห่างกันการกระตุ้นจะดีกว่า แต่โอกาสที่จะติดเชื้อก็มี ต้องชั่งใจระหว่าง 2 เรื่องนี้
- 6 views