กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ปกครองแสดงความจำนงให้บุตรหลานฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3.6 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 71 ของจำนวนเด็กนักเรียน 5 ล้านราย จัดส่งวัคซีนให้ทุกจังหวัดสัดส่วนพิจารณาจากความพร้อม เริ่มฉีดวันที่ 4 ตุลาคมนี้ มีระบบติดตามอาการและความปลอดภัยเหมือนผู้ใหญ่ ย้ำหากเปลี่ยนใจขอฉีดวัคซีนเพิ่มภายหลังได้ ไม่ปิดกั้นและไม่เสียสิทธิ
วันนี้ (1 ตุลาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียน ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 12,473 ราย ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 11,754 ราย เสียชีวิต 123 ราย ภาพรวมทั้งประเทศการติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง ส่วนจังหวัดชายแดนใต้ยังเพิ่มขึ้น รวมถึงเรือนจำที่วันนี้มีรายงาน 501 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของวันที่ 30 กันยายนที่มีการรายงานเข้ามา 2.28 ล้านโดสนั้น เป็นการนำข้อมูลจากการระดมฉีดวัคซีนตั้งแต่วันมหิดล 24 กันยายน ซึ่งมีการฉีดเชิงรุกและฉีดในชุมชนรวม 1,700,523 โดส รวมกับการฉีดของวันที่ 30 กันยายน จำนวน588,205 โดส รวมเป็น 2,288,728 โดส
นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในนักเรียน ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งตัวเลขนักเรียนทั่วประเทศในฐานข้อมูลจำนวน 5,048,000 ราย โดยผู้ปกครองแสดงความจำนงให้บุตรหลานฉีดวัคซีน 3,618,000 กว่าราย คิดเป็นร้อยละ 71 สำหรับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก 2 ล้านโดส จะกระจายให้ทุกจังหวัด โดยสัดส่วนวัคซีนจะพิจารณาความพร้อมของแต่ละจังหวัดด้วย และจะส่งให้ครบภายในเดือนตุลาคมซึ่งจะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาอีก 8 ล้านโดส จะเริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 4 ตุลาคมนี้ตามความพร้อม และไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดของการฉีดวัคซีน เนื่องจากอาจมีผู้แสดงความจำนงขอฉีดเพิ่มก็จะดำเนินการฉีดให้ ไม่เสียสิทธิแต่อย่างใด สถานที่ฉีดสามารถฉีดได้ทั้งที่สถานศึกษาและโรงพยาบาล โดยขอให้บริหารจัดการคิวไม่ให้มีความแออัด
สำหรับการติดตามเฝ้าระวังอาการและความปลอดภัยใช้ระบบเดียวกับผู้ใหญ่ โดยมีการเฝ้าระวังอาการแพ้รุนแรงช่วง 30 นาทีแรกหลังฉีด และมีการติดตามอาการต่อเนื่องอีก 30 วัน โดยกรณีข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั้น อัตราการเกิดต่ำมาก แต่ขอให้สังเกตอาการ คือ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยง่าย ใจสั่น หมดสติ เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบมารับการรักษา เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะอื่นได้ และข้อปฏิบัติภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีน ไม่แนะนำเรื่องออกกำลังกายหนักๆ เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น และความรู้สึกเหนื่อยจากออกกำลัง อาจทำให้กังวลและไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ยังฉีด 2 เข็ม ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ส่วนข้อเสนอการฉีดวัคซีนในเด็กผู้ชายเพียงเข็มเดียว จะมีการพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ หากมีการปรับเปลี่ยนจะดำเนินการให้ทันก่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ส่วนกลุ่มเด็กประถมอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์การรับวัคซีน ข้อแนะนำคือใช้มาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หากดำเนินการได้ดีก็ยังสามารถทำกิจกรรมการเรียนการสอนได้
- 7 views