คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) สรุปผลเจรจาผู้บริหาร สธ. หาทางช่วยลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข 2 ประเด็นใหญ่

 

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ผลการเจรจาหารือการแก้ ไขปัญหาของลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า

ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ทำหนังสือขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 27 กันยายน 2564 เพื่อ หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในประเด็นเร่งด่วนที่ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขเอง และ ผู้ใช้แรงงานทั่วไปได้รับ ผลกระทบจากนโยบายของกระทรวง แต่เนื่องจากรัฐมนตรีติดภารกิจจึงขอเลื่อนมาเป็น วันที่ 30 กันยายน 2564 และมอบหมายให้นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้มาพบประชุมหารือแทน

โดยวันที่ 30 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. และ ประธาน คสรท. น.ส.ณีรนุช จิตต์สม รักษาการรองเลขาธิการปฏิบัติการ สรส. และ รองประธาน คสรท. กลุ่มงานบริหาร นายโอสถ สุวรรณ์เศวต์ ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) พร้อมด้วยกรรมการสหภาพฯ และลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข กว่า 15 คน ได้เข้าประชุมหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะพร้อมด้วย นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ที่อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

โดยประเด็นการประชุมหารือได้ข้อสรุป ดังนี้

1.การการทบทวน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคโควิด19 ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 โดยประกาศฉบับดังกล่าวมีข้อความแนบท้ายประกาศ “หมายเหตุ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัยให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน”

ประเด็นนี้ ทำให้สถานพยาบาลเอกชนคู่สัญญาประกันสังคม ใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกเคลมประกัน สุขภาพกลุ่มจากผู้ป่วยโควิดในเชิงบังคับ โดยผู้ป่วยต้องยื่นบัตรประกันกลุ่มร่วมด้วยในการเข้ารับการรักษาซึ่งจะเป็น การเอื้อประโยชน์ เป็นช่องทางให้ โรงพยาบาลเอกชนแสวงหารายได้จากการ เคลมค่าใช้จ่ายในการ รักษาโควิดจาก บริษัทประกัน ทั้งที่ส่วนต่างที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายก็สามารถไปเบิกคืนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ทำให้บริษัทประกัน ขอปรับเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นในปีต่อไป ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระ ค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้แรงงาน จึงอยากให้เป็นภาคสมัครใจ ของผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพกลุ่ม ในการแสดงเจตนา ว่าจะใช้สิทธิยื่นเคลมค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิดหรือไม่ และไม่ควรผลักภาระผู้ป่วยในเชิงบีบบังคับ

ผลการเจรจา :

รัฐมนตรีฯ รับว่า จะนำไป หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม หาก แนวโน้ม เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต จะได้หาวิธีการแก้ไข เพราะโดยปกติผู้ป่วยสามารถเลือกใช้สิทธิได้ ส่วนโรงพยาบาลใด ปฏิเสธ หากพบขอให้แจ้งมาที่กระทรวงสาธารณสุขโดยตรง เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป

2. การเปลี่ยนแปลงการต่อสัญญาจ้างลูกจ้างสาธารณสุขจากเดิม 4 ปี เป็น 1 ปี

สืบเนื่องจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำสั่งที่ สธ. 0208.04/ว.642 ลงวันที่ 8 กันยายน 2564 เรื่องการต่อสัญญาและการเพิ่มค่าจ้างประจำปี พนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยปรับลดระยะเวลาในสัญญาจากเดิมที่กำหนดไว้ 4 ปี เหลือเพียง 1 ปี ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อคนทำงาน ซึ่งสัญญาจ้างนั้นหากมองในมิติด้านแรงงานแล้วถือเป็นสภาพการจ้าง การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณไม่สามารถทำได้แม้ว่าลูกจ้างภาครัฐจะไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองแต่หากพิจารณาจากหลักนิติธรรมแล้ว ถือว่าขัดต่อหลักการอันสำคัญในการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ควรเป็นแบบอย่างในการจ้างงานให้แก่ภาคเอกชนและอื่น ๆ เป็นการทำลายความมั่นคงในการทำงาน ทำให้สูญเสียสถานะทางสังคม และนอกจากนั้นแล้วยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของพนักงานและลูกจ้างอย่างมาก และยิ่งในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด คนเหล่านี้ล้วนต้องเสี่ยง ทำงานหนักแทบไม่มีเวลาพัก แล้วต้องพบกับคำสั่งฉบับดังกล่าวแล้วทำให้แต่ละคนแทบสิ้นหวัง บางคนถูกบังคับให้ลงนามในสัญญาจ้างใหม่ด้วยภาวะจำใจ กลัวจะไม่ได้ทำงาน ซึ่งแต่ละคนทำงานมานานเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่าปี

ผลการเจรจา :

ซึ่งในประเด็นนี้ต้องขอขอบคุณ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ และ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทางนโยบายแล้วไม่ควรที่จะปรับลดบุคลากร เพราะภารกิจของกระทรวงนั้น ต้องดูแลคนทั้งประเทศซึ่งจำนวนคนที่มีอยู่ก็ไม่พอ อยู่แล้ว และฝ่ายบริหารกำลังเตรียมการที่จะเสนอรัฐบาลและกระทรวงการคลังเพื่อขอเพิ่มอัตรากำลังให้เพียงพอ จึงเตรียมทำกรอบนำเสนอ เพียงแต่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการตีความตามนัยของระเบียบ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เอา 2 เรื่องมาผูกกัน จึงเกิดปัญหาและผลกระทบที่ตามมา

โดยที่ประชุมสรุปว่า สำหรับพนักงาน ลูกจ้างเดิมที่เคยทำงานอยู่แล้วให้คงระยะเวลาในสัญญาไว้

เหมือนเดิม คือ 4 ปี แต่สำหรับบุคคลที่จะรับเข้ามาใหม่ ให้ทำสัญญาจ้างไปก่อน 1 ปี แต่หากรัฐบาลและกระทรวงการคลังเห็นชอบตามกรอบที่จะเสนอเพิ่มอัตรากำลังแล้วค่อยปรับไปเป็น 4 ปี เท่ากัน ซึ่งรัฐมนตรีและ รองปลัดรับที่จะไปออกหนังสือสั่งการเป็นการเร่งด่วนต่อไป ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อให้ทันการต่อสัญญาในวันที่ 1 ตุลาคม 2564

ส่วนประเด็นปัญหาอื่น ๆ ของลูกจ้างที่เสนอเพิ่มเติม ให้ลูกจ้างไปจัดเตรียมข้อมูลของปัญหาเพื่อนำเสนอเป็นเอกสารในครั้งต่อไป