ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โควิด-19 คือวิกฤติที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม แต่ในความพยายามหาทางออกจากวิกฤติครั้วนี้ก็ทำให้ค้นพบโอกาสต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ซึ่งนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 9​ สถาบันพระปกเกล้า​ ได้เสนอยุทธศาสตร์การจัดการสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเด็น

รศ.นพ.ดิลก​ ภิยโยทัย​ ตัวแทนนักศึกษาหลักสูตร​ ปธพ.รุ่นที่​ 9​ กล่าวถึงการเสริมสร้างความมั่นคงสาธารณสุขของประเทศไทย​ ซึ่งจากผลการศึกษาของ​ ปธพ.​มีข้อเสนอ 2​ ประเด็น คือ​ 1.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เกิดความมั่นคง​ และ​ 2.การสร้างความยั่งยืนในการพึ่งพาตนเอง​

​การปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขนั้น​ รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย เสนอว่า ควรเน้นการกระจายอำนาจ​ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน​ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ​ โดยประเทศไทยมีการแบ่งเขตสุขภาพ​ 12​ เขต มีสาธารณสุขจังหวัด​ 76 จังหวัด แห่ง​สาธารณสุขอำเภอ​ 900 อำเภอ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.) ​1,040,000 คน​ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธาณสุข​ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 34 แห่ง​ โรงพยาบาลทั่วไป​ 92 แห่ง​ โรงพยาบาลชุมชน 775 แห่ง​ และโรงพยาบาลเอกชนกว่า 440 แห่ง ซึ่งควรพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน

"ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดต่างๆ ยังมีช่องว่างอยู่มากที่​ควรพัฒนาปรับปรุง​ ข้อเสนอคือสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่คนละสังกัด​ ในขณะที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือ​ อสม.มีการช่วยเหลือแต่ละครัวเรือนใกล้ชิดแบ่งเบาภาระหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดี​ ข้อเสนอแนะในการปรับระบบสาธารณสุขพื้นฐาน​ กทม.​ควรมี​ อส.เขต​ อส.กทม.ให้ครอบคลุมทุกเขต" รศ.นพ.ดิลก​ กล่าว

นอกจากนี้​ ปธพ.​รุ่นที่9​ ยังมีข้อเสนอประเด็นระบบสาธารณสุขระหว่างประเทศ​ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีองค์ความรู้ดีกว่า​ ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงควรจะมีทูตสาธารณสุขประจำประเทศต่างๆ​ เหมือนทูตประจำแต่ละประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล​

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอยุทธศาสตร์ของปธพ.รุ่นที่ 9 ได้เน้นถึงการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวด้วยการพึ่งพาตนเอง​ โดยรศ.นพ.ดิลกเสนอว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมาตรการในการรักษาโรคตามมาตรฐานโลก​ แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการผลิตวัคซีน​ การนำเข้าวัคซีนจึงต้องเร็วขึ้น​ รัฐบาลควรทำข้อตกลง หรือ ​MOU ร่วมกับประเทศที่ผลิตวัคซีน​ เน้นการบูรณาการมีหน่วยงานสอดส่องการระบาดของตัวไวรัสตัวใหม่หรือสายพันธุ์ใหม่​ พัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไปศึกษาศาสตร์ด้านวัคซีน​ และมีความร่วมมือกันในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในการซื้อวัคซีน

ข้อเสนอที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งตือการพัฒนาด้านยา​ นำบทเรียนจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร​ ให้ความรู้เรื่องสมุนไพรกับประชาชน​ ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนสมุนไพรตั้งแต่วัยเด็กจนถึงระดับอุดมศึกษา​ สนับสนุนให้เป็นหลักสูตรพื้นฐานในการศึกษา​ ส่งเสริมวิจัยพัฒนายา ทุนวิจัยให้ความสำคัญเป็นโปรเจคระดับชาติควรนำวิกฤตโควิดสร้างโอกาสในการพัฒนา​ สร้างความมั่นคงยั่งยืนในการผลิตยาของประเทศให้เป็นรูปธรรมทั้งสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ดร.ปิยพรรณ​ หันนาคินทร์​ นักศึกษาปพธ.รุ่นที่ 9​ ยังกล่าวถึงแพลตฟอร์มในการให้ข้อมูลของจิตอาสาที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือติดต่อกับผู้ป่วยโควิด​ ชื่อ​ jitarsa.care ที่ได้พัฒนาขึ้้นมาเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือกรณีได้รับเชื้อหรือเข้าสู่กระบวนการ​ Home.Isolation​ รวมทั้งระบบค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิ้ล​ Map

"เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ติดเชื้อหรือขอความช่วยเหลือเพื่อติดต่อกับจิตอาสา​ของเราซึ่งมี​จำนวน 10,300 คน​ช่วยเหลือมาแล้วกว่า1​ หมื่นครอบครัว​ โดยมีทั้งส่วนที่ให้ข้อมูล​ เช่น​ วัด​ จะใช้สัญลักษณ์เป็นธรรมจักรสีเหลือง​ ในกรณีที่ต้องการจองวัดเผาศพก็สามารถตรวจสอบได้ว่าวัดไหนว่าง​ หากเมรุเผาศพเต็มสัญลักษณ์จะเปลี่ยนเป็นสีเทา​ นอกจากนี้ยังมีส่วนอาสาติดต่อ​ที่ประชาชนเข้ามาขอความช่วยเหลือกับทีมงานจิตอาสา ซึ่งการลงรายละเอียดต่างๆเราได้คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล​ โดยยืนยันได้ว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกนำไปเปิดเผย" ดร.ปิยพรรณ​ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง