ครม. เห็นชอบทบทวนมติ กำหนดให้นักศึกษาแพทย์ สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมก่อนทำสัญญาชดใช้ทุน จากเดิมไม่มีข้อกำหนด ทำให้ต้องใช้ทุนในตำแหน่ง "นักวิชาการสาธารณสุข(นวก.สธ.)" ขาดโอกาสปฏิบัติหน้าที่แพทย์ ขณะที่ สธ. ไม่มีตำแหน่ง นวก.สธ.พอบรรจุกลุ่มดังกล่าว และยังสูญเสียโอกาสบรรจุอัตรากำลังจากสาขาอาชีพอื่น
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2513 เรื่อง การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ โดยกำหนดคุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าปฏิบัติงานใช้ทุน ดังนี้
นักศึกษาทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงจัดสรรให้ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน และต้องทำงานให้แก่ทางราชการเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งต่างจากเดิมที่ไม่ได้กำหนดเรื่องที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมไว้
สำหรับข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับแพทยสภาในปี 2546 จากเดิมที่กำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ทุกรายเป็นผู้มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นกำหนดใหม่ว่า จะต้องผ่านการสอบวัดความรู้ตามที่แพทยสภากำหนดก่อนจึงจะได้รับใบอนุญาตฯดังกล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาที่ผลิตแพทย์มีจำนวนทั้งสิ้น 20 แห่ง ในปีงบประมาณ 2562-2564 มีผู้สำเร็จการศึกษาเฉลี่ยปีละ 2,625 คน โดยปฏิบัติงานชดใช้ทุนในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นเฉลี่ยปีละ 585 คน คิดเป็นร้อยละ 22.29 ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขเฉลี่ยปีละ 2,026 คน คิดเป็นร้อยละ 77.18 และมีผู้ชดใช้ค่าปรับแทนการปฏิบัติงานชดใช้ทุนเฉลี่ยปีละ 14 คน คิดเป็นร้อยละ 0.53
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมและวิเคราะห์จำนวนนักศึกษาแพทย์ที่สำเร็จการศึกษา แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยพบว่า มีผู้สอบไม่ผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 171 คน คิดเป็นร้อยละ 6.5 ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 231 คน คิดเป็นร้อยละ 8.76 และปีงบประมาณ 2564 จำนวน 299 คนคิดเป็นร้อยละ 11.45
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โดยส่วนราชการหรือหน่วยงาน จะส่งตัวนักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมคืนมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้แพทย์ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องมาปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่แพทย์ได้ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่มีตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขเพียงพอในการบรรจุนักศึกษาแพทย์ดังกล่าว รวมทั้งยังสูญเสียโอกาสในการบรรจุอัตรากำลังในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขจากสาขาอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1656 views