ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้า "โมโนโคลนอลแอนติบอดี"  ช่วยลดความรุนแรงผู้ป่วยโควิด19  ด้าน อย. รับรองแล้วใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ยากับผู้ป่วยระยะแรก ขณะที่รายงานข่าวเผยเบื้องต้นนำเข้า 4 พันโดส ใช้ทั้งรัฐและเอกชน  


เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์  ”การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันและอนาคต และความคืบหน้าการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 ด้วยยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ในวงการแพทย์ตอนนี้วัคซีนก็พัฒนาไม่ได้หยุด ยาก็เช่นเดียวกันมีการวิจัยยาเฉพาะหลายตัว เช่น ยาโมโนโคลนอล ( Monoclonal Antibody)  หรือแอนติบอดีคอกเทลเป็นยาสังเคราะห์เข้าไปจับเซลล์ไวรัสไม่ให้เข้าในร่างกาย หากใช้ในระยะต้นที่เริ่มมีอาการจะทำให้หายเร็วขึ้น อาการไม่รุนแรง และจากข้อมูลจะลดการเสียชีวิตได้  แม้มีการติดเชื้ออยู่ก็จะไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขมากเกินไปนัก 

"ล่าสุดราชวิทยาลัยฯ มีการจัดหายาแอนติบอดีคอกเทล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว เพื่อให้ยากับผู้ป่วยระยะแรก ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง มีความเสี่ยงมีอาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งมีข้อมูลว่าเมื่อได้รับยาแล้วจะลดการเข้ารพ. และลดการเข้า ไอซียู" ศ.นพ.นิธิ กล่าว


ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ป่วยโควิดพบว่ามี 5 % ที่มีอาการหนักต้องเข้าไอซียู จึงต้องหาวิธีลดคนไข้รายใหม่ลงให้มากเพื่อลดจำนวนคนเข้าไอซียู ตอนนี้เราจะเห็นคนไข้น้อยลงไปสักระยะ แต่หลังเปิดกิจการกันแล้วจะเริ่มเห็นจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก คาดประมาณการณ์กลางเดือน ต.ค. แต่หวังว่ากราฟจะไม่ชันเหมือนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการสาธารณสุขในการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเรารณรงค์มาตลอด บางคนวิจารณ์ว่าทำไมไปโทษรัฐบาล แต่ส่วนตัวเห็นว่าเชื้อโรคนี้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐ แต่เชื้อโรคนี้แพร่จากคนสู่คน การจะป้องกันได้ ไม่ว่านโยบายเป็นอย่างไรก็ตาม หากประชาชนไม่ร่วมมือตรงนี้เชื้อก็ยังแพร่อยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องร่วมมือกันทั้งประชาชนและรัฐบาล แต่ถึงป้องกันดีอย่างไรก็ตาม ยังมีรูรั่ว เพราะคนเกิดคว่ามล้า อาจทำผิดขั้นตอน หรือจะมีการติดเชื้อไม่รู้ตัว

ประการต่อมาคือ มีความพยายามเพิ่มการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด แต่อย่างที่รู้กันว่าวัคซีนไม่ได้กันติดเชื้อ  ฉีดแล้วยังติดได้ แต่โอกาสมีอาการหนักก็น้อยกว่าคนไม่ได้ฉีดมาก อย่างไรก็ มาตรากรสาธารณสุข มาตรการวัคซีน อาจจะตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน ซึ่งอันต่อมาคือยารักษา ขณะนี้ยาต้านไวรัสทุกตัว รวมถึงฟ้าทะลายโจรก็ยังมีคำถาม  ดังนั้น ขณะนี้จึงมีความพยายามหายาต้านไวรัสหลายตัว บางตัวทำท่าว่าจะได้ผล เช่น โมโนโครนอลฯ น่าสนใจ เพราะบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ 

ผศ.นพ.กำธร กล่าวอีกว่า ตนมองว่าจะเป็นหนึ่งตัวที่มาช่วยคนไข้ความเสี่ยงสูงได้ดีพอสมควร โดยใช้ในกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าไอซียู คือผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ทรัพยากรมากสุด และมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด หากใช้อย่างเหมาะสมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจริง เชื่อว่าน่าจะสามารถช่วยไม่โหลดระบบ อย่างไรก็ตามทั่วโลกมีความต้องการใช้ และราคาแพงมากจึงถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยานี้ ต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้ป่วยที่จะได้รับยานี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  

แหล่งข่าวกล่าวว่า  เบื้องต้นมีการนำเข้ามา 4,000 โดส กระจายให้กับรพ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน 50 แห่ง ที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา ย้ำว่ายานี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้กับทุกคน ในส่วนของรพ.เอกชน อาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วนรพ.รัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของรพ. หรือเงินบริจาคต่างๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว  เบื้องต้นโดสละ 5 หมื่นบาท โดยการใช้ 1 คนต่อ 1 โดส

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org