เสวนาออนไลน์ "อนาคตผู้หญิงทำงานกับโควิด" ซึ่งจัดโดย Friedrich-Ebert-Stiftung (FES) Thailand เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พูดถึงปัญหาที่ผู้หญิงทำงานต้องแบกรับเพิ่มขึ้นระหว่างที่โควิดระบาด
นายวุฒิชัย สมกิจ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลมหาสารคาม กลุ่ม Nurse Connect กล่าวว่า พยาบาลในประเทศไทยมี 4 ประเภท 1. คือ พยาบาลที่อยู่ตามโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 2. พยาบาลวิทยาลัยและโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 3.พยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน และ 4.พยาบาลฟรีแลนซ์ โดยพยาบาลที่ได้รับผลกระทบกับโควิดมากที่สุดคือพยาบาลฟรีแลนซ์
นายวุฒิชัย ให้ความเห็นว่า ในสถานการณ์ปีนี้ที่มีการระบาดโควิดทำให้พยาบาลต้องดูแลทั้งผู้ป่วยโควิดและผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งภาระงานพยาบาลหนักมากในขณะที่อัตราค่าตอบแทนเท่าเดิม และบางครอบครัวอาชีพพยาบาลกลายเป็นแหล่งรายได้หลักเนื่องจากคนในครอบครัวหรือคู่สมรสได้รับผลกระทบจากโควิดต้องตกงานหรือปิดกิจการ ระหว่างการปฏิบัติงานพยาบาลยังมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อสูง ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีพยาบาลที่ตั้งครรภ์ที่ต้องปฏิบัติงานมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดด้วยเช่นกัน
"การที่พยาบาลต้องอยู่เวรโดยแทบไม่มีวันหยุดเนื่องจากมีผู้ป่วยโควิดเป็นจำนวนมาก ภาระหน้าที่เพิ่มมากขึ้นแต่รายได้เท่าเดิม นอกจากนี้เมื่อเลิกงานกลับไปบ้านก็ยังต้องดูแลลูก สอนหนังสือลูกที่เรียนผ่านออนไลน์อีก ซึ่งภาระจะยิ่งหนักเพิ่มมากขึ้นทันทีถ้ามีสถานะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว" นายวุฒิชัยกล่าวถึงปัญหาที่พบในอาชีพพยาบาล
ปัญหาโรงเรียนปิดและลูกต้องเรียนผ่านออนไลน์ ในส่วนของผู้ใช้แรงงานก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วยใหญ่จะอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง จากที่เคยฝากลูกไว้กับศูนย์เด็กเล็กหรือเสียเงินค่าอาหารกลางวันให้ลูกไปโรงเรียนเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มจากอินเตอร์เน็ต รวมทั้งต้องพาลูกไปยังไซท์ก่อสร้างด้วยเพราะไม่มีคนดูแล
นางธนพร วิจันทร์ กลุ่มผูัหญิงในกิจการก่อสร้าง กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานประสบกับการที่ต้องนำบุตรมายังไซต์ก่อสร้างด้วย เนื่องจากศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนต้องปิดชั่วคราว อีกทั้งการที่ให้เด็กเรียนออนไลน์เป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น จากที่เคยเสียค่าอาหารกลางวันให้กับลูกเพียงอย่างเดียว แต่การอยู่บ้านของเด็กสร้างภาระอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าอาหาร เป็นต้น
"ถ้าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในโรงงานจะลำบากมาก ส่วนในแคมป์ก่อสร้าง ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติ เด็กต้องไปทำงานกับแม่ในไซต์ก่อสร้างซึ่งไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ มี 2 เหตุการณ์ที่ได้เจอมาระหว่างลงพื้นที่คือ แรงงานที่ตั้งครรภ์แล้วติดโควิด เคสแรกคือลูกรอดแต่แม่เสียชีวิต ซึ่งไม่รู้ว่าต่อไปลูกจะอยู่อย่างไร และ อีกรายคือเสียชีวิตทั้งแม่และลูก เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆต้องมีอะไรที่ทำให้กับคนท้องมากกว่านี้" นางธนพร ให้ความเห็น
อีกอาชีพหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ถูกกล่าวถึงมากนักคือ "แม่บ้าน" นางครรธรส ปิ่นทอง แรงงานนอกระบบ เปิดเผยว่าลูกจ้างที่ทำงานบ้านประมาณ 99 % เป็นผู้หญิง มีเพียง 1 % เท่านั้นที่เป็นผู้ชายซึ่งทำหน้าที่คนขับรถ โดยลูกจ้างที่ทำงานบ้านจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ ลูกจ้างที่พักอาศัยกับนายจ้าง และ ลูกจ้างที่เดินทางไปกลับ
"กรณีที่ลูกจ้างพักอาศัยอยู่กับนายจ้าง นายจ้างจะเข้มงวดกับการทำความสะอาดมากขึ้น จากที่เคยทำความสะอาดห้องน้ำวันละครั้ง ก็เพิ่มเป็นวันละ 3 ครั้ง ไม่มีวันหยุด อีกทั้งนายจ้างขอไม่ให้ลูกจ้างกลับบ้านเพราะกลัวจะกลับไปแล้วติดโควิดกลับมา ในขณะที่ลูกจ้างแบบไปกลับ กว่า 50 % โดนเลิกจ้างเพราะกลัวว่าแม่บ้านจะติดเชื้อโควิดแล้วเข้ามาแพร่ระบาดในบ้าน นายจ้างบางราย Work From Home ก็เลิกจ้าง เพราะมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นก็ทำความสะอาดเอง ในขณะที่ลูกจ้างกลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการต้องซื้อเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย" นางครรธรส กล่าว
โดยทั้งพยาบาล ผู้ใช้แรงงาน แม่บ้าน และในอีกหลายๆอาชีพ เมื่อโควิดส่งผลจนกระทบกับความสัมพันธ์ของคู่สมรส ผู้หญิงยังเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงภายในครอบครัวอีกด้วย
ทั้งนี้ วงเสวนาในประเด็น "ผลกระทบโควิดต่อผู้หญิงทำงาน" สรุปปัญหาที่ผู้หญิงทำงานต้องเผชิญในช่วงโควิด-19 ดังนี้
1.ปัญหาสุขภาพ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไม่สามารถ WFH ยังไม่ได้รับวัคซีน เกิดความเครียดจากสภาพปัญหาต่างๆ
2.ปัญหาเศรษฐกิจ ถูกเลิกจ้าง ลดชั่วโมงทำงาน ขาดรายได้ ต้องขายทรัพย์สิน หนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการที่เด็กอยู่บ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเจลแอลกอฮอล์
3.ปัญหาครอบครัว ภาระการเลี้ยงดูลูกที่ต้องเรียนออนไลน์ ศูนย์เลี้ยงเด็กปิด เด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ปัญหาความสัมพันธ์กับคู่สมรส ความรุนแรงในครอบครัว ลูกสูญเสียพ่อหรือแม่จากการติดเชื้อแล้วเสียชีวิต
4.ปัญหาด้านการทำงาน ภาระงานเพิ่มขึ้น
5.ปัญหาสวัสดิการรัฐ เข้าไม่ถึงสวัสดิการและการเยียวยาของประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ
6.ปัญหาเชิงโครงสร้าง กลุ่มเปราะบางถูกซ้ำเติมให้มีความรุนแรงขึ้น
โดยนอกจากปัญหาต่างๆแล้ว วงเสวนา "ผลกระทบโควิดต่อผู้หญิงทำงาน" ยังมีข้อเสนอในระยะสั้น, ระยะกลางและระยะยาว ในหัวข้อ "แผนฟื้นฟูอาชีพจากโควิดกับผู้หญิง" ซึ่งมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆเข้าร่วมรับทราบปัญหาและแสดงความคิดเห็น
นายมนตรี มณีรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานที่ปรึกษากฎหมายฯ กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน อธิบายถึงกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างปิดกิจการหรือไม่จ่ายเงินตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน
"เนื่องจาก พรบ.คุ้มครองแรงงาน ไม่ได้เลือกปฏิบัติไม่ว่าแรงงานหญิงหรือชาย แต่ถ้าแรงงานหญิงมีครรภ์หรือแรงงานเด็ก เราจะคุ้มครองมากกว่า ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างเมื่อเข้าสู่สภาวะโควิดถ้ามีการเลิกจ้าง เลย์ออฟจำนวนมาก กรมสวัสดิฯ มีแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่เข้าไปบังคับใช้กฎหมายอย่างไร ถ้านายจ้างบางรายปิดกิจการไม่มีเงินจ่าย เราก็จะมีกองทุนอยู่เรียกว่ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน เราจะมีอัตราจ่ายให้กับลูกจ้างตั้งแต่ 30 วันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปจนถึง 70 วัน" นายมนตรี กล่าว
ขณะที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่สรุปมาโดยเห็นด้วยที่จะมีผู้รับผิดชอบเข้าไปดูแลและต้องการให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งแนวทางในระยะต่างๆ นั้น ควรกำหนดเจ้าภาพแล้วเร่งรัดดำเนินการ หรือยื่นเรื่องให้กับ ศบค. พิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือผู้หญิงทำงานอย่างเร่งด่วน
น.ส.ชมพูนุช นาคทรรพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลายๆ คนที่ทำงานในธุรกิจกลางคืนอยู่นอกระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง
"ได้คุยกับ ศบค. เรื่องการเยียวยาภาคธุรกิจกลางคืน เด็กและกลุ่มเปราะบาง ว่าควรจะมีการเข้าไปดูแลมากยิ่งขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าไปสนับสนุนในเชิงนโยบายให้มีการเยียวยากลุ่มที่อยู่นอกระบบเศรษฐกิจที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง"
ด้าน น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ส.ส.พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือการฉีดวัคซีนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีระบบสวัสดิการรองรับแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมถึงการเพิ่มทักษะทางอาชีพให้กับแรงงานหญิงเพื่อจะสามารถกลับไปหางานทำได้ในอนาคต
"ปัญหาครอบครัว เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ซึ่งบางบ้านมีลูกหลายคนยิ่งเป็นภาระหนัก อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูตรงนี้คือมีการเร่งฉีดวัคซีน สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีวัคซีนที่ปลอดภัยด้วย เพื่อให้เริ่มเปิดเรียนได้ ส่วนปัญหาเรื่องงาน เข้าใจว่าหลังโควิดแล้วจะมีหลายคนที่ไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้ เพราะหลายๆงานก็คงไม่อยู่แล้ว ต้องหาวิธีอัพสกิลเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้กับคนที่ตกงานโดยเฉพาะเพศหญิงที่ตกงานได้รับผลกระทบมากกว่าเพศชาย ให้สามารถกลับไปหางานหลังจากผ่านยุค Disruption ตรงนี้ไปได้"
"เรื่องแรงงานนอกระบบที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการ อยากจะร้องขอให้รัฐบาลใช้หลักการไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบหรือต่างด้าวก็ตาม ถ้าติดโควิดก็โดนกันหมด จะกลายเป็นปัญหาที่กระจายไปหาทุกคนแล้วกระทบกับอื่นๆเป็นวงกว้าง อยากให้มีระบบรองรับ สวัสดิการรองรับแรงงานกลุ่มนี้ด้วย" น.ส.ธิดารัตน์ ให้ความเห็น
ในขณะที่ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การทำงานของพยาบาลและ อสม. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ขณะนี้การปฏิบัติหน้าที่เป็นด่านหน้าได้เข้าสู่ปีที่ 2 โดยสรุปแล้วปัญหาที่สำคัญคือเรื่องวัคซีน อยากให้เร่งฉีดวัคซีน ถ้าเป็นด่านหน้าอยากให้ระบุว่ามีปัญหาตรงไหนอย่างไร จะได้แก้ให้ถูกจุด
"ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัญหาการหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ มีข้อมูลเพิ่มเข้ามาในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยๆ คงต้องไปดูว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรในระดับจังหวัด"
นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหารัฐสวัสดิการยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ระบบประกันสังคมยังไม่ถ้วนหน้า ถ้ามีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าการเยียวยาก็ไม่ต้องเกิดขึ้นทุกคนก็จะมีพื้นฐานในการดำรงชีวิตด้วยระบบรัฐสวัสดิการ
- 253 views