สืบเนื่องจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นข้อเท็จจริงในการใช้ฟ้าทะลายโจรว่า มีประสิทธิผลในการช่วยผู้ป่วยโควิดได้จริงหรือไม่ เพราะพบว่า มีการถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรออก เนื่องจากมีการคำนวณสถิติผิดพลาด แม้ว่าทางกระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) ได้ออกมาแถลงข่าวผ่านช่องทาง Facebook Live เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 แล้วก็ตาม
ซึ่งได้ข้อสรุปว่าประเด็นดังกล่าวที่ได้มีการเผยแพร่ออกมานั้นเป็นข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนและบิดเบือนเนื้อหา เพราะมีเพียงงานวิจัย 1 ฉบับที่ทำการศึกษาวิจัยระยะที่ 2 ในผู้ป่วยกลุ่มละไม่เกิน 30 ราย มีการเขียนรายงานผลที่คลาดเคลื่อน ผู้วิจัยจึงขอถอนงานวิจัยเพื่อปรับปรุงแก้ไข ก่อนการนำไปตีพิมพ์อีกครั้ง อย่างไรก็ดีงานวิจัยนี้พบว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่พบว่ามีความแตกต่างกันทางคลินิกของผู้ป่วยที่ได้รับยาทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งต้องรอข้อมูลผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
การศึกษาวิจัยที่รายงานการศึกษาฤทธิ์ของสาร andrographolide ต่อ coronavirus โดยผลที่เกี่ยวข้องกับเชื้อ SARS-CoV-2 มีดังต่อไปนี้ รายงานการศึกษาโมเลคิวลาร์ ดอกกิง (Molecular Docking) ของสารสำคัญของสมุนไพรจีนจำนวน 93 ชนิดที่ใช้ในตำรับยาจีนสำหรับโรคของระบบทางเดินหายใจ พบว่า andrographolide สามารถจับกับตัวรับเป้าหมายสองชนิด คือ
1. Angiotensin converting enzyme 2 (ACE2) receptor บนเซลล์เจ้าบ้าน (host cell) จึงอาจช่วยลดปริมาณไวรัสเข้าสู่เซลล์ และ 2) viral main protease (M protease) ซึ่งมีบทบาทในขั้นตอนการสังเคราะห์โปรตีนและการจำลองลักษณะทางพันธุกรรมเพื่อเพิ่มจำนวนไวรัส (viral replication) และจากการที่ฟ้าทะลายโจรเป็นตัวยาสำคัญในตำรับยาจีนที่ใช้ในโรคทางเดินหายใจมานาน สามารถสกัดสารนี้จากฟ้าทะลายโจรได้ในปริมาณมาก ผู้วิจัยจึงสรุปว่า andrographolide เป็นสารสำคัญหนึ่ง ใน 13 ชนิดที่มีศักยภาพในการนำมาวิจัยและพัฒนาเป็นยารักษาโรค โควิด-19 ต่อไป
2. การศึกษาผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจรและ andrographolide ต่อ cytopathic effect ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในหลอดทดลอง จากรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแคปซูลสารสกัดฟ้าทะลายโจรของบริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และสารสำคัญ andrographolide ต่อเชื้อ SARS- CoV- 2 ด้วยวิธี Plaque reduction assay ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ผลการทดสอบแต่ละวิธี ดังนี้
- การทดสอบการยับยั้งการติดเชื้อของเซลล์ (cel protection test) โดย incubate สารทดสอบกับ Vero cells ก่อน infect ด้วยไวรัส พบว่า ทั้ง andrographolide และสารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจรไม่มีฤทธิ์ในการยั้บยั้งการติดเชื้อ SARS-CoV-2
- การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส (viral inactivation test) โดย incubate ไวรัสในสารทดสอบก่อน infect Vero cells พบว่าสารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส SARS-CoV-2มากกว่า andrographolideโดยค่า IC50 ของสารสกัดฟ้าทะลายโจรและ andrographolide มีค่า <1 และ 15.6 µg/ml ตามลำดับ
- การทดสอบฤทธิ์ต้านการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส (antiviral test) โดย incubate Vero cells ที่ติดเชื้อไวรัสแล้วกับสารทดสอบก่อน พบว่า ทั้งสารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจรและ andrographolide มีฤทธิ์ยั้บยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์ (viral replication) โดยค่า IC50 ของสารสกัดฟ้าทะลายโจรและ andrographolide เท่ากับ 3.02 และ 0.64 µg/ml ตามลำดับ
3. การศึกษานำร่องผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระดับความรุนแรงน้อย ผลการศึกษานำร่องการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่เทียบเท่ากับการใช้ andrographolide ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 5 วัน ร่วมกับการรักษามาตรฐานซึ่งไม่มีการใช้ยาอื่น ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระดับความรุนแรงน้อย 6 ราย พบว่าคะแนนอาการแสดงทางคลินิกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งวันที่ 3 และ 5 ของการรักษา ความรุนแรงอาการไอ ความถี่การไอ ความรุนแรงอาการเจ็บคอ ปริมาณเสมหะ และความรุนแรงความปวดศีรษะ ส่วนผลการส่งตรวจ RT-PCR พบว่ามีผู้ป่วยสองรายผลเป็นลบในวันที่ 5 และผู้ป่วยสามรายมีจำนวนไวรัสลดลง โดยไม่พบความผิดปกติของค่าเคมีในเลือดหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ในผู้ป่วยทั้ง 6 ราย
4. การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระดับความรุนแรงน้อย: การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ผลการศึกษาการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่เทียบเท่ากับการใช้ andrographolide ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 5 วัน ร่วมกับการรักษามาตรฐานเปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระดับความรุนแรงน้อย จำนวน 57 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร จำนวน 29 ราย และกลุ่มควบคุม จำนวน 28 ราย พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ในขณะที่มีรายงานพบอาการดังกล่าวผู้ป่วยในกลุ่มควบคุม จำนวน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.7 โดยมีค่านัยสำคัญทางสถิติ ที่ p-value = 0.112 เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อยจึงทำให้ความแตกต่างทางสถิติไม่ชัดเจน และเมื่อตรวจการคงอยู่ของไวรัสในวันที่ 5 กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรพบการคงอยู่ของเชื้อไวรัส ในผู้ป่วยจำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.5 และตรวจพบในกลุ่มควบคุม จำนวน 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.1 ทั้งนี้งานวิจัยยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงของการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรต่อตับ ไต และระบบเลือด
5. การรายงานผลการใช้ฟ้าทะลายโจรในเรือนจำ โดย นพ.เอนก มุ่งป้องกลาง ในงานเสวนาวิชาการ ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทยในวิกฤต โควิด-19 วันที่ 17 มิถุนายน 25642 โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม ในการให้ฟ้าทะลายโจรชนิดบดผง, สารสกัดกระชายขาว, ฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว และฟาวิพิราเวียร์ กลุ่มละ 30 ราย พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรชนิดบดผง, สารสกัดกระชายขาว, ฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว มีระยะเวลาพบเชื้อในร่างกายสั้นกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ โดย 3 กลุ่มแรกไม่พบเชื้อหลังการรักษาครบ 8 วัน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ พบเชื้อในร่างกายนาน 12 วัน นอกจากนี้ ไม่พบอาการปอดบวมในผู้ป่วยที่ได้รับยาทุกกลุ่ม รวมทั้งไม่มีความผิดปกติของระบบเลือดแต่อย่างใด
6. แถลงข่าว กระทรวงสาธารณสุข ประเด็น “งานวิจัยฟ้าทะลายโจร” ในวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำเสนอข้อเท็จจริงการถอนงานวิจัยประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย: การวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ออจากการตีพิมพ์ โดยมีสรุปว่า ระหว่างการรอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทีมวิจัยได้ตรวจสอบรายละเอียดพบข้อผิดพลาดการคำนวณและรายงานผลทางสถิติ จึงการขอถอนงานวิจัย เพื่อนำเอกสารกลับมาแก้ไขให้มีความถูกต้อง และจะส่งกลับเข้าไปใหม่ เพื่อตีพิมพ์ในวารสารต่อไป มิได้ถูกปฏิเสธจากวารสารแต่ประการใด
เพราะฉะนั้น สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรในกรณีมีการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนต้น และผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อย
วิธีใช้ยาสารสกัดผงฟ้าทะลายโจร
1. ใช้บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้
วิธีการใช้: รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 60-120 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
2. ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
วิธีการใช้: รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง (สั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม)
วิธีใช้ยาจากผงฟ้าทะลายโจร
1. ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
วิธีการใช้: รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง (สั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม)
ข้อควรระวังในการใช้
1. ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด(antiplatelets)
2. ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือด
3. ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีกระบวนการแมทาบอลิซึมผ่านเอ็นไซม์ Cytochrome P450 (CYP 450) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP 1A2, CYP 2C9 และ CYP 3A5-6
ข้อห้าม
1. ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร
2. ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร อาจทำให้ทารกวิรูปได้
3. ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากเชื้อ Streptococcus group A, ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคไตอักเสบ, ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจรูห์มาติค, และผู้ป่วยทีมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง และหนาวสั่น
อ้างอิง :
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
การเสวนาวิชาการ ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทยในวิกฤต โควิด-19 https:/www.youtube.com/watch?v=2phuTUSCld8
การสัมมนาวิชาการเรื่อง แนวโน้มในการรักษาและป้องกันโควิด-19 เรื่องการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 https://www.tm.mahidol.ac.th/research/News&Events/2021_03_05/1751396_FTJvsCOVID-5MAR2021.pdf
- 2596 views