ปรับใหม่! ข้อกำหนดจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน “บุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้า” ให้กลุ่มรับซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม ส่วนกลุ่มรับวัคซีนมาแล้วเพียง 1 เข็ม กลุ่มที่ไม่เคยรับวัคซีนใดๆ หรือกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อนและไม่เคยรับ ทั้งหมดสามารถให้วัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 ได้ ขณะเดียวกันมี 3 กลุ่ม ไม่แนะนำรับไฟเซอร์กรณีบูสเตอร์โดส เหตุข้อจำกัดข้อมูลวิชาการและจำนวนวัคซีน ส่วนสมาชิกแพทยสภาราว 200 คนที่จองแอสตร้าฯเข็ม 3 สามารถเปลี่ยนได้
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) แถลงข่าวกรณีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ผ่านระบบออนไลน์ ว่า เมื่อเช้าวันนี้(2 ส.ค.) ได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดมีมติเห็นชอบกรณีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องบุคลากรสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้าที่จะได้รับวัคซีน ซึ่งขอยืนยันว่า ครอบคลุมผู้ปฏิบัติงาน ทั้งที่เป็นแพทย์ด่านหน้า และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับโควิด19 ที่มีความเสี่ยงโดยตรง
สำหรับวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรมากรณีสหรัฐบริจาคให้ไทยมีประมาณ 1.5 ล้านโดส จัดสรรเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันรวม 700,000 โดส กลุ่มที่ 2 จัดสรรให้จังหวัดที่มีการระบาดที่อยู่ในจังหวัดควบคุมสุงสุดและเข็มงวด ณ วันจัดสรร 13 จังหวัด มี 645,000 โดส กลุ่มที่ 3 ให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย หรือคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยกระทรวงต่างประเทศจะเสนอรายชื่อมา ประมาณ 150,000 โดส และกลุ่มที่ 4 ทำการศึกษาวิจัย 5,000 โดส และอีกกว่า 3,450 โดสในกรณีควบคุมการระบาดของสายพันธุ์เบตา ที่อาจใช้วัคซีนตัวอื่นได้ยาก
“กรณีวันนี้เป็นเรื่องของวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสโดยประมาณ แต่เมื่อมีวัคซีนเข้ามาอีก จะมีการจัดสรรเพิ่มต่อไป” รองปลัดสธ.กล่าว
นพ.สุระ กล่าวว่า การครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายยังย้ำว่า ครอบคลุมคนปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโควิด ที่อยู่ในหน่วยบริการ และภาคโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งบุคลากรที่ให้บริการผู้ป่วยทั่วไปที่มีความเสี่ยงจะรับเชื้อ ส่วนกลุ่มอาสาสมัครกู้ภัย ที่มาช่วยงานหรือพนักงานเก็บศพ อยู่ในกลุ่มบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข อยู่ในโควตา 7 แสนคน ดังนั้น ตัวเลขวัคซีน 7 แสนโดส พิจารณาแล้วว่าตัวเลขจะพอดีกับการจัดสรรรอบนี้ หากมีเหลือก็ต้องมีการพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
นพ.สุระ กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มอื่นๆที่คิดว่าจะมีปัญหาว่า ตัวเองตกหล่นหรือไม่นั้น ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยบริการทุกหน่วยสามารถเสนอมาทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ส่งมายังกรมควบคุมโรคกรณีส่งเพิ่มเติม ส่วนที่สอง ใน 13 จังหวัดรวมกทม.ที่มีความเสี่ยงสูงให้ติดต่อทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) โดย สสจ.จะกระจายวัคซีนไปตามหน่วยฉีดที่สำคัญที่เป็นจุดฉีดของจังหวัด เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมาฉีด มีการนัดหมายล่วงหน้า หากคิดว่าจะตกหล่นอย่างไรให้ประสานสสจ. โดยในส่วนกทม. คือ สำนักอนามัย ในการรับประสานเรื่องนี้
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. ชี้ “วัคซีนไฟเซอร์” VVIP ไม่มี!! จัดสรรตามกลุ่มเป้าหมาย)
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ได้มีการส่งมอบอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาบ สำหรับวัคซีนบริจาคของสหรัฐจำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งตัวเลขนี้แถลงโดยสถานทูตสหรัฐอเมริกา ขอยืนยันตัวเลขตามนี้ อย่างไรก็ตาม จากมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2564 เรื่อง คำแนะนำการให้วัคซีนโควิด19 ของไฟเซอร์ ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
สำหรับมติของคณะอนุกรรมการฯ เป็นคำแนะนำแนวทางการให้วัคซีนไฟเซอร์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงานทั่วประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด19 อื่นๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาล/หน่วยงานต้นสังกัด
“ขอย้ำว่า การฉีดวัคซีนโควิด ยังเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลใหม่ๆออกมาตลอดเวลา ซึ่งเราเพิ่งฉีดวัคซีนไม่ถึงปี เพราะฉะนั้นภูมิต้านทานจะลดลงช่วงไหนจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลวิชาการ ซึ่งมีข้อมูลมาตลอด อย่างไรก็ตาม ระยะหลังหลังจากมีการกลายพันธุ์ ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ฉีดวัคซีนไปเกือบทุกชนิดมีการลดลง ดังนั้น วิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกันจึงจำเป็นต้องกระตุ้นเข็ม 3 ที่เรียกว่า บูสเตอร์โดส โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า มีภูมิคุ้มกันเพื่อให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไปได้” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับหลักการให้วัคซีน ดังนี้
1.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ กระตุ้น 1 เข็ม
2.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆมาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลักตามที่เข็มแรกกำหนด เช่น เข็มแรกกำหนดว่า ให้ฉีดเข็ม 2 ใน 3 สัปดาห์ก็เป็นไปตามนั้น
3.บุคลากรที่ไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆมาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
4.บุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน และไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้รับวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทั้ง กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยา ด้านวัคซีน ด้านเวชศาสตร์ป้องกันมีคำแนะนำเพิ่มเติม โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีนดังต่อไปนี้
1.วัคซีนซิโนแวค เข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 หรือสูตรสลับไขว้ หรือ
2.วัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม คือ ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯไป 1 เข็มและมีกำหนดรับแอสตร้าฯเข็ม 2 หรือ
3.วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ 1 เข็ม
“ใน 3 กลุ่มนี้ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาว่า ขณะนี้ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เพราะหลังจากฉีดวัคซีนทั้ง 3 แบบ ภูมิคุ้มกันยังอยู่ในระดับสูงเพียงพอ เพราะฉีดไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลวิชาการที่จะสนับสนุนว่า จะฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม บุคลากรเหล่านี้ให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ และจะมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการ และดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ตามข้อมูลวิชาการ และจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มในระยะต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
ขณะที่ พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า กราบขอบพระคุณทางกระทรวงสาธารณสุข และทีมงานวัคซีน ที่กรุณาปรับข้อมูลจนบุคลากรด่านหน้าได้วัคซีนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ขอขอบพระคุณบุคลากรด่านหน้า ที่ไม่ใช่แค่แพทย์ แต่ทุกคนที่ช่วยกันต่อสู้โควิด19 ที่ผ่านมา และในฐานะ 7 สภาวิชาชีพ ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการฯที่ฟังเสียงทุกฝ่าย ทำให้การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะมีระบบแท็กตาม ขณะเดียวกันก็เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และมีการติดตามบุคลากรให้มีการลงทะเบียน 3 กลุ่มหากมีข้อมูลวิชาการก็จะได้รับไฟเซอร์อย่างแน่นอน
“ส่วนสมาชิกแพทยสภาที่ลงทะเบียนแอสตร้าฯ เข็ม 3 ประมาณ 200 ท่าน หากต้องการปรับเปลี่ยน สามารถแจ้งในเฟซบุ๊กแพทยสภาในกล่องข้อความ แพทยสภาจะดำเนินการให้” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว
- 22 views