ชาวอเมริกันจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสูงสุด ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด แต่มีประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วตามรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เมื่อปี 2562 ปรากฎว่าสหรัฐอเมริกาใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวประชากรสูงถึง 10.6 หมื่นดอลลาร์ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของ OECD จ่ายแค่ 3.8 พันดอลลาร์ต่อหัวประชากร ขณะที่การใช้จ่ายด้านสาธารณสุขต่อสัดส่วน GDP สูงถึง 16.9 % เทียบกับอัตราเฉลี่ยของ OECD 8.8 %
ถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินมากกว่าแต่ประสิทธิภาพต่ำกว่าประเทศที่จ่ายน้อยกว่า เราจะพบว่า ประชากรที่ครอบคลุมโดยระบบสาธารณสุขของรัฐบาลหรืออยู่ในโครงการประกันสุขภาพในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 91% ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ของ OECD ที่ 98% และการเข้าถึงแพทย์ของผู้ใหญ่ยังต่ำกว่าคือ 65% จากอัตราเฉลี่ยของ OECD ที่ 79% ซึ่งหมายความว่าคนอเมริกันจะหาหมอได้ยากกว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งระบบสาธารณสุขของรัฐ/การประกันสุขภาพที่ไม่มีสิทธิภาพเพียงพอ (1)
ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า สหรัฐฯ ใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่มีระบบสาธารณสุขที่แย่ที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ระบบที่ด้อยประสิทธิภาพทำให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี ซึ่งเราจะเห็นหายนะที่เกิดขึ้นจากช่องโหว่นี้ในช่วงที่สหรัฐเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผู้ชีวิตหลายแสนราย ในบรรดาผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดนั้นคือคนจนและกลุ่มเชื้อชาติที่ด้อยโอกาสในสังคม
ที่สำคัญ การดูแลสุขภาพในสหรัฐอเมริกาอาจมีราคาแพงมาก การไปพบแพทย์ครั้งเดียวอาจมีค่าใช้จ่ายหลายร้อยดอลลาร์ และการรักษาในโรงพยาบาลสามวันโดยเฉลี่ยอาจมีค่าใช้จ่ายหลายหมื่นดอลลาร์ (หรือมากกว่านั้น) ขึ้นอยู่กับประเภทของการดูแลที่ให้ไว้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายเงินจำนวนมากเช่นนี้ได้หากเราเจ็บป่วย ดังนั้นสหรัฐจึงต้องพึ่งการประกันสุขภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว (2)
วิธีการทำงานโดยทั่วไปของระบบประกันสุขภาพในสหรัฐอเมริกาคือ ผู้บริโภคจะจ่ายเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าให้กับบริษัทประกันสุขภาพ และการชำระเงินนั้นทำให้ผู้บริโภคสามารถแบ่งปัน "ความเสี่ยง" กับคนอื่นๆ (ผู้ซื้อประกัน/ผู้ทะเบียน) จำนวนมากที่ชำระเงินในลักษณะเดียวกันได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรง เงินเบี้ยประกันภัยที่จ่ายให้กับบริษัทประกันภัยจึงสามารถนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อประกัน/ผู้ทะเบียนที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บที่มีจำนวนน้อยได้ (2)
แต่ระบบนี้ไม่เอื้อกับผู้มีรายได้ต่ำ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องช่วยแทรกแซงผ่านระบบ Medicaid ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลกลางและของรัฐต่างๆ ที่ช่วยในเรื่องค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่มีรายได้และทรัพยากรจำกัด Medicaid เป็นแหล่งเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดสำหรับบริการทางการแพทย์และด้านสุขภาพสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยในสหรัฐอเมริกา โดยให้การประกันสุขภาพฟรีแก่ผู้มีรายได้น้อยและผู้พิการ 74 ล้านคน (23% ของชาวอเมริกัน) ณ ปี 2560 (3)
Medicaid เป็นระบบสาธารณสุขแบบเบสิกสำหรับคนรายได้น้อยดังนั้นมันจึงไม่เหมือนกับระบบประกันสุขภาพที่จ่ายพรีเมียม ในจุดนี้จึงมีสตาร์ทอัพที่รายหนึ่งเกิดขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่จุดนี้ พวกเขาคือ Cityblock Health ที่มีเป้าหมายเพื่อให้บริการด้านการดูแลสุขภาพสำหรับสมาชิก Medicaid และผู้รับผลประโยชน์ Medicare ที่มีรายได้น้อย (Medicare เป็นระบบสุขภาพสำหรับผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป)
Cityblock เป็นส่วนต่อขยายทางธุรกิจของบริษัท Sidewalk Health ซึ่งมีบริษัทแม่คือ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google เช่นกัน ได้รับการประเมินมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 3 ปี โดยรอบการระดมทุนครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม 2564 บริษัทนี้มีมูลค่า 192.25 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้จะเป็นบริษัทลูกของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีแต่เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่การกอบโกยกำไร แต่เป็นหลักการความยุติธรรมด้านสาธารณสุข (Health Justice) เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือผู้มีรายได้น้อยและโอกาสที่ได้รับการรักษาดีๆ มีน้อยไปด้วย
โมเดลของพวกเขาคือการสร้างสาธารณสุขพื้นฐานให้ดีในระดับชุมชนและบอกว่า "เราเชื่อว่าสุขภาพเริ่มต้นในย่าน (neighborhoods) ของเรา" ซึ่งคำว่า neighborhoods สะท้อนถึงย่านคนรายได้น้อยในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นคนชายขอบของสังคม ไม่มีเงินซื้อประกันสุขภาพที่ได้รับการบิรการอย่างดีและยังเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่า "สร้างปัญหาในสังคม" Cityblock จึงเน้นที่คนกลุ่มนี้ด้วยการมอบบริการ "พรีเมียม" ให้กับพวกเขาโดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ การวิเคราะห์ ดีไซน์ระบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
ดังนั้นทีมดูแลของพวกเขาจึงเน้นเข้าถึงผู้ป่วยในย่านโดยตรงโดยการทำงานร่วมกันของแพทย์ดูแลหลัก ผู้ปฏิบัติงานพยาบาล ผู้จัดการฝ่ายดูแล และผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่รับบริการในการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถพบทีมงานได้ทั้งที่สำนักงาน ทางโทรศัพท์ ทางวิดีโอ หรือในพื้นที่ปลอดภัยที่อยู่ใกล้ตัว
Cityblock หลีกเลี่ยงรูปแบบค่าธรรมเนียมสำหรับบริการ (Fee-for-service/FFS) ซึ่งเป็นวิธีการชำระเงินให้แพทย์ที่นิยมใช้กันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอุตสาหกรรมประกันสุขภาพและการดูแลสุขภาพ ค่าธรรมเนียมแบบ FFS คือการที่แพทย์และผู้ให้บริการด้านสุขภาพได้รับค่าธรรมเนียมสำหรับแต่ละบริการ เช่น การที่คนไข้ไปหาหมอที่คลินิก การตรวจคนไข้ กระบวนการรักษา หรือบริการด้านสุขภาพอื่นๆ การชำระเงินจะออกให้แพทย์หลังจากที่ให้บริการแล้วเท่านั้น วิธีการแบบนี้อาจสร้างผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเงินระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เนื่องจากจะกระตุ้นให้แพทย์แสวงหาผลประโยชน์มากเกินไปด้วยการรักษาเกินสัดส่วนที่เหมาะสมหรือคิดค่าใช้จ่ายมากเกินไปอย่างไม่เหมาะสม (Unnecessary health care/overutilization) ซึ่งนี่คือสาเหตุที่สหรัฐอเมริกามีต้นทุนการรักษาและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขสูงมากแต่ประสิทธิภาพต่ำ (4)
Cityblock สวนทางกับวิธีเหล่านี้พวกเขาใช้ระบบสาธารณสุขที่อิงกับคุณค่า (Value-Based Healthcare) เป็นรูปแบบการให้บริการด้านสุขภาพ โดยผู้ให้บริการ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลและแพทย์ จะได้รับค่าตอบแทนตามผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วย โดยผู้ให้บริการจะได้รับค่าตอบแทนจากการช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดผลกระทบและอุบัติการณ์ของโรคเรื้อรัง และมีชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นตามหลักฐาน
สาธารณสุขที่อิงกับคุณค่าจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้จ่ายเงินน้อยลงเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ส่วนผู้ให้บริการไดจะบรรลุประสิทธิผลในการบริการและได้รับความพึงพอใจของผู้ป่วยมากขึ้น และที่สำคัญ สังคมมีสุขภาพที่ดีขึ้นพร้อมๆ กับลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลโดยรวม (5)
พวกเขาให้บริการที่ค่อนข้างครอบคลุม เช่น Primary Care พวกเขาจะส่งตามความต้องการเฉพาะของสมาชิกหรือประสานงานกับแพทย์ที่ลูกค้าติดต่อด้วยเป็นประจำ หรือจะเป็น Urgent Care ที่สมาชิกสามารถโทรหาได้ทุกเวลา ถ้าความต้องการทางการแพทย์เร่งด่วนพวกเขาพร้อมให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด พวกเขายังมี Pregnancy Care สำหรับสมาชิกที่กำลังตั้งครรภ์หรือพ่อแม่มือใหม่ พวกเขาจะให้การสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน รวมถึงบริการเป็น ดูลา (doula) เพื่อช่วยเหลือความต้องการก่อนคลอดและหลังคลอด
และเนื่องจากเป้าหมายของ Cityblock เป็นกลุ่มคนในย่านของคนชายขอบพวกเขายังมีบริการที่ครอบคลุมถึงปัญหาชีวิตประจำวันอื่นๆ ด้วย เช่น Social Services โดยจะให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย การจ้างงาน ความช่วยเหลือทางกฎหมาย อาหาร การขนส่ง การดูแลเด็ก และอื่นๆ ที่สมาชิกต้องการ และบริการ โดยมี Community Hubs ซึ่งเป็นมากกว่าคลินิกสุขภาพ มันยังเป็นชั้นเรียนวิชาที่น่าสนใจ เป็นสถานที่เชื่อมต่อกับสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน และเข้าถึงบริการในพื้นที่
การให้บริการแบบนี้ดูเหมือนจะไม่ซับซ้อนหรือเป็นอะไรที่ใหม่มาก แต่มันมีประสิทธิภาพเหนือความคาดหมาย จากข้อมูลจากกลุ่มสมาชิกกลุ่มแรกพบว่าอัตราการห้องฉุกเฉินลดลง 15 % และการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยในลดลง 20 % (6) พวกเขาคือตัวช่วยอุดช่องโหว่ของระบบสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาที่เขี่ยคนชายขอบ/คนจนไม่ให้ได้รับบริการที่ดีนั่นเอง และการรับบริการที่ดีแต่เนิ่นๆ ช่วยลดภารระของระบบสาธารณสุขโดยรวมด้วย
เราจะเห็นได้ว่าภายในสองสัปดาห์หลังจากการล็อกดาวน์ในนครนิวยอร์กซิตี้ Cityblock ได้ปรับใช้รูปแบบการดูแลแบบใหม่โดยส่งแพทย์ผู้มีประสบการณ์ไปที่บ้านของผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับความต้องการทางการแพทย์อย่างเฉียบพลัน เช่น ความเจ็บปวดหรือหายใจลำบาก จากนั้นวิดีโอคอลหาแพทย์ฉุกเฉิน โดยทีมแพทย์และพยาบาลเหล่านี้จะทำการประเมินและการดูแลแบบเดียวกับศูนย์ดูแลฉุกเฉินหรือแผนกฉุกเฉิน ซึ่งแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุขโดยรวมที่กำลังติดขัดได้ (7)
อ้างอิง
1. Caitlin Owens. (Nov 7, 2019). "The U.S. health care system is not the best in the world". Axiom.
2. "How U.S. Health Insurance Works". Vaden Health Services. Stanford University.
3. Franco Montoya, Daniela; Chehal, Puneet Kaur; Adams, E. Kathleen (April 2, 2020). "Medicaid Managed Care's Effects on Costs, Access, and Quality: An Update". Annual Review of Public Health. 41 (1): 537–549. doi:10.1146/annurev-publhealth-040119-094345
4. Wikipedia contributors. "Fee-for-service." Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 8 Mar. 2021. Web. 12 Jun. 2021.
5. "What Is Value-Based Healthcare?". (January 1, 2017). NEJM Catalyst.
6. Eric Rosenbaum. (May 25, 2021 )."Cityblock Health". CNBC Disruptor 50.
7. Nancy Crotti. (May 21, 2021 ). "7 digital health startups you need to watch in 2021". Medical Design & Outsourcing.
- 3264 views