WHO เผยอยู่ระหว่างศึกษาฉีดวัคซีนครบกระตุ้นภูมิฯนานแค่ไหน ต้องฉีดซ้ำเมื่อไหร่ ส่วนคนเคยติดเชื้อยังต้องฉีดวัคซีนโควิด แต่กรณีวัคซีนมีจำกัด สามารถรอได้ประมาณ 6 เดือน ขณะเดียวกันขอสื่อมวลชน กลไกสำคัญสื่อสารข้อมูลจริงชวนคนฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ย้ำฉีดวัคซีนแล้วยังต้องเข้มมาตรการสวมหน้ากากอนามัย
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 2 มิถุนายน 2564 องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดบรรยายสรุปสำหรับนักข่าวไทย เรื่อง ข้อมูลโควิดและการกระจายวัคซีนในประเทศไทย โดยมีผู้แทนองค์การอนามัยโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และผู้เกี่ยวกับในการบริหารจัดการการกระจายวัคซีนมาให้ข้อมูลผ่านออนไลน์ทาง Zoom
ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลสื่อมวลชนผ่านทางออนไลน์ Zoom เกี่ยวกับประเด็นวัคซีนโควิด-19 ว่า องค์การอนามัยโลกมีการติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด19 มาตลอด เนื่องจากเมื่อกลายพันธุ์จะกระทบต่อมาตรการทางสาธารณสุข ความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมทั้งมีผลอย่างไรกับการทำงานของวัคซีนโควิดหรือไม่ ทั้งนี้ อย่างคนส่วนใหญ่ที่ป่วยเมื่อหายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ซึ่งในส่วนวัคซีนก็จะกระตุ้นภูมิฯที่สูงขึ้นกว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ส่วนสายพันธุ์ที่กังวลกันคือ สายพันธุ์ที่ค้นพบครั้งแรกในอังกฤษ คือ B.1.1.7 สายพันธุ์ที่ค้นพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ คือ สายพันธุ์ B 1.351 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แพร่ง่ายและความรุนแรงก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังเชื่อว่าติดต่อได้ง่ายกว่า รวมทั้งคนที่ติดสายพันธุ์อื่นก็สามารถติดซ้ำได้ด้วยสายพันธุ์นี้ นอกจากนี้ ยังมีสายพันธุ์ P.1 ที่ค้นพบครั้งแรกในบราซิล และสายพันธุ์ที่ค้นพบในอินเดีย B.1.617
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดองค์การอนามัยโลกก็ตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ จะไม่เรียกว่าสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย โดยจะป้องกันการตีตรา และจะทำให้เป็นระเบียบของการเรียกสายพันธุ์เหล่านี้ เช่น B.1.1.7 จะเรียกว่า Alpha หรือ สายพันธุ์ B 1.351 เรียกว่า Beta สายพันธุ์ P.1 เรียกว่า Gamma และสายพันธุ์ B.1.617 เรียกว่า Delta
ทั้งนี้ ในเรื่องการอนุมัติใช้วัคซีนโควิดภาวะฉุกเฉิน เรามีมาตรฐานมีเกณฑ์ที่เข้มข้นมาก และขณะนี้ยังมีอีก 184 วัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนทดลองด้วย ปัจจุบันมี 211 ประเทศมีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 1870 ล้านโดส และในโครงการโคแว็กซ์ (Covax)ส่งไปแล้ว 77.7 ล้านโดสใน 127 ประเทศด้วยกัน ดังนั้น ประเทศส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว โดย 77 ประเทศจะพบว่า 33% เป็นของประเทศจีน และประชากรที่ได้รับการฉีดแรกๆคือ บุคลากรทางการแพทย์ โดยวัคซีนที่มีการใช้แพร่หลายคือ วัคซีนแอสตราเซเนกา และเป็นวัคซีนที่กำลังมีการใช้ในประเทศไทย เมื่อเรียงตามลำดับจะพบว่า แอสตรามากที่สุด ตามด้วยไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา กามาลาย่าของรัสเซีย เป็นต้น ซึ่งก็มีหลายวัคซีนกำลังยื่นเอกสารอยู่
(ข่าวเกี่ยวข้อง :คิกออฟ 7 มิ.ย. ปูพรมฉีดวัคซีนโควิดครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ย้ำกลุ่มจอง “หมอพร้อม” ได้แอสตราเซเนกาเป็นหลัก)
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีน ต้องดูหลายปัจจัย เพราะแต่ละประเทศในการศึกษาวิจัยจะแตกต่างกัน สิ่งสำคัญต้องดูเรื่องการป้องกันโรครุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังแนะนำว่า หากโดสแรกได้รับวัคซีนแอสตราฯ โดสที่สองก็ควรเป็นแอสตราฯเช่นเดียวกัน ส่วนผลข้างเคียงในการเกิดลิ่มเลือดจะพบ 1 ในล้าน ซึ่งโอกาสเกิดน้อยมาก
ดร.ซุมยา กล่าวอีกว่า สำหรับองค์การอนามัยโลกได้รับรองวัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ทั้งคู่เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย และป้องกันการเสียชีวิตได้ และต้องฉีด 2 โดส สามารถฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป อีกทั้ง ยังสามารถใช้ได้ในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ แต่ในคนที่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่มีอาการแพ้รุนแรงในโดสแรก ก็ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันในโดสสอง
“ส่วนที่ว่าฉีดครบ 2 โดสแล้วจะมีประสิทธิผลยาวนานแค่ไหนนั้น ขณะนี้ยังเก็บข้อมูลอยู่ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลแค่ช่วง 6 เดือนเท่านั้น และการทดลองในคนก็ยังไม่มากมาย จึงต้องรอและเห็นผลกว่านี้ต้องใช้เวลาเป็นปี และอาจต้องมีการฉีดอีกเข็มเพื่อกระตุ้นอีกหรือไม่ ซึ่งตรงนี้เป็นงานที่ต้องศึกษาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีพื้นฐานในการเก็บข้อมูลที่ดี สรุปคือ เรากำลังศึกษาว่าฉีดครั้งหนึ่งกระตุ้นนานแค่ไหน และเข็มที่สาม ที่จะกระตุ้นก็ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างชัดเจน ขณะนี้จึงกำหนดว่า ต้องฉีด 2 โดสเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม ส่วนคนที่ติดโควิดมาแล้วก็ยังต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดสเช่นกัน แต่กรณีหากวัคซีนไม่พอในประเทศนั้นๆ คนกลุ่มนี้รอได้ประมาณ 6 เดือน เพราะคิดว่าจะมีภูมิคุ้มกันหลงเหลืออยู่จากการที่ติดมา”
ด้าน นพ. แดเนียล เอ เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสื่อในสถานการณ์โควิด19 ว่า การทำงานร่วมกับสื่อถือว่าสำคัญมาก เพราะสื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยควบคุมโรค และยังเป็นตัวส่งเสริมการรับวัคซีนของประชาชน ดังนั้น สื่อสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า เกิดอะไรขึ้นและประเมินตัวเองได้ว่า อยู่กลุ่มไหนควรทำอะไร อย่างไร ซึ่งสื่อจะเป็นตัวหลักในการกระจายข่าวอย่างถูกต้อง และส่งเสริมให้คนไปรับวัคซีนได้ ไม่ใช่วัคซีนป้องกันชีวิตได้อย่างเดียว แต่การให้ข้อมูลถูกต้องจะป้องกันชีวิตได้ด้วย นอกจากนี้ ระหว่างรอให้คนฉีดวัคซีนให้มากพอ อย่าการ์ดตก ไม่ใช่ว่าวัคซีนมาทุกอย่างหายไป เรายังต้องใส่หน้ากากอนามัยเหมือนเดิม เว้นระยะห่างเหมือนเดิม ล้างมือบ่อยๆ มาตรการยังเข้มเช่นเดิม
- 64 views