รองนายกฯ-รมว.สธ. รับพูดวอล์กอินเร็วไป เผยกรณีข้อแตกต่างวอล์กอินและออนไซต์ ย้ำการฉีดวัคซีนโควิดยึดแผนปกติที่นัดเข้ามาผ่าน “หมอพร้อม” ต้องไม่ถูกแซงคิว และหากเหลือเท่าไหร่ในแต่ละวันต้องมีแผนสำรองเชิญปชช.ที่ไม่ได้ฉีดมารับบริการ แต่ไม่ใช่ว่าใครจะขับรถมารอจะได้รับเลย เบื้องต้นแต่ละวันต้องทราบก่อนเหลือวัคซีนจากการจองกี่เปอร์เซ็นต์
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า กรณีสถานีกลางบางซื่อ กระทรวงคมนาคมเสนอให้ฉีดบุคลากรภาคขนส่งสาธารณะ ทั้งคนขับแท็กซี่ รถบัส เรือ คนทำงานสนามบิน ท่าเรือ เป็นหลายหมื่นหรือแสนคน แต่ไม่ใช่การวอล์กอิน ซึ่ง สธ.ขอว่าหากฉีดกลุ่มนี้เสร็จแล้ว จะขอยืมสถานที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มอื่นเพื่อความสะดวกสบาย เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางอาจฉีดได้เป็นหมื่นคน ทั้งนี้ วันที่ 21 พ.ค.จะมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจดูความพร้อม แต่จะเริ่มฉีดได้เมื่อไรขึ้นกับความพร้อมของกระทรวงคมนาคม โดยคมนาคมจะใช้บุคลากรทางการแพทย์เขามาช่วย เช่น รพ.รถไฟ
เมื่อถามถึงกรณีวอล์กอินและออนไซต์ (On Site) ลงทะเบียนหน้างานตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุนั้นแตกต่างกันอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า นายกฯ อยากจะดูการฉีดวัคซีนภายใต้แผนปกติที่นัดเข้ามาผ่าน “หมอพร้อม” และลงทะเบียนก่อน โดย สธ.จะเก็บข้อมูลทำรายงานว่า แต่ละวันมีคนที่นัดเข้ามาฉีดกี่คน ไม่มากี่คน เหลือวัคซีนเท่าไร ซึ่งวัคซีนที่นำออกมาใช้แล้วเอากลับไปสต๊อกไม่ได้ ต้องใช้ให้หมด ดังนั้น คนที่นัดแล้วไม่มาและเหลือ คนที่รับผิดชอบจุดฉีดต้องเตรียมแผนสำรอง อาจจะเชิญประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนบริเวณนั้นมาฉีดวัคซีนที่เหลือนี้
“ผมอาจพูดเรื่องวอล์กอินเร็วไปนิด เพราะเราดูแล้วว่าวัคซีนแม้จะเห็นว่าให้ได้ แต่เพื่อความสบายใจกับคนที่นัดหมายมาฉีด ว่าจะต้องได้ฉีดก่อน มิเช่นนั้นอาจต่อว่าได้ว่านัดแทบตายแต่ปล่อยให้คนวอล์กอินได้ก่อน ซึ่งตรงนี้จะเรียกว่าอะไรก็ได้ แต่วัคซีนเหลือไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุขส่งวัคซีนออกไปต้องใช้ให้ครบทุกโดส ทิ้งไม่ได้ ผมไม่ยอม อย่างแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวดซึ่งปกติจะได้ 10 โดส แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาพยาบาลพยายามอย่างเต็มที่ทำให้สามารถดูดวัคซีนออกมาได้ถึง 12 โดส ดังนั้น อีก 2 โดสที่เหลือต้องบริหารจัดการให้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าใครก็ตามขับรถเข้ามาแล้วจะได้เลย อาจจัดตั้งหน่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งว่าแต่ละวันเมื่อฉีดไปแล้วสัก 3-4 ชั่วโมง ก็น่าจะคำนวณได้ว่าวันนี้อาจมีวัคซีนเหลือเท่าไรก็ประกาศให้คนทราบว่าเข้ามาฉีดได้อีกเท่าไร” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขอย้ำว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกนโยบาย ส่วนกรมควบคุมโรคเป็นผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากปฏิบัติงานแล้วขาดเหลือสิ่งใด ก็ให้แจ้งกับรัฐมนตรี ก็จะพยายามจัดหามาให้เพื่อสนับสนุนการทำงาน ส่วนหน่วยงานต่างๆ ที่มีการรวบรวมพนักงานของตัวเองเป็นเรื่องที่ดีในการช่วยรัฐฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น แต่หากรวมกันมาฉีดที่โรงพยาบาลก็อาจเกิดความแออัด ภาระงานล้นเกินไป ดังนั้น ถ้าหากหน่วยงานองค์กรต่างๆ สามารถจัดหาสถานที่และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อจัดฉีดวัคซีนได้ก็จะใช้ สธ.ได้มากขึ้น
- 11 views