สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยืนยัน มิ.ย. เป็นต้นไปอัตราฉีดวัคซีนโควิด19 ประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น ย้ำแม้รับวัคซีนเป็นสิทธิสมัครใจของคนไทย แต่ถ้าถือเป็นหน้าที่เหมือนการสวมหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้บังคับ แต่พร้อมใจทำก็จะช่วยให้ปิดการระบาดได้เร็วขึ้น ควบคู่มาตรการอื่นๆ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการใช้ “วัคซีนแอสตราเซนเนกา”หลังจากที่หลายประเทศในสหภาพยุโรปมีการชะลอการฉีดหลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือด พบว่า ข้อมูลล่าสุดที่องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปหรือ EMA ได้ออกมาให้ข้อมูลว่ายังไม่พบข้อมูลที่จะยืนยันว่าภาวะเกิดลิ่มเลือดจะเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน และหน่วยงานด้านควบคุมกำกับด้านยาของสหราชอาณาจักร ระบุว่าอัตราการเกิดลิ่มเลือดในผู้ได้รับวัคซีนนี้ พบได้ต่ำกว่าในประชากรทั่วไป จึงยังไม่มีมีข้อบ่งชี้ว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะมาจากวัคซีน ฮูและEMA ยังแนะนำให้ทุกประเทศฉีด “วัคซีนแอสตราเซนเนกา” ให้กับประชาชนทั่วไป

“ขอให้ประชาชนไทยมั่นใจจะได้เริ่มการฉีดวัคซีนใน 2 ชนิดที่ประเทศไทยนำมาใช้ในขณะนี้ คือ ซิโนแวคที่มีข้อบ่งชี้การใช้กับกลุ่มประชากร 18-60 ปี และ “วัคซีนแอสตราเซนเนกา” ที่มีข้อบ่งชี้ให้ใช้ในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีข้อมูลการฉีดวัคซีนอย่างมาก เพราะว่า ประเทศแถบยุโรป สหราชอาณาจักรมีการใช้วัคซีนแอสตราเซนเนกาในผู้สูงอายุเป็นกลุ่มต้นๆ และในสหราชอาณาจักรมีการฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกาแล้วมากกว่า 16 ล้านโดส เพราะฉะนั้นข้อมูลด้านความปลอดภัย วัคซีนมีผลในการชะลอโรค ชะลอการป่วยรุนแรง เมื่อสหราชอาณาจักรมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆจะเห็นแนวโน้มของโรคดีขึ้น คือจำนวนการป่วยลดลง”นพ.นครกล่าว

วัคซีนซิโนแวค

นพ.นคร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้มีการจัดหาวัคซีนทั้งของซิโนแวคในช่วงไตรมาส1-2 ของปี 2564 คือ ก.พ.-พ.ค.จะมีวัคซีนแม้ว่าจำนวนจำกัดเป็นสถานการณ์ทั่วโลกว่าวัคซีนยังมีอยู่จำกัด การผลิตวัคซีนก่อนหน้ายังทำได้น้อย ซึ่งที่ได้มีการติดต่อมีเพียงวัคซีนซิโนแวคเท่านั้นที่สามารถจัดส่งให้ได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนในช่วงไตรมาส1-2 เพื่อนำมาใช้เป็นมาตรการเสริม ในการจัดการระบาดของโรคในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ระบาด ควบคู่กับมาตรการป้องกันโรคที่วางไว้และทำได้อย่างเข้มแข็ง แต่เมื่อจำนวนวัคซีนมีมากขึ้นจากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของอาเซียน จะทำให้ไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนจำนวนมาก ได้ตั้งแต่มิ.ย.เป็นต้นไป ก็จะสามารถเร่งการฉีดวัคซีนได้

“ข้อกังวลว่าประเทศไทยฉีด “วัคซีนโควิด19”ได้ล่าช้า เป็นข้อจำกัดจากจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งเป็นสถานการณ์พบได้เหมือนกับประเทศอื่น แต่ถ้าจะเทียบกับประเทศที่มีการจองซื้อไว้ล่วงหน้าจำนวนมากกว่าประชากรในประเทศหลายเท่าตัวคงเทียบกันไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเดือนมิ.ย.เป็นต้นไปอัตราฉีดวัคซีนของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่จะอุ่นใจได้ในการผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อไป และแม้ว่าการเข้ารับวัคซีนของคนไทยจะเป็นสิทธิโดยสมัครใจ แต่ถ้าถือเป็นหน้าที่ด้วย เหมือนกับการสวมหน้ากากอนามัย ที่ไม่ได้บังคับ แต่คนไทยก็ร่วมมือ ก็จะทำให้ไทยสามารถปิดจบการระบาดโควิด19 ได้ในเวลารวดเร็ว ควบคู่กับมาตารการป้องกันโรคที่ดีอยู่แล้ว”นพ.นครกล่าว

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

 

นพ.นคร กล่าวอีกว่า การกำหนดกลุ่มอายุในการรับวัคซีนชนิดใดนั้น มาจากการวิจัยในคนระยะที่ 3 ว่ามีการทดลองในกลุ่มอายุใด เมื่อมาขึ้นทะเบียนก็จะอนุญาตให้ใช้ในกลุ่มอายุตามที่มีการวิจัยก่อน ระหว่างนั้นก็มีการเก็บข้อมูลอายุไปเรื่อยๆ ซึ่งวัคซีนซิโนแวค วิจัยในผู้ที่อายุ 18-60 ปี เมื่อขึ้นทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก็อนุญาตให้ใช้ในคนอายุ 18-60 ปี แต่ถ้าอนาคตมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมถ้าผลในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ต่างจากคนอายุ 18-60 ปีก็จะอนุญาตให้ใช้ได้ ก็จะทำให้ไทยขยายกลุ่มอายุใช้ซิโนแวคได้ด้วย ส่วนวัคซีนแอสตราเซนเนกา การวิจัยในคนระยะที่ 3 ไม่ได้กำหนดกลุ่มอายุ และมีผู้สูงอายุจำนวนพอสมควร อย.จึงอนุญาตให้ใช้ได้ตามกลุ่มอายุที่ทดลอง คือ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุไม่ว่าอายุเท่าไหร่

“เพียงแต่ช่วงนี้ที่มีวัคซีนจำกัด และไทยมีวัคซีนซิโนแวคมากก็ให้ใช้ซิโนแวคในกลุ่มคนมากก่อน ส่วนแอสตร้าฯมีจำนวนวัคซีนน้อยก็เน้นกลุ่มผู้สูงอายุก่อน แต่ไม่ได้เหมายความว่าวัคซีนแอสตราเซนเนกาจะใช้ได้เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ใช้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และเมื่อมีวัคซีนทยอยส่งมอบให้ไทยมากขึ้นตั้งแต่มิ.ย.นี้ ไทยก็จะฉีดวัคซีแอสตร้าาในทุกกลุ่มอายุแน่นอน ตามแผนการดำเนินการของกรมควบคุมโรคที่ทยอยฉีดตามกลุ่มประชากรที่วางแผนไว้”นพ.นครกล่าว

วัคซีนแอสตราเซเนกา

ภายในการแถลงข่าวเดียวกัน  นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.)  กล่าวถึงข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ว่า สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการฉีดวัคซีน 2 ชนิดคือซิโนแวค และแอสตราเซนเนกา รวม 4,100 ราย แบ่งเป็นบุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข รวมอสม. 461 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 281 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 2,902 ราย ไม่มีรายงานผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากการรับวัคซีน ทั้งนี้สำหรับยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-16 มี.ค.รวมทั้งสิ้น 53,842 ราย คิดเป็น 58% เป็นบุคลากร สาธารณสุข/สาธารณสุข รวม อสม. 30,853 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,036 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 2,814 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 14,137 ราย

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.)