"หมอสุระ" รองปลัดสธ. เผยคืบหน้าแนวทางช่วยเหลือบุคลากรสธ. ปฏิบัติงานโควิด19 กลุ่มตกหล่น ล่าสุดใช้ตำแหน่งว่าง 1,274 อัตรา เหลือตำแหน่งว่างอีกราว 1.5 พันอัตรา แต่ต้องรอ ก.พ.พิจารณา 2 กลุ่ม “วุฒิสูงกว่าตำแหน่ง-ชื่อสายงานไม่ตรงลักษณะงาน” หากอนุมัติก็บรรจุได้ ส่วนเงินเพิ่มพิเศษคนทำงานโควิด รอสำนักงบฯ
ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการคัดเลือกเพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษราว 4 หมื่นอัตรา โดยบรรจุ 3 ระยะ ปรากฎว่ายังมีกลุ่มที่ตกหล่นที่ไม่ได้บรรจุ ล่าสุดได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข กรณีการแก้ปัญหาการบรรจุข้าราชการยุคโควิด-19 ที่ตกหล่น ว่า ที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงฯ ได้เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหากลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด19 แต่ตกหล่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการแก้ปัญหามาตลอด
นพ.สุระ กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้ดำเนินการบรรจุให้กลุ่มตกหล่น กลุ่มสีเทา โดยใช้ตำแหน่งว่างโควิด (คือมีการย้าย หรือลาออก ตำแหน่งจึงว่าง) ตำแหน่งว่างเดิม รวมแล้วจำนวน 1,274 อัตรา แบ่งเป็นกลุ่มสีเทาที่สามารถใช้ตำแหน่งว่างนี้ได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีคุณสมบัติครบ แต่ติดปัญหาข้อมูลคลาดเคลื่อน จึงได้มีการแก้ไข โดยกลุ่มนี้มีจำนวน 196 อัตรา ใช้ตำแหน่งว่างโควิด 181 อัตรา และตำแหน่งว่างเดิมอีก 15 อัตรา ส่วนกลุ่มตกหล่นเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานใน 24 สายงาน แต่ไม่ปรากฏข้อมูลในระบบ ซึ่งมีการดำเนินการแก้ไขและบรรจุด้วยตำแหน่งว่างรวม 1,078 อัตรา โดยใช้ตำแหน่งว่างโควิด 505 อัตรา และตำแหน่งว่างเดิมอีก 573 อัตรา
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดสธ.
“ในส่วนของตำแหน่งว่างนั้นจะเหลืออีก 1,506 อัตรา ซึ่งตรงนี้เราจะนำมาบรรจุสำหรับกลุ่มตกหล่นที่เหลือ แต่ปัญหาคือ จะต้องเสนอ ก.พ. เพื่อขอการพิจารณายินยอมให้ใช้ตำแหน่ง มี 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ กรณีคุณวุฒิสูงกว่าตำแหน่งจำนวน 477 อัตรา เช่น มีคุณวุฒิระดับปริญญาตรีในสายงานนักวิชาการสาธารณสุข แต่ได้รับการจ้างงานในตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข เป็นต้น และกลุ่มที่สอง คือ กรณีตำแหน่งที่มีวุฒิและลักษณะงานตรง แต่ชื่อสายงานไม่ตรงกับ 24 สายงานรวม 452 ราย โดยมี 4 สายงาน คือ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จำนวน 125 ราย นักวิทยาศาสตร์ 5 ราย เจ้าหนักงานการแพทย์แผนไทย 53 ราย และเจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน 269 ราย โดยทั้งหมดต้องขอ ก.พ.อนุมัติหลักเกณฑ์การบรรจุเป็นกรณีพิเศษต่อไป ซึ่งหากอนุมัติก็จะสามารถใช้ตำแหน่งว่างที่เหลืออีก 1,506 อัตราได้ ” นพ.สุระ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีนอกเหนือ 24 สายงาน มองว่า ทาง สธ.มีหลักเกณฑ์อะไรถึงเสนอ 4 สายงานดังกล่าวให้ ก.พ.พิจารณา นพ.สุระ กล่าวว่า หากพิจารณา 4 สายงานดังกล่าวจะเห็นว่าชื่อไม่ตรงกับ 24 สายงานตามที่ครม.อนุมัติก็จริง แต่ลักษณะงานตรงกัน เพียงแต่ตอนจ้างอาจมีความเข้าใจผิด จึงจ้างชื่อไม่ตรงกับตำแหน่ง 24 สายงาน อาทิ เจ้าพนักงานการแพทย์แผนไทย เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน จะตรงกับสายงานเจ้าพนักงานสาธารณสุข ซึ่งอยู่ใน 24 สายงานเป็นต้น
เมื่อถามว่าอย่างกรณีที่ไม่มีชื่ออยู่ใน 24 สายงาน แต่ได้ปฏิบัติงานโควิดจะมีการเยียวยาอย่างไร นพ.สุระ กล่าวว่า เบื้องต้นเราต้องดำเนินการตามมติ ครม.อนุมัติตำแหน่งให้ 24 สายงาน แต่ส่วนที่นอกเหนือ ทางสธ.ก็จะมีการพิจารณาเพื่อหาทางช่วยเหลืออื่นๆ ว่าจะทำอย่างไรได้บ้างต่อไป ส่วนกรณีเงินเพิ่มพิเศษบุคลากรสาธารณสุข ปฏิบัติงานสถานการณ์ระบาดโควิด19 จะให้ทั้งหมดทั้งลูกจ้าง พนักงานกระทรวงฯ ข้าราชการ ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง แบ่งเป็นปฏิบัติงานโดยตรงรับเดือนละ 1,500 บ. ปฏิบัติงานสนับสนุนเดือนละ 1,000 บาท ได้ตั้งแต่ 1 มี.ค.2563- 30 ก.ย.2563 แต่ต้องมีหัวหน้างานรับรองมีเงื่อนไขตามกำหนด ซึ่งตรงนี้งบประมาณยังไม่ได้ลงมา กำลังรอเช่นกัน หากลงมาก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
- 676 views