กระทรวงสาธารณสุข ทดสอบระบบฉีดวัคซีนโควิด19 “ซิโนแวค” ล็อตแรก 2 แสนโดส ล่าสุดรวบรวมรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่สมัครใจฉีดวัคซีนราว 3.2 หมื่นคน ส่วนปชช.กำลังรวบรวมรายชื่อ ตั้งระบบ 8 ขั้นตอน ทุกขั้นตอนใช้เวลาไม่เกิน 40 นาที คาดไม่เกิน 28 ก.พ. พร้อมฉีด
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่โรงพยาบาลราชวิถี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) พร้อมด้วยนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.รพ.ราชวิถี ทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยนายสาธิต กล่าวว่า จากการดูการซ้อมระบบการฉีดวัคซีน ในรพ.ราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกรมการแพทย์ จัดระบบไว้ 8 ขั้นตอน ทำบัตร ชั่งน้ำหนัก ซักประวัติ รอฉีด เข้ารับการฉีด พักรอดูอาการ 30 นาที ตรวจสอบก่อนกลับ แสดงผลในไลน์หมอพร้อม ซึ่งทุกขั้นตอนใช้เวลาไม่เกิน 40 นาที ทั้งนี้เมื่อวัคซีนจากซิโนแวคมาถึงประเทศไทย วันที่ 24 ก.พ.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบและพร้อมฉีด ไม่เกินวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งตนพร้อมด้วยผู้บริหารสธ.พร้อมฉีดแน่นอน
ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบการฉีดวัคซีนของรพ.ราชวิถี จะเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลต่างๆ นำไปปรับใช้ได้ ทั้งนี้สำหรับในเขตกรุงเทพฯ กรมการแพทย์เป็นตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข ประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่า ฯ กทม. เป็นประธาน โดยทำหน้าที่รวบรวมจำนวนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดส ของ ซิโนแวค ซึ่งมีรายชื่อในโรงพยาบาลที่ตั้งในเขตกรุงเทพฯซึ่งมีหลายสังกัด ได้แก่ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพ และเอกชน โดยรวบรวมทั้งรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่สมัครใจฉีดวัคซีน ประมาณ 32,000 คน
ส่วนประชาชน 7 กลุ่มโรคแรกที่จะได้ฉีด กำลังรวบรวมรายชื่อ และจากการหารือเบื้องต้นกับผู้ว่าฯ กทม. คาดว่าพื้นที่ กทม.น่าจะได้วัคซีนมาจำนวน 8 หมื่นโดส ก็อาจจะฉีดในเขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยงของ กทม.ก่อนส่วนต่างจังหวัด เป็นหน้าที่ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิรับวัคซีน ซึ่งวัคซีนของซิโนแวค กำหนดฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 18-59 ปี ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 60 ปีก็จะไม่ได้รับวัคซีน คงต้องรอวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา
ด้าน นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า รพ.ราชวิถี สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้วันละ 500 คน สำหรับจุดนั่งพักหลังการฉีดนั้น จัดให้อยู่ใกล้ห้องฉุกเฉิน หากมีปัญหาขึ้นก็จะได้ช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพฯ ก็ได้มีการหารือว่า อาจจัดจุดฉีดวัคซีนที่มีพื้นที่กว้างขวางไว้รองรับคนที่มาฉีดนับพันคนได้ เช่น สนามกีฬา ศูนย์การค้า โรงละคร ซึ่งต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต รถฉุกเฉินต่างๆ ให้พร้อม
สำหรับการทดสอบระบบการฉีดวัคซีน COVID-19 เริ่มตั้งแต่ก่อนเข้ารับบริการจะมีการคัดกรองความเสี่ยง วัดไข้ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล โดยขั้นตอนที่ 1 เป็นการลงทะเบียน (ทำบัตร) เพื่อยืนยันตัวตน ขั้นตอนที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ขั้นตอนที่ 3 คัดกรอง ซักประวัติ และลงนามใบยินยอมการรับวัคซีน ขั้นตอนที่ 4 รอฉีดวัคซีน ขั้นตอนที่ 5 เข้ารับการฉีดวัคซีน จากนั้น ขั้นตอนที่ 6 จะให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกรายนั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที โดยได้จัดให้มีพื้นที่ปฐมพยาบาล แพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับการดูแลผู้ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน และมีการแนะนำวิธีการใช้ Line Official Account “หมอพร้อม” เพื่อติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน 30 วัน และรับการแจ้งเตือนเพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ครบทั้ง 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีน COVID-19 ทาง Line Official Account “หมอพร้อม” อีกด้วย
ขั้นตอนที่ 7 จุดตรวจสอบก่อนกลับบ้าน เจ้าหน้าที่จะสอบถามอาการ ให้คำแนะนำ และออกใบนัดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ขั้นตอนที่ 8 จะมีการแสดงผล Dash Board จาก Line Official Account “หมอพร้อม” แสดงการประเมินผลความครอบคลุมทุกกระบวนการการบริการ การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้รับ
วันเดียวกัน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาให้วัคซีนโควิด-19 กับผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปี ด้วย เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่เนื่องจากวัคซีนของซิโนแวคนั้นมีการทดลองให้วัคซีนฯ กับผู้สูงอายุ อายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวนน้อย ทำให้ไม่รู้ว่าประสิทธิผล และความปลอดภัยในกลุ่มนี้เป็นอย่างไร ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าในระยะแรกที่วัคซีนโควิด-19 จากซิโนแวค ไม่ควรฉีดให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป กลุ่มนี้ให้รอฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาเลย
- 362 views