โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผยรายละเอียดบริโภคอาหารกัญชาอย่างไรปลอดภัย ชี้วันละไม่เกิน 5 ใบ ด้านสถาบันกัญชาฯ เตรียมระบบลงทะเบียนร้านอาหารคู่รัฐวิสาหกิจชุมชนใช้กัญชาปรุงอาหาร คาดเปิดระบบ ก.พ.นี้
หลังจากราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 โดยใจความระบุถึงชิ้นส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ และสามารถนำมาประกองหรือปรุงอาหารได้ในเงื่อนไขที่กำหนดนั้น
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ในงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโภชนาการจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนิทรรศการจัดการเรียนการสอนกัญชาและกัญชงศึกษา และมีการสาธิตทำเมนูอาหารพาเพลินที่มีส่วนผสมของกัญชา อาทิ ข้าวกระเพรา แกงเขียวหวานเนื้อ หอยแมลงภู่อบพร้อมน้ำจิ้ม เค้กช็อกโกแลต และเครื่องดื่มกัญชา
ทั้งนี้ ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่า การนำใบกัญชามาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาหารนั้น เนื่องจากใบกัญชา ถือเป็นวัฒนธรรมคนไทยในการใช้เป็นเครื่องชูรสในอาหาร ไม่ได้กินแบบผักบุ้ง ผักคะน้า แต่จะใช้เพียง 2-3 ยอดเพื่อให้กินอาหารอร่อย กินข้าวได้ โดยอภัยภูเบศรได้สืบทอดวัฒนธรรมและนำมาเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร แต่ขณะเดียวกันสมัยโบราณยังไม่มีองค์ความรู้วิทยาศาสตร์มากนัก แต่ปัจจุบันเรามีความรู้ว่า กัญชาไทยมีสารเมา แม้ใบจะมีปริมาณสารเมาหรือ THC มากๆ แต่ก็ต้องมีข้อห้ามสำหรับบางกลุ่มในการบริโภคตรงนี้
โดยกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา มี 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี 2.ผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงให้นมบุตร 3.คนที่มีปัญหาตับไตบกพร่อง 4. ผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน 5.ผู้ป่วยใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท และ6.ผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกลุ่มเหล่านี้บริโภคได้ แต่ต้องบริโภคในปริมาณน้อยๆ แนะนำให้บริโภคไม่เกินวันละ 5 ใบ
“ที่ผ่านมามีงานวิจัยระบุว่าการกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา หากจะมีผลในเรื่องของสาร THC ที่ทำให้เกิดความเมานั้น ต้องกินระยะยาว แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ เช่นเวลาการปรุงอาหารด้วยน้ำมัน หรืออาหารทอด สารเหล่านี้จะออกมาก หรือการปรุงนาน แต่สาร THC ไม่มาก โดยมีต่ำกว่า 1% แต่ก็ขึ้นอยู่กับการปลูกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวัง ดังนั้น สิ่งแรกเราต้องคุมปริมาณการบริโภคโดยใน 1 จานต้องปรุงอาหารมากที่สุดไม่เกิน 5 ใบ อย่างที่ร้านของทางอภัยภูเบศร เราจะให้ความรู้ด้วยว่า จะมีการปรุงตั้งแต่ผสมใบกัญชาครึ่งใบ ไปจนถึง 5 ใบ แต่วันหนึ่งก็ไม่ควรกินเกิน 5 ใบ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเรา และเงื่อนไขนี้จะอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนปรุงอาหารกัญชาของทางอภัยภูเบศรด้วย” ภญ.ผกากรอง กล่าว
มีข้อสงสัยว่า หากรับประทานเกิน 5 ใบต่อวันจะส่งผลอย่างไร ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับบุคคล อย่างบางคนไวต่อฤทธิ์กัญชา อย่างบางคนไม่ถึงกับเมา แต่อาจรู้สึกตื๊อๆ ใจสั่น ซึ่งก็ให้หยุดรับประทาน โดยปกติการกินอาหารเข้าไปจะออกฤทธิ์ประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ในรายงานต่างประเทศอยู่ที่ 1-3 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อลูกค้ามาที่ร้านก็จะบอกว่า แบบไหนไม่ควรกิน หรืออาจสังเกตง่ายๆ ใครดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเมาง่ายก็ต้องหลีกเลี่ยง หรือเลือกทานเมนูที่มีส่วนผสมน้อยๆ
“ใครที่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาและรอจนถึงครึ่งชั่วโมง เริ่มมีอาการใจสั่น ก็ต้องหยุด และให้ดื่มน้ำมะนาว อย่างไรก็ตาม จึงต้องย้ำว่า 6 กลุ่มขอหลีกเลี่ยงการรับประทาน ซึ่งในร้านจะมีน้องๆแพทย์แผนไทยให้คำแนะนำ ทั้งนี้ขอย้ำว่า การจะปรุงอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชานั้น ยังมีเงื่อนไขตรงที่หากร้านอาหารไหนจะประกอบอาหารที่มีกัญชา จะต้องนำใบกัญชามาจากสถาบันหรือสถานที่ที่ผ่านการขออนุญาตก่อน ซึ่งขณะนี้สถาบันกัญชาทางการแพทย์กำลังจะจับคู่ร้านอาหารที่ต้องการทำ กับรัฐวิสาหกิจที่ปลูก โดยสถาบันกัญชาจะเป็นตัวกลาง ซึ่งเร็วๆนี้จะเปิดระบบให้ลงทะเบียนภายในเดือน ก.พ. 2564 นี้ และจะมีการอบรมหลักสูตรการสอนปรุงอาหารกัญชาเบื้องต้นหลักสูตรประมาณ 40 ชั่วโมง แต่อยู่ระหว่างจัดทำร่างนี้อยู่” ภญ.ผกากรอง กล่าว
การสำรวจร้านอาหารที่ต้องการปรุงนั้น หากเป็นร้านอาหารออนไลน์ทำได้หรือไม่ ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารที่เข้ามาจะต้องผ่านการอบรม
- 2654 views