กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยรายละเอียดความสำคัญ รพ.สนาม มีกลไกก่อนตั้ง ต้องทำความเข้าใจปชช.รอบข้าง มีความปลอดภัยต่อชุมชน
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการจัดตั้ง รพ.สนาม ว่า หลายคนสอบถามว่า รพ.สนามมีความสำคัญอย่างไรและปลอดภัยหรือไม่ ทั้งนี้ จากการลงไปทำงานในพื้นที่ ประเด็นสำคัญของ รพ.สนาม คือ 1.ต้องมีความปลอดภัย เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง ทั้งระบบตัวอาคาร ระบบจัดการน้ำเสีย การจัดการอากาศ ดูทิศทางการไหลของอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีการจัดโซนนิ่งให้ห่างจากพื้นที่ และ 2. โรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ 70-80% ไม่มีอาการ ถ้าคนไข้จำนวนมากแล้วไปอยู่ รพ.ปกติ จะทำให้เตียงที่เตรียมไว้รักษาคนในชุมชนจะไม่มีพื้นที่ บุคลากรต้องไปดูแล ระมัดระวังในห้องต่างๆ ทั้งผ่าตัด ไอ.ซี.ยู. ดังนั้น การเตรียม รพ.สนามและรับผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่โดยนำคนไข้มาอยู่ ทำให้ รพ.ปกติสามารถบริการต่อไปได้
นพ.ธเรศกล่าวว่า ขณะนี้มี รพ.สนามจัดตั้งแล้ว 8 แห่งใน 4-5 จังหวัด โดยสมุทรสาครจำเป็นต้องใช้มาก โดยทุกแห่งทำตามแนวทางความปลอดภัย ไม่มีปล่อยให้ติดเชื้อภายนอกหรือติดเชื้อไปสู่ชุมชน และเริ่มได้รับการติดต่อภาคเอกชนหลายรายและหลายจังหวัดเพื่อสนับสนุนพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้ การจัดตั้ง รพ.สนามจะมีกลไกทำความเข้าใจประชาชนผ่านกลไก อสม. ว่า รพ.สนามจะเป็นส่วนที่เตรียมการไว้หากเกิดมีผู้ป่วยจำนวนมากๆ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่จำเป็นก็ไม่จำเป็นต้องจัดตั้ง จริงๆ คนไทยมีจิตใจอยากให้ผู้ป่วยมีที่พัก จึงไม่อยากให้เข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วไปต่อต้าน ขอฝากว่าการจัดตั้ง รพ.สนามก็เป็นการทำบุญ ไม่ต้องบริจาคของ แต่ช่วยกันทำความเข้าใจความจำเป็นของ รพ.สนาม
ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า เราต้องการ รพ.สนามเพื่อให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในการควบคุมไม่แพร่เชื้อสู่ชุมชน ดังนั้น ระบบของ รพ.สนามต้องปลอดภัยต่อชุมชน จึงเป็นที่มาของทีมคณะทำงาน สบส. ได้หารือผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบาดวิทยาและด้านการแพทย์ กำหนดแนวทางจัดตั้ง รพ.สนามเพื่อความปลอดภัยต่อชุมชนและประชาชน โดยหลักๆ มี 4 เรื่อง คือ 1. การสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ รพ.สนาม โดยมีส่วนร่วม โดยมีการให้ข้อมูลสื่อสารกับคนในชุมชนผ่านกลไกประชาคม ท้องถิ่น และ อสม. หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถาม อสม. หรือ รพ.สต.ได้ ยืนยันว่าเรามีสื่อสารกัน ไม่ปกปิดข้อมูล และจะทำให้มีความปลอดภัย หรือร่วมแจ้งว่ามีเหตุอะไรที่จะไม่ปลอดภัย เพื่อจะได้ตรวจสอบหากเป็นจริงจะได้แก้ไขไม่ให้เชื้อออกมาสู่ชุมชน
2. อาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อม จุดที่ตั้งโดยหลักมีสถานที่ 5 แห่ง คือ ที่โล่งว่างเปล่า มีความเหมาะสมห่างไกลชุมชน , โรงยิม หอประชุม สนามกีฬาที่ห่างไกลจากชุมชน ภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์ว่าระยะ 10-20 เมตรตามข้อกำหนด , พื้นที่โล่งใน รพ. , อาคารหอผู้ป่วยที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ และกรณีสถานกักกันของรัฐทางเลือกที่เปลี่ยนแปลงเป็น รพ.สนามลักษณะโรงแรม สำหรับรูปแบบของ รพ.สนาม เรามีการออกแบบกลางเพื่อให้นำไปปรับใช้ โดยแบ่งเป็น โซนสีเหลืองสำหรับคนไข้ ส่วนสีเขียวของเจ้าหน้าที่ และโซนสีส้มคือกระบวนการห้องน้ำ และขยะติดเชื้อ ซึ่งส่วนสีส้มที่คนกังวลนั้น ทางสถาปนิกและวิศวกรมีการออกแบบให้มีระบบท่อบำบัดที่จะไม่ไปยุ่งกับท่อน้ำเสียของสถานที่นั้นๆ โดยจะมีการใส่คลอรีนและน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบำบัด และจะทดสอบน้ำละแวกใกล้เคียงว่ามีเชื้อโควิด 19 ภายในของชุมชนหรือไม่
"ส่วนสีเขียวนั้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีชั้นในการเข้า 2-3 ชั้น เมื่อเข้าไปในโซนผู้ป่วยสีเหลือง เมื่อกลับออกมาก็ต้องอาบน้ำ ถอดชุดเพื่อไม่ให้เชื้อติดเข้ามาในส่วนปฏิบัติงานสีเขียว และคนไข้หายแล้วที่จะกลับบ้าน ก็ต้องออกจากโซนสีเหลืองมายังกล่องสีแดงเล็กๆ เพื่อถอดเสื้อผ้าอาบน้ำ ไม่เอาเสื้อผ้าที่มีเชื้อเปื้อนกลับไปสู่ชุมชน นี่คือสิ่งที่ สธ.ออกแบบ โดยผ่านความเห็นทั้ง สบส. กรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรคร่วมกัน ด้านสถานที่สิ่งแวดล้อมยังมีเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย น้ำดี น้ำเสีย" นพ.สามารถกล่าว
3.ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้ง รพ.สนามให้เฉพาะกรณีโรคโควิด 19 เท่านั้น ที่รับการยกเว้นจากพ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะเป็นอนุญาตให้เกิดขึ้น โดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเห็นชอบเป็นผู้เลือกสถานที่ ถือว่าทำตามถูกกฎหมาย และ 4.การรักษาพยาบาล กรมการแพทย์ทำแนวทางและปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อให้คนป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยปลอดภัยที่สุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีรถเอกซเรย์เข้าไปดูหรือรับส่งต่อได้ ยืนยันว่า รพ.สนามมีความปลอดภัย หากเห็นแล้วไม่เข้าใจสามารถสอบถามได้
- 169 views