หนึ่งในหลายๆเรื่องเกี่ยวกับการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการส่งมาให้ cofact.org ตรวจสอบ และพบว่าเป็นข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำคือประเด็นการยืนตากแดดจะสามารถฆ่าเชื้อได้

28 มี.ค.2563 เป็นครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูลว่าการยืนตากแดดสามารถช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ โดยมีคนแสดงความคิดเห็นว่า อยากให้มีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาตากแดดตอนเช้า เพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโรคเหมือนนักเรียนสมัยก่อน เพราะเชื่อว่าเชื้อโรคชอบความเย็นมากกว่าความร้อน

ซึ่งครั้งนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมายืนยันว่า การยืนตากแดดไม่สามารถช่วยให้ต้านเชื้อโควิด-19 ได้จริง

กระทั่ง 13 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ประเด็นนี้ถูกนำมาแชร์ในโลกออนไลน์อีกครั้งหนึ่ง โดยระบุว่ายืนตากแดด วันละ 20 นาทีช่วยฆ่าเชื้อ โควิด-19 ได้ คราวนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันอีกรอบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ

กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า กรณีชวนเชื่อเคล็ดลับฆ่าเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่าให้แสงแดดชโลมทั่วตัววันละ 20 นาทีทุกวัน (หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้) แสงแดดจะไปเสริมภูมิคุ้มกันฆ่าเชื้อโควิด-19 ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการยืนตากแดดนั้นสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเชื้อไวรัสตระกูลโควิด-19 นั้นสามารถทนทานต่อความร้อนได้ถึง 90 องศา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความร้อนจากแสงแดดนั้น มีความร้อนไม่ถึง 90 องศาแน่นอน

 

แม้จะมีการยืนยันจากกรมควบคุมโรคแล้ว แต่ในเวลาไม่ถึงเดือน วันที่ 5 ม.ค. 2564 ก็มีการนำประเด็นนี้มาแชร์ซ้ำอีกในสื่อโซเชียลมีเดีย ด้วยข้อความเดิมๆว่า ให้ยืนตากแดด วันละ 20 นาทีจะช่วยฆ่าโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้กรมควบคุมโรคให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแชร์ต่อ โดยระบุว่ามีข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้า พบว่าไวรัสชนิดนี้จะตายเมื่อโดนความร้อนที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานต่อเนื่อง 30 นาที ซึ่งแสงแดดไม่สามารถทำให้เกิดความร้อนในระดับนี้ได้

อีกทั้งผิวหนังของมนุษย์ก็ไม่สามารถทนทานต่อความร้อนและแสงแดดได้นานเช่นกัน ดังนั้น การตากแดดหรืออาบแดดจึงไม่สามารถรักษาและฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ โดยความร้อนจากแสงแดดนั้น มีไม่ถึง 90 องศาแน่นอน

สรุปการแชร์บนโลกออนไลน์ซ้ำๆ ในประเด็นยืนตากแดด เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการยืนตากแดดนั้นสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเชื้อไวรัสตระกูลโควิด-19 นั้นสามารถทนทานต่อความร้อนได้ถึง 90 องศา แต่ความร้อนจากแสงแดดนั้นไม่ถึง 90 องศา

 

หมายเหตุ : ภาพจากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1415