สถานการณ์แพร่ระยาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีมูลความจริงทำให้เกิดความเข้าใจผิดในประเด็นเดิมมๆ ก็ยังคงวนกลับมาให้เห็นซ้ำอีก

 

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีผู้แจ้งข้อมูลเพื่อตรวจสอบข่าวลวงมายัง www.cofact.org กรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่าเนื้อดิบมีสรรพคุณเป็นยาป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้  โดยผลการตรวจสอบได้ข้อสรุปว่าเป็นข่าวลวง เพราะไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยันแน่ชัดว่าการรับประทานเนื้อดิบจะสามารถช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ อีกทั้งการรับประทานเนื้อดิบอาจมีผลทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ

 

ข่าวลวงเรื่องเนื้อดิบป้องกันรักษาโควิด-19 นั้นเคยถูกเผยแพร่ออกมาครั้งแรกช่วงที่ประเทศไทยพบการระบาดเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2563 (ปีที่แล้ว)

 

โดยทางเพจสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกมีคำเตือน ให้งดกินของดิบ ปลาดิบชั่วคราว เพราะนอกจากจะไม่ช่วยรักษาหรือป้องกันไวรัสโควิด-19 แล้วยังสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ติดไวรัสโควิด-19 อีกด้วย ทั้งนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ทนความร้อนสามารถถูกทำลายได้ด้วยการประกอบอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส

 

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นนิยมรับประทานปลาดิบเป็นจำนวนมาก ทางเพจสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงทำการโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำผู้นิยมกินของดิบ เช่น ปลาดิบ ซาเซมิ ให้หลีกเลี่ยงชั่วคราว เนื่องจากสุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีข้อความเตือน ดังนี้

 

เชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ทนความร้อน และถูกทำลายได้ด้วยวิธีการประกอบอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส

องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้ 1)หลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ที่ดิบหรือปรุงไม่สุก

และ(2) จัดการกับเนื้อสัตว์ดิบ นมดิบ หรืออวัยวะของสัตว์ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเข้าสู่ผลิตภัณฑ์อาหารที่รับประทานสด

 

ญี่ปุ่นมีการรับประทานปลาดิบ เนื้อสดกันเยอะ ช่วงนี้เลี่ยงการรับประทานปลาดิบ เนื้อสด ของดิบไปก่อน

 

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความไขข้อสงสัยเรื่องการรับประทานอาหารทะเลในช่วงที่โควิดระบาด

 

โดยระบุว่า อาหารทะเลโดยมากจะต้องทำความเย็นหรือแช่แข็งเพื่อให้คงคุณภาพได้ดี ถ้าชาวประมง ผู้ขาย มีการติดเชื้อโควิด-19 โอกาสที่จะเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลและไวรัสคงชีวิตอยู่ได้นาน จึงมีความเป็นไปได้ ที่จะตรวจพบไวรัสในอาหารทะเลแช่เย็น เช่นการตรวจพบในปลาแซลมอน กุ้งนำเข้าในประเทศจีน

 

การติดต่อของโรคโควิด-19 ผ่านทางอาหารทะเล มีการตั้งข้อสงสัยในประเทศจีน อย่างไรก็ตามอาหารทะเลสามารถบริโภคได้ถ้าปรุงสุก ความร้อนสามารถทำลายไวรัสได้อย่างแน่นอน โควิด-19 สามารถทำลายด้วยความร้อน 56 องศานานครึ่งชั่วโมง และถ้าความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาก็จะสั้นลง โดยทั่วไปแล้วถ้าความร้อนสูงกว่า 85 องศา ก็จะมั่นใจในการทำลายไวรัสได้ และถ้าต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาไวรัสจะถูกทำลายทันที

 

ในช่วงที่มีการระบาดของโรคจึงไม่ควรรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่สุก สิ่งที่จะต้องคำนึงคือการจับต้องกับอาหารทะเล ที่แช่เย็นมา จะต้องล้างมือให้สะอาด และชำระล้างอาหารทะเล โดยใช้น้ำสะอาดให้มีปริมาณมากพอ และจะต้องทำความสะอาดมือด้วยสบู่ ถ้าเป็นไปได้ควรใส่ถุงมือและล้างถุงมือ หรือใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทุกครั้งต้องล้างมือก่อนจับต้องใบหน้า

 

ในระบบนำส่งอาหารทะเล ก็จะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลเรื่องความสะอาด ตลอดเส้นทาง

 

อุตสาหกรรมอาหารทะเล โรงงาน จะต้องหมั่นตรวจดูคนงาน และอาจจำเป็นต้องสุ่มตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งอาจไม่มีอาการของโรค

 

อาหารทะเลยังคงรับประทานได้ตามปกติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากโดยเฉพาะ ปลาทะเล แต่ขั้นตอนตั้งแต่ผลิตหรือจับมาจากชาวประมง จำหน่าย การเตรียมมาทำอาหาร ทุกขั้นตอนให้คำนึงเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย ในการจับต้องกับอาหารทะเลแช่เย็นหรือแช่แข็ง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อดิบ ปลาดิบ อาหารทะเลดิบ นอกจากจะไม่สามารถช่วยป้องกันรักษาไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นพยาธใบไม้ในตับอีกด้วย

 

หมายเหตุ : ภาพจาก https://www.thaihealth.or.th/