เตือนภัย คนกรุงเทพที่สูบบุหรี่ ได้รับ PM 2.5 ระดับอันตรายทุกวัน เฉลี่ยวันละ 220 มคก./ลบ.ม. มากกว่าคนไม่สูบที่ได้รับ PM 2.5 เพียง วันละ 23 มคก./ลบ.ม.
ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข้อมูลสุดอันตรายสำหรับคนที่สูบบุหรี่ ที่พบว่า ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ 1.16 ล้านคน เฉลี่ยสูบคนละ 10 มวนต่อวัน โดยเฉลี่ยแล้วคนกลุ่มนี้จะได้รับ PM 2.5 จากการสูบบุหรี่ในจำนวนที่เท่ากับ 220 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ทุกวัน ซึ่งจะเป็นการได้รับฝุ่น PM 2.5 มากกว่าคนกรุงเทพฯ ที่ไม่สูบบุหรี่ที่มีกว่า 5 ล้านคน ที่จะได้รับ PM 2.5 เฉลี่ย 23 มคก./ลบ.ม. ซึ่งหมายความว่า คนกรุงเทพฯ ที่สูบบุหรี่ รวมแล้วจะได้รับฝุ่น PM 2.5 ในระดับที่เท่ากับ 243 มคก./ลบ.ม. ทุกวัน ซึ่ง ระดับ PM 2.5 ที่สูงกว่า 91 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป มีผลกระทบต่อสุขภาพมากตามประกาศของกรมอนามัย ขณะที่ PM 2.5 ระดับที่ 26-37 มคก/ลบ.ม. ส่งผลเสียต่อสุขภาพเล็กน้อยถึงปานกลาง ระดับ 38- 50 มคก./ลบ.ม. มีผลต่อสุขภาพปานกลาง โดยเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยง ระดับ 51-90 มคก./ลบ.ม. มีผลต่อสุขภาพค่อนข้างมาก
“นักวิชาการคำนวณว่า การสูบบุหรี่หนึ่งมวน จะได้รับ PM 2.5 เท่ากับ 22 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเท่ากับว่าคนกรุงเทพฯ ทุกคน ทั้งที่สูบบุหรี่และไม่สูบ จะได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณเท่ากับการสูบบุหรี่ หนึ่งมวนต่อวัน ทุก ๆ วันตลอดปี สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า แม้ยังไม่มีรายงานระดับ PM 2.5 ที่ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเองได้รับ แต่องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ระดับ PM 2.5 ในควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้า สูงมากกว่าค่าธรรมดาในอากาศ 6-86 เท่า และระดับ PM 1.0 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า มีระดับสูงกว่าในอากาศธรรมดา 14-40 เท่า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าทุกคน ให้เลิกสูบ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 จะเกินมาตรฐาน หรือไม่ก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ จากการสูบบุหรี่ ที่ครึ่งหนึ่งของคนที่ไม่เลิก จะป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาจากการสูบบุหรี่ “การได้รับฝุ่นพิษ PM 2.5 จากอากาศไม่ดี เป็นปัญหาที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของทุกคน แต่การได้รับฝุ่นพิษจากการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า และการได้รับควันบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ที่ผู้อื่นสูบ เป็นเรื่องที่ทุกคนจะควบคุมได้ โดยการไม่สูบบุหรี่ หรือไม่อยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า
อ้างอิง
Richard A. Muller and Elizabeth A. Muller. Air Pollution and Cigarette Equivalence http://berkeleyearth.org/archive/air-pollution-and-cigarette-equivalence/
WHO, 2016. Electronic Nicotine Delivery Systems and Electronic Non-Nicotine Delivery Systems (ENDS/ENNDS) https://www.who.int/fctc/cop/cop7/FCTC_COP_7_11_EN.pdf
กราอนามัย, 2561. ประกาศกรมอนามัย เรื่องเฝ้าค่าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ
http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/surveillance/document/announcement%20pm2.5.pdf
- 36 views