ตัวแทนนักวิชาการสาธารณสุข-พยาบาล จบปี 63ปฏิบัติงานโควิดทั่วประเทศ โดยเฉพาะชายแดนด่านธรรมชาติ ขอความเห็นใจนายกฯ- ผู้บริหารสธ. ได้สิทธิบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด เหตุยังไม่ได้อีก 4,437 คน
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ตัวแทนวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร นำโดยนายริซกี สาร๊ะ โฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องขอให้บรรจุข้าราชการสายงานนักวิชาการสาธารณสุขที่สำเร็จการศึกษาปี 2563
นายริซกี กล่าวว่า วันนี้(16 ธ.ค.) ทางชมรมนักวิชาการสาธารณสุขผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 และปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ได้เดินทางมาเพื่อขอความเห็นใจต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข โดยนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. เป็นผู้มารับเรื่อง และได้ทำสำเนายื่นหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และสถาบันพระบรมราชชนก สืบเนื่องจากมติครม.ในการบรรจุข้าราชการที่ปฏิบัติงานโควิด-19 กว่า 3 หมื่นตำแหน่งนั้น ซึ่งในส่วนนักวิชาการสาธารณสุขที่จบการศึกษาปี 2563 เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มติครม.ให้บรรจุได้ โดยอยู่ใน 4 สายงานจาก 24 สายงาน คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ในส่วนแพทย์ ทันตแพทย์ที่จบปี 2563 ได้บรรจุแล้ว แต่นักวิชาการสาธารณสุข และพยาบาลที่จบการศึกษาปี 2563 โดยนักวิชาการสาธารณสุขมี 647 คน ส่วนพยาบาลอีก 3,790 คน ยังไม่ได้รับการบรรจุ เนื่องจากต้องรอ คปร.ไปดูแผนกำลังคน
“เกี่ยวกับเรื่องนี้น้องๆนักวิชาการสาธารณสุข กังวลว่ามติครม.จะมีอายุเพียง 1 ปีหรือไม่นั้น แต่ทางท่านสุระ บอกว่าอายุ 1 ปีเฉพาะการบรรจุ 3 หมื่นกว่าตำแหน่ง แต่กลุ่มนี้ต้องต้องรอการพิจารณาจาก ก.พ. คปร. ว่าจะอนุมัติอย่างไร รูปแบบยังไม่ชัดเจน ต้องรอก่อน แต่คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2564 ส่วนจะต้องมาสอบเพื่อเข้าบรรจุใหม่หรือไม่ ต้องรอหลักเกณฑ์ แต่ก็เสนอว่า หากต้องสอบจริงๆ ขอเป็นการสอบภายในได้หรือไม่ แต่อยากขอให้เข้าเงื่อนไขเหมือนรุ่นพี่ๆก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นน้องๆสบายใจว่าไม่มีผลต่ออายุการบรรจุ แต่ก็ต้องมารอลุ้นหลักเกณฑ์การบรรจุของกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร แล้วจะมีความชัดเจนเมื่อไหร่” นายริซกี กล่าว
นายรัฐพงษ์ มุลน้อยสุ ประธานชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 และปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ปฏิบัติงานจ.สกลนคร กล่าวว่า พวกตนเป็นตัวแทนของบุคลากรที่จบการศึกษาในปี 2563 ซึ่งเป็นนักเรียนทุนของแต่ละจังหวัดมาศึกษาที่สถาบันพระบรมราชชนก และได้เข้าทำงานตามโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ตามชายแดนต่างๆ ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ยะลา บุรีรัมย์ ฯลฯ โดยตั้งแต่มีโควิด พวกตนก็ทำงานลงพื้นที่ตามหมู่บ้าน ตามชายแดนต่างๆ ต้องไปคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย จนทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่เช่นเดิม ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน
น.ส.กัลย์สุดา จุฬารมย์ เลขาฯชมรมฯ ปฏิบัติงานจ.สกลนคร กล่าวว่า ตั้งแต่จบปี 2563 เมื่อมีโควิดก็ได้รับหน้าที่ทำงานหลายอย่าง แม้คำสั่งจะชัดเจนหรือไม่ เราก็ลงไปทำงานตามพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งกลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งกลุ่มที่อยู่ในชุมชน ต้องไปคัดกรองเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดว่า มีใครเข้าข่ายสงสัยหรือไม่ และยังได้ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ยื่นหนังสือไปแล้วก็ต้องรอการดำเนินการตามขั้นตอน แต่หากหลังปีใหม่ 2564 แล้ว จะขออนุญาตติดตามขั้นตอนว่า ความคืบหน้าเป็นอย่างไร
น.ส.สุปรียา อติชาติ เลขาฯชมรมฯ ปฏิบัติงานจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พวกตนยังต้องปฏิบัติงานคัดกรองโรคโควิดอยู่เสมอ ยิ่งตามชายแดนด่านธรรมชาติก็ยังต้องปฏิบัติไปตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทย อย่างเพื่อนที่ทำงานอ.แม่สาย จ.เชียงราย ก็ยังต้องลงพื้นที่จริง ใส่ชุด PPE ลงทำงาน ส่วนเชียงใหม่ก็ปฏิบัติงานในการป้องกัน มีการคัดกรองเช่นกัน ขณะที่จังหวัดอื่นๆก็ปฏิบัติงานโควิด มีความเสี่ยงทั้งหมด ดังนั้น จากการปฏิบัติงานความเสี่ยงที่ได้รับก็อยากขอความอนุเคราะห์ให้ได้รับสิทธิในการบรรจุเช่นกัน
- 6745 views