อีกความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับการใช้เภสัชพันธุศาสตร์ ตรวจยีนป้องกันการแพ้ยา เน้นแนวทางการใช้ยาสมเหตุผล
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลของประเทศกำลังพัฒนา พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ใช้ยาไม่เหมาะสม ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านยา สูงถึงร้อยละ 10-40 ของงบประมาณสุขภาพของประเทศทั่วโลก และในประเทศไทยมูลค่าการบริโภคยาเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีถึงร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงจากความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยา มีปัญหาเชื้อดื้อยา และการสูญเสียในวงกว้างทั้งกับผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศโดยรวม การกำหนดนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพื่อให้การใช้ยาเกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด และได้มีการนำเอาเภสัชพันธุศาสตร์ หรือศาสตร์ในการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการใช้ยา
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดแถลงข่าว "เภสัชพันธุศาสตร์กับแนวปฏิบัติการตรวจพันธุกรรม สู่การพัฒนาระบบสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย มีความปลอดภัยในการรักษา อีกหนึ่งแนวทางการใช้ยาสมเหตุผล และส่งเสริมระบบสุขภาพยั่งยืน" ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการใช้ยาสมเหตุผลในประเทศไทย ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เภสัชพันธุศาสตร์เป็นอีกมิติของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ซึ่งการดำเนินงานนี้ต้องพร้อมสมบูรณ์ต่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับปฏิบัติการในสถานพยาบาลและบรรจุอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งผู้ปฏิบัติงาน คือ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้กำหนดนโยบายที่เห็นความสำคัญและสนับสนุนให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิประโยชน์
"Rational Drug Use (RDU) เป็นหัวใจของระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพของประเทศ การใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผลทำให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่าย และมีผลต่อสุขภาพของประชาชน การรณรงค์เรื่องนี้มีมาเรื่อย ๆ หลังจากนี้ต้องดูว่าการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ที่ตรวจไปแล้วจำนวนมาก มียีนแพ้ยาอยู่กี่ราย ผลที่มีทำให้ลด Stevens-Johnson syndrome (SJS) ไปเท่าไร ลดการสูญเสียเป็นตัวเงินไปเท่าไร ลดความสูญเสียสุขภาพ หรือครอบครัวที่ต้องสูญเสียไปกับคนที่แพ้ยาไปเท่าไร เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ทำมานั้นถูกต้องหรือยืนยันไปอีกว่า ต้องทำให้มากขึ้น จึงต้องติดตามและเดินต่อ อย่างไรก็ตาม การเกิดโควิดที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมาก เพียงแค่แต่ละหน่วยงานไม่ได้รวมกัน พอมีโควิดจะเห็นว่า ทุกอย่างรวมกันได้ในช่วงโควิด จึงอยากให้การประชุมครั้งนี้มีการรวมตัวกัน ส่งให้หน่วยงานนำไปดำเนินการต่อ และทำให้ผลที่ได้นั้นเกิดประโยชน์จริง ๆ" ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร
ขณะที่ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ปัญหาการแพ้ยารุนแรงจากการใช้ยา allopurinol รักษาผู้ป่วยโรคเก๊าท์และยา carbamazepine ซึ่งเป็นยากลุ่มกันชัก ทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานจากภาวะแทรกซ้อน บางรายตาบอด และเสียชีวิต หลังจากออกจากโรงพยาบาลยังคงต้องมีการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง มีผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก แม้ว่าผู้ป่วยที่เกิดผื่นแพ้ยารุนแรงจะมีจำนวนไม่มาก แต่อันตรายของผู้ที่แพ้ยานั้นรุนแรง ทั้งนี้ ในแง่ของการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเหมาะต่อยา หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ยาและเกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งการตรวจตัวบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการทำให้เห็นการตอบสนองหรือไม่ตอบสนองต่อประสิทธิภาพของยา ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีประสิทธิภาพที่สุดในแต่ละราย ลดความเจ็บป่วย ลดการเสียชีวิตจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และกำหนดขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมได้
"ปัจจุบันประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ในการเบิกจ่ายค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการการตรวจยีน HLA-B*15:02 ในสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในอัตรา 1,000 บาท/คน การตรวจยีนจะป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรงชนิด SJS/TEN จากยา carbamazepine ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก และอาการปวดปลายประสาท เนื่องจากผู้ป่วยที่มียีนดังกล่าว จะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรง (SJS หรือ TEN) ได้มากกว่าคนที่ไม่มียีนนี้ 55 เท่า และยังมีสิทธิประโยชน์ในการตรวจยีน HLA-B*58:01 เพื่อป้องกันการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงจากยา allopurinol หรือยาลดการสร้างกรดยูริค ที่ส่วนใหญ่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ซึ่งเบิกจ่ายการตรวจได้เฉพาะสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในอัตรา 1,000 บาท/คน แต่ในเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการตรวจยีนแพ้ยาลดกรดยูริค หรือ HLA-B*58:01 ก่อนให้ยา allopurinol ในผู้ป่วยโรคเก๊าท์รายใหม่แล้วเช่นกัน" นพ.นพพร เพิ่มเติม
ด้าน รศ.ดร.ภก.ปราโมทย์ ตระกูลเพียรกิจ หัวหน้าโครงการวิจัยเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการใช้ยาสมเหตุผลในประเทศไทย คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เพิ่มเติมว่า ทีมวิจัยได้เลือกคู่ยีนยา ได้แก่ 1) ยีน HLA-B*15:02 และยา carbamazepine ใช้ในการรักษาโรคลมชัก และอาการปวดปลายประสาท และ 2) ยีน HLA-B*58:01 และยา allopurinol ใช้ในการรักษาโรคเก๊าท์ ขึ้นมาจัดทำแนวทางปฏิบัติก่อน เพราะคู่ยีนยาทั้งสองนี้มีข้อมูลสนับสนุนทางคลินิกและเศรษฐศาสตร์ที่เพียงพอต่อการสรุปเป็นคำแนะนำในทางปฏิบัติได้ในทันที รวมทั้งทางสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ยังได้ให้ความสำคัญกับการตรวจยีนทั้ง 2 เนื่องจากมีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าการตรวจพบยีนดังกล่าวสามารถทำนายถึงความเสี่ยงต่อการแพ้ยารุนแรงได้ สำหรับการขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติทางเภสัชพันธุศาสตร์ ทีมวิจัยได้ร่วมกับเครือข่ายภาคี ผลักดันแนวทางปฏิบัติทางเภสัชพันธุศาสตร์ให้ไปสู่การปฏิบัติผ่านระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้โรงพยาบาลมีระบบในการส่งตรวจยีน มีจัดการฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อรองรับการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติงานที่ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากกองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างต่อเนื่อง
การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการแพ้ก่อนเริ่มใช้ยา เกิดแนวทางการจัดการรักษาอย่างชัดเจน ลดอัตราการเจ็บป่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้มีความปลอดภัยในการรักษามากยิ่งขึ้น
- 541 views