ตลอดทั้งปีที่ผ่านมานอกจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักกับโรคอุบัติใหม่ซี่งสามารถติดต่อจากคนสู่คนไปอย่างรวดเร็ว สถานการณ์แพร่ระบาด และมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้เกิดข้อสงสัย ความไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้การส่งต่อ หรือเผยแพร่ข้อมูลเรื่องโควิด-19 กลายเป็นการเผยแพร่ “ข่าวปลอม” หรือ Fake news (เฟคนิวส์) มากขึ้น จากการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ส่งต่อกันไปบนโลกออนไลน์
ช่วงวิกฤต”ล็อคดาวน์” ที่ผ่านมา ทำให้ข่าวปลอม-ข่าวลวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ กลายมาเป็นวิธีสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนได้ง่ายและเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในสังคมสามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริงจึงมีความสำคัญอย่างมากในการ “ชัวร์ก่อนแชร์”
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการโคแฟค (Cofact) เพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ที่ได้รับการส่งต่อ รวมถึงประเด็นคำถามทั่วไปในสังคมที่ประชาชนให้ความสนใจแล้วนำไปหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือเกี่ยวข้องคัดกรองว่าเรื่องไหนเป็นข่าวจริง-ข่าวลวง โดยเผยแพร่บนเพจ Cofact โคแฟค ,เว็บไซต์ cofact.org และแพลตฟอร์มต่างๆ กล่าวถึงปรากฏการณ์ข่าวลวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในประเทศไทยปีนี้ แยกเป็น 3 ประเภท
1.ความสับสนของประชาชนช่วงที่โควิด-19 เริ่มเข้ามาแรกๆ ว่าข้อมูลไหนเป็นข่าวลวง และลวงต่อมาบางครั้งก็อาจกลายเป็นข่าวจริง เนื่องมาจากรัฐบาลรับมือกับการแพร่ระบาดช้าไม่ทันกับสถานการณ์
“จนในที่สุดพอเริ่มมีผู้ติดเชื้อ มีอะไรขึ้นมารัฐก็สั่งปิดห้างสรรพสินค้า ปิดจังหวัด มีการทำอินโฟกราฟฟิคส่งต่อๆ กันไป รวมถึงจังหวัดที่จะมีมาตรการล็อคดาวน์ เมื่อพบเคสผู้ติดเชื้อในช่วงแรกรัฐไม่ชัดเจน ประชาชนเลยอลหม่านกับข้อมูลที่ได้รับ สับสนว่าขณะนี้มาตรการล็อคดาวน์ในพื้นที่อยู่ในเฟสที่เท่าไร เป็นสถานการณ์ที่รัฐบริหารจนเกิด Information disorder (ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร) ทั้งๆ ที่สามารถแถลงผ่านสื่อของรัฐได้ การสื่อสารข้อมูลข่าวสารจากรัฐไม่ชัดเจน จนต่อมาถึงได้มีการตั้ง ศบค. รัฐต้องประกาศชัดถ้อยชัดคำด้วยการใช้สื่อของรัฐให้เป็นประโยชน์”
2.ข่าวลือผสมกับความคิดความเชื่อเรื่องสมุนไพรของแพทย์แผนไทยว่าสามารถรักษาได้ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับความเชื่อว่าสมุนไพรรักษามะเร็งได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข่าวลวง
“แม้ว่าการใช้สมุนไพรบางชนิดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าอาการดีขึ้น ซึ่งสมุนไพรสามารถช่วยได้เพียงบางส่วนควรรักษาควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบันด้วย พอได้มาทำโคแฟค เราก็พยายามที่จะถ่วงดุล ได้เชิญแพทย์ทางเลือกมาจัดเวทีพูดคุยกัน ก็ต้องยอมรับว่าสมุนไพรไทยรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางชนิดได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ทำให้การตรวจสอบข่าวเรื่องนี้เราใช้คำว่าจริงบางส่วน”
“ข่าวที่ชาวบ้านนับถือปลัดขิกเชื่อว่าสามารถป้องกันโควิดได้ต้องถือว่าเป็นข่าวแห่งปีเลย หรือการแขวนกระเทียมไว้หน้าบ้านจะไม่ติดเชื้อโควิด โดยส่วนตัวแล้วมองว่าคนไทยเองยังไม่ได้เชื่อขนาดนั้น อาจจะเชื่อปลัดขิกเพราะแขวนแล้วสบายใจ คงเป็นการทำอะไรให้ขำๆ มากกว่า แต่การเชื่อในสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ปัญหาที่ต้องระวังเหมือนกับคนที่นำพวกอาหารเสริมต่างๆ มาหลอกขายของ อย่าสุดโต่งกับสมุนไพรมากเกินไป”
3.นโยบายสาธารณะที่รัฐบาลนำโครงการต่างๆ มาช่วยเหลือประชาชนจนคนสับสนกับข้อมูลที่ต้องลงทะเบียน ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างเว็บหลอกลวง คนสับสนในข้อมูลว่าโครงการไหนต้องลงทะเบียนอย่างไร เมื่อไหร่ พอจะลงทะเบียนใช้สิทธินั้นก็ต้องกรอกข้อมูลอีก หรือแม้แต่การต่อเฟส 2 รัฐจ่ายเงินสนับสนุนอีก 500 บาทต้องลงทะเบียนอย่างไร เป็นมาตรการชดเชยเยอะมากไป ซึ่งน่าจะทำเป็น one stop service รวบรวมข้อมูลไว้ในที่เดียวเพื่อให้ประชาชนสะดวกในการสอบถามและเข้าถึง
(สุภิญญา กลางณรงค์)
สุภิญญา กล่าวอีกว่า ข่าวปลอมที่ถูกนำมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ มี 2 ประเภทคือ Misinformation (ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง) กับ Disinformation (การบิดเบือนข้อมูล) ซี่งดูว่าเป็นการกระทำที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมใช้คือแอพพลิเคชั่นไลน์ เพราะฉะนั้นข่าวปลอมจึงสามารถเข้าถึงคนรับสารได้ง่ายและเร็วกว่าข่าวจริง
“คนไทยมักจะส่งต่อข้อมูลและรูปภาพโดยใช้ไลน์ซึ่งเป็นกลุ่มปิด บางคนก็อยากส่งด้วยความปรารถนาดีกับคนอื่นในกลุ่ม เรียกว่า Misinformation คือการส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาด ในขณะที่ Disinformation เป็นการจงใจบิดเบือนข้อมูล คนเหล่านี้บางคนมีสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิค บางคนเป็น UGC (User Generated Content ) ที่สร้างคอนเทนท์แต่งรูปได้เอง มี 2 วัตุประสงค์ คือ ทำอินโฟกราฟิคเพื่อใช้ในการขายของ เครื่องสำอาง หรือทำธุรกิจ”
อีกวัตถุประสงค์ต้องการสร้างความวุ่นวาย เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งข้อมูลที่ทางต่างประเทศรวบรวมพบว่าไทยมีการใช้แพลตฟอร์มทวิตเตอร์ส่งข้อมูลในจำนวนที่มากเป็นอันดับต้นๆ หรือที่เราเรียกกันว่า IO (information operation) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ หรือ บอท (BOT) เป็นผู้นำเข้าข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นขบวนการปล่อยข่าวปลอม
“เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะใช้แพลตฟอร์มไลน์ในการรับส่งข้อมูล ในขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ เริ่มหันไปนิยมใช้ทวิตเตอร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยเรามีวัฒนธรรมความเกรงใจผู้ใหญ่ เมื่อเห็นว่าผู้ใหญ่ส่งข่าวปลอมมาในไลน์เรามักจะอ่านเฉยๆ ไม่โต้แย้งว่าเป็นข่าวปลอมเพราะไม่อยากให้น้อยใจ หรือบางคนก็ส่งสติ๊กเกอร์กลับไป ยิ่งทำให้คนส่งรู้สึกมีกำลังใจเพิ่มขึ้นอีก ไลน์จึงเป็นแหล่งน้ำขังของข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ ทางโคแฟคจึงมีแชทบอทในไลน์ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาตรวจสอบข่าวปลอมด้วยตัวเอง โดยผู้สูงอายุเองก็สามารถใช้ได้งาน ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องไปเปิดกูเกิ้ล แต่ในเบื้องต้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าข่าวนั้นจริงหรือปลอมก็อยากแนะนำให้สังเกตก่อนว่าถ้าข่าวนั้นถูกส่งมาลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน และไม่มีโทรทัศน์กับสื่อกระแสหลักเอาข่าวนั้นมานำเสนอ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นข่าวปลอม อย่าเพิ่งแชร์”
นอกจากนี้ สุภิญญา ยังวิเคราะห์แนวโน้มปรากฏการณ์ข่าวปลอมในปีหน้า 2564 ว่าข่าวซ้ำๆ ที่เคยถูกนำมาแชร์ทุกปีจะยังคงมีเหมือนเดิม เช่น ประเทศไทยจะมีจังหวัดใหม่ ดาวเคราะห์จะพุ่งชนโลก สมุนไพรรักษามะเร็ง ฯลฯ จนกว่าจะมีการสร้างวัฒนธรรม Fact Checker เรียนรู้ที่จะเพิกเฉยและจัดการกับข่าวปลอมเหล่านี้ใหม่
“เทรนด์ข่าวปลอมในปีหน้าคิดว่าข่าวการหลอกลวงจะเพิ่มมากขึ้น เช่น หลอกให้เล่นพนัน เพราะเศรษฐกิจมีปัญหา คนตกงานในปีนี้เยอะมากขึ้น เพราะคนสิ้นหวังก็มีแนวโน้มจะเชื่อเมื่อมีคนมาหลอก ข่าวปลอมจะลวงให้หลงเชื่อ ด้วยการใช้เงินล่อลวง ละเมิดสิทธิผู้หญิง คนที่มีความหวังด้วยการเชื่อข่าวใบ้หวยก็ยังมี ข่าวปลอมจะมีลักษณะเป็น Cyber Crime คือถูกใช้เป็นอาชกรรมคอมพิวเตอร์ เพราะการเมืองก็ยังเข้มข้น และโควิดก็ยังระบาดหนักอยู่“ สุภิญญา ให้ความเห็น
- 154 views