การลดน้ำหนักเป็นกระแสสนใจของผู้นักสุขภาพจำนวนมาก อาหารประเภทที่อิ่มท้องแต่ไม่เพิ่มหนักจึงได้รับความสนใจอย่างมาก และหนึ่งในข้อมูลที่มีการเผยแพร่กันในแวดวงผู้รักสุขภาพอย่างหนึ่งก็คือ ‘กราโนล่า’ คืออาหารที่เหมาะสำหรับการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งเป็นความเชข้าใจที่ผิด

 “กราโนล่า” ( Granola ) เป็นชื่อที่ใช้เรียกอาหารสไตล์ตะวันตกประเภทหนึ่ง ประกอบไปด้วยธัญพืชที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต, ถั่วต่างๆ, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยผสมน้ำผึ้งหรือไซรัปเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติหวาน แล้วนำไปอบกรอบ ซึ่งกราโนล่านี้บางคนอาจผสมผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด, กล้วยอบแห้ง เพื่อเพิ่มรสชาติอีกด้วย กราโนล่านิยมทานเป็นอาหารเช้า โดยจะเติมนมลงไปเหมือนทานซีเรียล หรือจะทานกับโยเกิร์ตและผลไม้สดๆก็ได้

กราโนล่าเป็นอาหารที่มีพลังงานและคุณค่าทางอาหารสูง ทำให้กินแล้วอยู่ท้องนาน เหมาะเป็นอาหารเช้า โดยกราโนล่า 1/3 ถ้วยอาจให้พลังงานสูงถึง 160-200 กิโลแคลอรี และเนื่องจากเป็นธัญพืชไม่ขัดสี ทำให้มีสารอาหารทั้งคาร์โบไฮเดรต, ไขมันจากถั่วเป็นไขมันดี, วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ มีไฟเบอร์สูงจึงมีใยอาหารที่ช่วยระบบขับถ่าย ท้องไม่ผูก

คนทั่วไปนิยมรับประทานกราโนล่าโดยนำไปผสมกับน้ำผึ้ง โยเกิร์ต นม ผลไม้สด ซีเรียลอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งนำกราโนล่าไปโรยหน้าของหวานชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและความน่ารับประทาน

ส่วนกราโนล่าบาร์ หรือกราโนล่าที่ถูกผลิตขึ้นมาในรูปแบบแท่งนั้น มักเป็นที่นิยมในหมู่คนที่ออกกำลังกายอย่างหนักที่ต้องการได้รับแหล่งพลังงานเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการออกกำลังกาย หรือผู้ที่ต้องการควบคุมอาหาร รับประทานได้ง่าย และประหยัดเวลาในการรับประทานแบบมื้ออาหาร ซึ่งผู้ที่คิดค้นกราโนล่าแบบแท่งขึ้นมาคือ “สแตนลีย์ เมสัน”

ข้อมูลจาก www.Pobpad.com อธิบายว่าเนื่องจากกราโนล่าประกอบไปด้วยธัญพืชและผลไม้อบแห้ง หลายคนจึงเชื่อว่า อาจเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือทดแทนอาหารมื้อหลักได้ในบางครั้ง แต่มีงานค้นคว้าจำนวนหนึ่งที่ทดลองเกี่ยวกับคุณประโยชน์และผลลัพธ์จากการบริโภคกราโนล่าในแง่ต่าง ๆ

แม้ว่าการค้นคว้าในด้านคุณประโยชน์รวมถึงประสิทธิผลของกราโนล่าด้านการลดน้ำหนักและไขมัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ในปัจจุบันกลับมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณประโยชน์ของกราโนล่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อันดับแรกประโยชน์ด้าน “การลดน้ำหนัก” การทดลอง คือ ให้ผู้ทดลองซึ่งเป็นชายและหญิงที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วน จำนวนทั้งสิ้น 131 ราย บริโภคอาหารที่มีน้ำมันทั้ง 2 ชนิดอย่างมัฟฟิน แครกเกอร์ ซุป คุกกี้ และกราโนล่าแบบแท่ง เป็นเวลา 24 สัปดาห์ แล้วทำการตรวจวัดผลหลังการทดลอง

ทั้งนี้ การบริโภคอาหารที่มีน้ำมันไดเอซิลกลีเซอรอล (Diacylglycerol Oil) ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผลิตจากกรดไขมันธรรมชาติจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลาหรือเรพซีด (Canola/Rapeseed) เปรียบเทียบกับอาหารที่ควบคุมปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triacylglycerol Control Oil) เป็นไขมันที่พบได้ทั่วไปจากการรับประทานอาหารประเภทขนมกรุบกรอบ หรือกะทิ เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแข็ง โดยเฉพาะน้ำมันไดเอซิลกลีเซอรอล ที่ถูกทำให้เชื่อว่าอาจช่วยกระตุ้นการลดไขมันและน้ำหนักตัวลงได้ แต่ยังคงไม่มีหลักฐานสนับสนุนเฉพาะที่เพียงพอ

ผลการทดลองพบว่า อาหารที่ควบคุมปริมาณแคลอรี่ทั้งอาหารที่มีน้ำมันไดเอซิลกลีเซอรอลและอาหารที่ควบคุมไขมันไตรกลีเซอไรด์ช่วยลดปริมาณแคลอรี่อาหารในกลุ่มทดลองทั้ง 2 กลุ่ม ในขณะที่อาหารที่มีน้ำมันไดเอซิลกลีเซอรอลช่วยลดน้ำหนัก และปริมาณไขมันในร่างกายของผู้ทดลองได้มากกว่าอาหารที่มีน้ำมันควบคุมไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในเชิงการรักษาและควบคุมน้ำหนักตัวในผู้ที่มีภาวะอ้วนต่อไปในอนาคต

ในขณะที่การทดลองที่เกี่ยวข้องกับ “การลดปริมาณไขมันในร่างกาย” ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นชายผู้มีภาวะน้ำหนักเกินจำนวน 6 ราย ให้ผู้ทดลองรับประทานอาหารกลางวันที่แตกต่างกัน 3 กลุ่ม คือ 1.อาหารจานด่วนอย่างเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย รูทเบียร์ที่มีรสหวาน กับน้ำเชื่อมข้าวโพดที่เป็นน้ำตาลฟรุกโตส 2.อาหารที่มีเนื้อวัวออแกนิค อาหารออแกนิค รูทเบียร์ที่มีน้ำตาลซูโครส 3.อาหารที่มีเนื้อไก่งวง แซนด์วิชไก่งวง และกราโนล่าที่ทำจากอาหารออแกนิค และน้ำส้มออแกนิค

ผลการทดลองพบว่า ผู้ทดลองที่บริโภคอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ออแกนิคมีปริมาณไขมันชนิดอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวลดลงกว่าในกลุ่มที่บริโภคเนื้อวัวในรูปอาหารจานด่วน โดยไม่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในการบริโภคอาหารในกลุ่มที่มีไก่งวงและกราโนล่า

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่ากราโนล่าอาจมีประสิทธิผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน การทดลองในกลุ่มชายหญิงสุขภาพดีจำนวน 10 ราย โดยให้ผู้ทดลองรับประทานอาหารจำพวกคอนเฟลค ข้าว โยเกิร์ต อาหารแช่แข็ง ขนมปังขาว นม และกราโนล่า ผลการทดลองปรากฏว่า ทั้งการบริโภคอาหารที่ถูกพ่นหรือโรยสารโพลีแซ็คคาไรด์ และการเพิ่มสารชนิดนี้เข้าไปในอาหารกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งกราโนล่า ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดระดับดัชนีน้ำตาลในอาหารลงได้

อย่างไรก็ตาม การทดลองทั้งหมดที่กล่าวมานี้ นี้เป็นเพียงการทดลองเปรียบเทียบประสิทธิผลในอาหารแต่ละชนิด ซึ่งมีกราโนล่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการทดลองเท่านั้น และในบางครั้ง กราโนล่าอาจมีส่วนผสมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงด้วย จึงควรมีการศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนต่อไปเกี่ยวกับประสิทธิผลของกราโนล่า เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพของผู้บริโภคต่อไป

เว็บไซต์ pobpad.com ยังแนะนำอีกว่า เมื่อไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดในการกำหนดปริมาณและประสิทธิผลของกราโนล่า ผู้บริโภคจึงควรสังเกตและศึกษาข้อมูลทางโภชนาการด้านสารอาหาร ปริมาณ และส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์นั้นจากฉลากบนบรรจุภัณฑ์ และรับประทานกราโนล่าในปริมาณที่พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคกราโนล่า

แม้จะมีส่วนประกอบของธัญพืชและผลไม้ที่อาจมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย แต่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารประเภทพืชผักผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสารอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และเสริมสร้างสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้น กราโนล่าจึงไม่ได้ช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักโดยตรง เนื่องจากเป็นอาหารที่มีแคลอรี่สูงมาก การทานเยอะเกินไปยังจะทำให้อ้วนได้เช่นกัน ทั้งนี้วิธีเลือกที่แนะนำคือ แบบที่มีน้ำตาลน้อย, ไม่ใส่ผลไม้อบแห้งมากเกินไป ถ้าทานกับนมหรือโยเกิร์ตก็ควรเลือกแบบที่ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย เช่น นมสดจืด, กรีกโยเกิร์ต หรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติ

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org