โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยเขตสุขภาพที่ 2 รุกเปิดคลินิกทันตกรรมนอกเวลาราชการครบทั้ง 47 โรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดช่วงสถานการณ์โควิด 19 ลดเวลารอคอยรักษาฟันปลอม-รากฟัน จากเป็นปีเหลือ 2 เดือน
พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2563 ทพ.สืบศักดิ์ เจริญเกษมวิทย์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เป็นผู้แทนนำเสนอผลการดำเนินงานคลินิกทันตกรรมนอกเวลาราชการของโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งมี 5 จังหวัด ประกอบด้วย อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน รวม 47 แห่ง เริ่มดำเนินการคลินิกทันตกรรมนอกเวลาราชการในปี 2562 มีโรงพยาบาลจัดบริการรวม 37 แห่ง ให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา16.30 - 20.30น. และวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 - 16.30 น. ถือเป็นบริการทางเลือก ทำให้ลดเวลารอคอย และลดความแออัดในคลินิกทันตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่างถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
พญ.พรรณประภา กล่าวต่อว่า การเปิดคลินิกนอกเวลาราชการและจัดระบบเพื่อระบายคนไข้ในเวลาราชการ เช่น ทันตแพทย์ที่ให้บริการรักษารากฟัน ไม่ต้องทำฟันทั่วไป ช่วยลดเวลาการรอคอยลงได้ เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์มีคนไข้ที่เข้าคิวทำฟันปลอมเดิมต้องรอ 4-5 เดือน หรือคนไข้รักษารากฟันที่รอเป็นปี ก็ลดเวลารอคอยเหลือ 2 เดือน เกิดประโยชน์ต่อคนไข้อย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในเวลากลางวันหรือในเวลาราชการ สามารถเลือกมารับบริการนอกเวลาได้ ขณะที่หน่วยบริการได้ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า เพิ่มรายได้บุคลากรและคงบุคลากรไว้ในระบบมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้มารับบริการนอกเวลาราชการส่วนใหญ่จะมาด้วยเรื่องการทำฟันปลอม เนื่องจากใช้เวลานานและต้องมาหลายครั้ง ส่วนงานทั่วไปจะเป็นงานขูด อุด ถอน
ทพ.สืบศักดิ์ เจริญเกษมวิทย์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า การบริการทันตกรรมจะมีละอองฝอยฟุ้งกระจายสูง ทั้งขูดหินปูน อุดฟัน เครื่องกรอ ในช่วงโรคโควิด 19 ถือเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ง่าย จึงต้องลดความหนาแน่นของผู้รับบริการ โดยได้ขยายเวลาการให้บริการ เปิดคลินิกทันตกรรมนอกเวลาราชการเพิ่มจาก 37 แห่งในปี 2562 และครบทุกแห่งในปี 2563 รวมทั้งปรับปรุงระบบบริการทันตกรรมเพื่อป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย โดยได้รับงบเชิงป้องกันหรือยับยั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด และงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาปรับปรุงติดตั้งเครื่องระบายอากาศ เครื่องฟอกอากาศ และทำโครงครอบศีรษะคนไข้เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการคัดกรองวัดอุณหภูมิ 2 ชั้น ตั้งแต่ห้องบัตรและหน้าคลินิกทันตกรรม เพื่อลดความเสี่ยง
ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนในเขตสุขภาพที่ 2 จากการสำรวจสุขภาพช่องปากของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขพบว่า 70-80% เป็นโรคฟันผุและเหงือกอักเสบ เมื่อได้รับการคัดกรองและนัดมาทำการรักษา ทำให้ลดปัญหาการมารักษาเมื่อมีอาการมาก เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่มีการจัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุก เช่น โรงเรียน ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยกลุ่มเด็กนักเรียนมักพบปัญหาฟันผุ เมื่อตรวจพบจะขออนุญาตผู้ปกครองและนัดหมายโรงเรียนให้พาเด็กมารับบริการทันตกรรมวันละ 10 คน ทำให้รักษาได้เร็วยิ่งขึ้น
- 115 views