กรมควบคุมโรคแจงหลังพบผู้ติดเชื้อโควิด เป็นหญิงฝรั่งเศสอายุ 57 ปี ตรวจพบเชื้อหลังมาถึงไทย 17 วัน และเดินทางจากเมืองความเสี่ยงต่ำ เป็นไปได้อาจติดในประเทศ หรืออาจไม่ใช่ เพราะอาจติดระหว่างเดินทางได้ ขอเวลาสอบสวนโรคก่อนยืนยันอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2563 ที่กรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ล่าสุดมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 1 รายที่น่าสนใจ ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยรายนี้ยังไม่ได้สรุปว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศ แต่ต้องมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติม ซึ่งรายนี้มีการกักตัวแล้ว 14 วัน แต่มาพบเชื้อหลังจากนั้น อย่างไรก็ตาม ส่วนที่กังวลว่า กรณีนี้จะทำให้ไม่สามารถลดจำนวนวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วันหรือไม่นั้น ต้องเรียนว่า การลดระยะการกักตัวเหลือ 10 วันได้ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ มีข้อมูลวิชาการครบว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะลดเวลาลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดเลย ซึ่งหากดำเนินการก็จะลดจำนวนวันเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยมากๆ จากนั้นก็จะมีมาตรการเสริมในการติดตามตัว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ กล่าวว่า สำหรับเคสที่พบเชื้อโควิดที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นั้น เป็นเพศหญิง 57 ปีสัญชาติฝรั่งเศสมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยรายนี้เดินทางมาจากเมือง Limoges ฝรั่งเศส พร้อมครอบครัว 3 คน มาถึงมีการตรวจเชื้อครั้งแรกไม่พบเชื้อ ครั้งที่ 2 ก็ไม่พบเชื้อ ซึ่งก็อยู่ในสถานที่กักกันโรคจนครบ 14 วัน และได้รับอนุญาตให้ออกจากที่กักกันโรค และวันที่ 15 ต.ค. ได้ไปสถานทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ จากนั้นเดินทางไปอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เดินทางไปบ้านพักโดยรถส่วนตัว(เพื่อน) และวันที่ 17 ต.ค.เริ่มมีไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดกล้ามเนื้อ มีเดินทางไปบิ๊กซี ใกล้บ้านที่สมุย จากนั้นวันที่ 20 ต.ค. อาการไม่ดีขึ้นจึงไปรพ. โดยรถส่วนตัวเข้ารับการรักษาที่รพ.กรุงเทพสมุย และได้เก็บตัวอย่างตรวจเชื้อ และวันรุ่งขึ้นวันที่ 21 ต.ค. ผู้ป่วยออกจากรพ. โดยผลตรวจด้วยวิธี PCR รพ.เกาะสมุย พบเชื้อ และวันที่ 22 ต.ค.ตรวจซ้ำก็พบเชื้อจึงเข้าห้องแยกรพ.เกาะสมุย อย่างไรก็ตาม ผลตรวจสามีและลูกไม่พบเชื้อ ส่วนเพื่อนอยู่ระหว่างรอผลตรวจทาง PCR
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ สามีและลูก ซึ่งไม่พบเชื้อ ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือรวม 12 รายกำลังติดตามมาตรวจเชื้อ และเพื่อนใกล้ชิดที่มารับโดยรถยนต์ส่วนตัวอีก 1 รายกำลังรอผลตรวจอยู่ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอยู่ที่รพ. มี 21 ราย อยู่ระหว่างเฝ้าระวังสังเกตอาการ อย่างไรก็ตาม สำหรับรายนี้มีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เพราะตรวจพบเชื้อหลังจากเข้ามาในไทยแล้ว 17 วัน และระหว่างอยู่ในสถานที่กักกันตรวจไม่พบเชื้อถึง 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับคนในบ้านที่ไม่พบเชื้อ แต่ก็ต้องเฝ้าสังเกตอาการอยู่ และขณะนี้ยังอยู่ในห้องแยกโรค
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า รายนี้เนื่องจากการป่วย เกิดขึ้นหลังจากมาถึงไทย 17 วัน ซึ่งระยะฟักตัวยาวสุดอยู่ที่ 14 วัน และระหว่าง 14 วันก็ไม่พบเชื้อ อีกทั้ง ไม่ได้เดินทางมาจากเมืองที่มีการติดเชื้อรุนแรง และเมื่อมาถึงไทยก็เข้าสู่การกักกันโรคทันที และพอครบ 14 วันก็พบการป่วย ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า อาจติดที่สนามบิน หรือจากระหว่างเดินทาง ซึ่งทีมสอบสวนโรคจะติดตามและสอบสวนโรคเพิ่มเติม จึงต้องรอข้อมูลก่อนจึงจะสรุปได้ว่า เป็นการติดเชื้อจากที่ไหน
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเพิ่มวันกักกันโรคหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า นโยบายคงไม่มีการเพิ่มจำนวนวันกักกันโรค แต่จะเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังมากกว่า โดยการกักกันโรคจำนวน 14 วัน ยังเพียงพอ หลายประเทศก็เริ่มลดลง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากสถานที่กักกันก็จะมีการตรวจเชื้อ สำหรับระยะเวลาก็น่าจะเพียงพอ แต่ต้องมีการติดตามหลังออกจากการเฝ้าระวังในสถานที่กักกันตัว
“ขณะนี้มีการดำเนินการติดตามโรคอย่างรวดเร็ว และในพื้นที่มีมาตรการเตรียมพร้อม ซึ่งไม่ต้องกังวล เพราะพื้นที่มีความพร้อมในการรับสถานการณ์” นพ.โสภณ กล่าว
- 34 views