“หมอธีระวัฒน์” เผยข้อมูลยาลดกรดตระกูล Proton Pump Inhibitor ( PPI) เป็นเวลาตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป กับการข้อสังเกตว่าจะทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์หรือไม่
เป็นอีกประเด็นในวงการแพทย์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เมื่อรายงานจากหลายประเทศทั่วโลก ระบุถึงผลกระทบจากการใช้ยาลดกรดในตระกูล Proton Pump Inhibitor หรือ PPI เป็นเวลาตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่ายา PPI จะทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์หรือไม่....
สืบเนื่องจากยา PPI สามารถเข้าสู่สมองได้ค่อนข้างอิสระผ่านผนังกั้นหลอดเลือด ทั้งยังสามารถลดกรดที่ย่อยทำลายสารพิษอัลไซเมอร์ในตัวเซลล์ไมโครเกลียและในส่วนของผู้ที่มีภาวะอัลไซเมอร์นั้นความสามารถในการสร้างกรดที่จะทำลายสารพิษเองก็ไม่ดีอยู่แล้ว หากยิ่งรับประทานยา PPI ร่วมด้วยก็อาจทำให้สารพิษสะสมเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลกับ Hfocus เพื่อขยายภาพการใช้ยาลดกรด PPI ว่า หากเจาะลึกลงไปในปี 2013 รายงานในต่างประเทศพบว่าผู้ที่ขาดวิตามิน B12 ซึ่งจะส่งผลให้เลือดจางรวมถึงมีความผิดปกติอื่นๆ เช่น ทางสมองและระบบประสาท จำนวน 3,120 ราย หรือ 12% มีการใช้ยา PPI ขนาด 1 เม็ดครึ่งต่อวันเป็นเวลา 2 ปีหรือนานกว่านี้ และมีการศึกษาเพิ่มอีก 1,087 ราย หรือ 4.2% ในผู้ใช้ยาลดกรดอีกตระกูล ชื่อ H2 Receptor Antagonist หรือ H2 RA เป็นเวลา 2 ปีหรือนานกว่านี้ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ขาดวิตามิน B12 พบว่า 89.6% หรือ 165,092 ราย ไม่เคยใช้ยาลดกรดใดๆเลย ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการใช้ยาลดกรดเป็นเวลาตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B12
ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2015 จากการติดตามคนเยอรมันอายุมากกว่า 75 ปี จำนวน 3,076 ราย พบว่า 431 ราย เกิดภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการใช้ยา PPI นอกจากนี้รายงานในปี 2016 ของ JAMA Neurology ซึ่งวิเคราะห์จากคนเยอรมันเช่นกัน ยังตอกย้ำการเกิดสมองเสื่อมจากการใช้ยา PPI โดยเป็นการติดตามคนปกติที่ไม่มีสมองเสื่อมอายุ 75 หรือมากกว่า จำนวน 73,679 ราย ตั้งแต่ปี 2004-2011 โดยที่ติดตามเป็นระยะทุก 12-18 เดือน
ปรากฏว่ามีจำนวนถึง 29,510 ราย ที่มีภาวะสมองเสื่อม และมากกว่า 59% มีสาเหตุร่วมกันอย่างน้อย 2 อย่างและเมื่อจำแนกการใช้ยา PPI ประจำอย่างน้อย 18 เดือนมีอย่างน้อย 1 ใน 4 ของช่วงเวลาที่ติดตามพบว่ามี 2,950 รายเป็นกลุ่มที่ใช้ยา PPI เป็นประจำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสมองเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่ใช้ยา PPI ทั้งนี้กลุ่มอายุที่เสี่ยงสมองเสื่อมสูงสุดอยู่ระหว่างช่วงอายุ 75-79 ปี นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ใช้ยา PPI จะพบด้วยว่ายาดังกล่าวมักจะใช้เมื่อมีอาการปวดท้อง มีภาวะกรดไหลย้อน แสบ แน่นหน้าอก รวมไปถึงเวลาหิว เวลาอิ่ม หรือแม้แต่เวลาเครียด ส่งผลให้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า ยาลดกรด PPI เป็นยาตระกูลที่มีการใช้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นยาที่ถูกนำมาใช้แทนยาลดกรดตระกูล H2 RA ที่ถูกมองว่าเป็นยาโบราณแต่จริงๆมีความปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากยา PPI มีรายงานในต่างประเทศและตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการใช้อย่างพร่ำเพื่อ เป็นเวลานานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์มากกว่าปกติหรือไม่โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ยาลดกรดดังกล่าวทำให้การดูดซึมของวิตามินบี 12 น้อยลง จึงพบว่าผู้ที่ใช้ PPI เป็นเวลานานทำให้เกิดการขาดวิตามิน B12จริง และการขาดวิตามิน B12 ทำให้สมองเสื่อมได้ แต่น่าจะมีกลไกมากกว่าการขาดวิตามิน B12 ร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากการศึกษาในลำดับต่อมาก็พบว่ามีอุบัติการณ์ ของโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นจริง และ2.มีการศึกษาการใช้ยา PPI ต่อว่านอกจากเกิดภาวะสมองเสื่อมแล้วมีผลอะไรอีกหรือไม่ ก็พบว่าการใช้ยา PPI ส่งผลให้เกิดเส้นเลือดตีบตันในสมองและเป็นโรคอัมพฤกษ์อีกด้วย
“ปี 2000 ต่างประเทศเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่ายาตระกูล PPI สามารถซึมผ่านเข้าเนื้อสมองได้โดยตรง ดังนั้นจึงมีการใช้เป็นยาลดกรด แต่กลไกในสมองในการกำจัดของเสียที่ไม่ต้องการออกจากสมองนั้นก็ต้องอาศัยกรดในการทำลาย โดยการสร้างกรดที่จะเอาของเสียมารวมไว้ จากนั้นก็ใช้กรดทำลาย ก่อนจะผลักดันออกนอกเซลล์ แต่ในกรณีที่กรดในสมองเกิดมีความผิดปกติ ก็จะส่งผลเสีย ต่อการไปทำลายของเสียในสมองที่ทำได้ไม่ดี ดังนั้นจากลักษณะของการตั้งข้อสังเกตดังกล่าว จึงนำมาซึ่งการศึกษาว่าคนที่ใช้ PPI จะทำให้เกิดมีภาวะสมองเสื่อมมากกว่าปกติหรือไม่โดยในสหรัฐอเมริกา มีการประมาณการว่าถ้ามีการใช้ PPI เป็นประจำจะทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า และจะทำให้คนอเมริกันมีอุบัติการณ์สมองเสื่อมเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 8.4% ต่อปี และจากที่มีคนอยู่ในช่วงอายุ 75-84 ปี ประมาณ 13.5 ล้านคน ถ้า 3% ใช้ PPI ก็อาจจะทำให้มีคนสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 10,000 รายต่อปี” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ฉายภาพผลเสียของกรดในสมองเกิดความผิดปกติ และว่า ในปี 2016 มีรายงานในวารสารสมาคมแพทย์สหรัฐอเมริกาพบว่าการใช้ PPI ไปนานๆจะทำให้การทำงานของไตประสิทธิภาพลดลงด้วย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ยาลดกรด PPI นั้นจริงๆมีประโยชน์สามารถรับประทานได้ แต่ไม่ควรรับประทานเป็นเวลานานเกินไป ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน มีการกำหนดเวลาการใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงตามมา อย่างไรก็ตามยา PPI ส่วนใหญ่ใช้รักษาโรคปวดท้องเวลาที่มีอาการหิว อิ่ม ปวดแสบท้อง และภาวะกรดไหลย้อน ซึ่งปกติภาวะกรดไหลย้อนนั้นสิ่งสำคัญในการรักษา คือ การหาปัจจัยที่ทำให้เป็นกรดไหลย้อน เช่น การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา เกิดภาวะอาหารย่อยยาก รับประทานอาหารรสจัดเกินไป หรือรับประทานยาหลายๆชนิดร่วมกันจนทำให้หูรูดหลอดอาหารกับกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ เป็นต้น ดังนั้นต้องรักษาจากปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนเช่นเริ่มจากการปรับพฤติกรรมตัวเองดีกว่าการรับประทานยาลดกรดเป็นเวลานานๆและถึงแม้ไทยจะยังไม่ได้เก็บข้อมูลการใช้ยาดังกล่าว แต่สามารถถอดบทเรียนผลกระทบที่มีต่อมนุษย์จากต่างประเทศได้ ซึ่งตนอยากสะท้อนให้เห็นถึงพิษภัยของยา
“หากมีคนในตระกูลไม่ว่าจะสายไหนก็ตาม มีเรื่องของสมองเสื่อมก็จะทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อมได้มากกว่าคนธรรมดา ถือเป็นมรดกที่เราไม่อยากได้ นอกจากนี้หากมีภาวะเส้นเลือดอุดตันร่วมด้วย การพัฒนาของโรคก็จะยิ่งเร็วและรุนแรงมากกว่า เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเดิมแล้วใช้ยา PPI ก็อาจจะทำให้การดำเนินของโรครวดเร็วและรุนแรงขึ้นได้ แต่ขอย้ำว่าไม่ได้ห้ามใช้ แต่อยากให้ใช้เมื่อจำเป็น มีข้อบ่งใช้ และใช้ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะยาทุกตัวมีอันตราย หากไม่รู้ว่าต้องใช้เมื่อไหร่หรือใช้ปริมาณมากแค่ไหน ก็สามารถทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน สิ่งสำคัญที่อยากฝากคือประชาชนต้องใช้ยาเท่าที่จำเป็น ควบคู่กับการตรวจสุขภาพทุกปี และขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกประกาศให้ประชาชนสามารถใช้บริการตามจุดต่างๆที่จัดให้อย่างสะดวกมากขึ้น" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
เพราะการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อนั้น...อันตราย
- 1244 views