เปิดตัวอย่างครอบครัวใช้พลังใจ ขับเคลื่อนพลังกายพร้อมยืนหยัดสู้ หลังลูกชายประสบอุบัติเหตุกระทบความสามารถด้านการสื่อสาร ด้านจิตแพทย์เผยวิธีตั้งรับหลังเจอวิกฤต
“พลังใจ” นับเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเมื่อชีวิตต้องเผชิญวิกฤตร้ายแรง เมื่อเร็วๆนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ฯลฯ จัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2563 (World Mental Health Day 2020) ชูความสำคัญของการร่วมมือด้านสุขภาพจิต พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนสร้างความหวังและพลังใจ
งานนี้ ครอบครัวศรีชัยญา ซึ่งเป็นตัวอย่างครอบครัวที่อาศัยปาฏิหาริย์พลังใจจากครอบครัว ฟื้นฟูลูกชายที่เคยประสบอุบัติเหตุ จนกระทบความสามารถด้านการสื่อสาร ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ บ้านพลังใจ
“วราวุธ ศรีชัยญา” ผู้เป็นพ่อที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเมื่อลูกชายคนเดียวของบ้านในวัย 18 ปี โฟล์ค - ถิรพุทธิ์ ศรีชัยญา เกิดโชคร้ายประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำ จนสูญเสียความสามารถในการสื่อสาร
"เสียใจมาก แต่เราต้องทำอะไรก็ได้ให้คนที่บ้านมีกำลังใจ เพราะทุกคนสูญเสียไปหมดแล้ว เริ่มจากการสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ก่อนจะเป็นกำลังใจให้แม่ และลูกสาว หลังจากฟื้นขึ้นมาจากอุบัติเหตุ โฟล์คพูดได้แค่ ใช่กับไม่ ถามว่าดื้อกับพยาบาลหรือเปล่า คำว่า ดื้อ ลูกยังไม่รู้เลย แตกต่างกับการสอนเด็ก เพราะเด็กจะมีพัฒนาการทางสมองอยู่ แต่โฟล์ค สมองชิ้นนั้นไม่อยู่แแล้ว" ผู้เป็นพ่อเล่า...
ขณะที่ผู้เป็นแม่ “นงนุช ศรีชัยญา” เล่าว่า จากวันแรกที่ยังตั้งสติไมได้ คิดเพียงว่า ขอให้ลูกฟื้นขึ้นมาไม่ว่าอย่างไรก็รับได้ จวบจนวันนี้ที่ลูกชายเริ่มสื่อสารได้บ้าง ก่อนจะได้ถึงขนาดนี้ ต้องใช้ความพยายามมากเพื่อเลี้ยงดูและฟื้นฟูลูกชาย ภายหลังการผ่าตัดสมอง ต้องฝึกให้ลูกพูด ฝึกพัฒนาการ โฟล์คจะเหมือนเด็กต้องจูงมือไปกับแม่ตลอด แต่ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี เพราะทุกคนในบ้านช่วยเหลือกัน
"ทุกวันที่ลูกยิ้ม ทำให้แม่มีพลังแม้ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม โฟล์คเป็นเด็กที่คิดบวกจึงส่งพลังให้เราสู้ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ฟังเข้าใจมากขึ้น ใช้การสื่อสารจากความเข้าใจ เริ่มด้วยคำง่าย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มคำสั่งอื่น ๆ ให้ลูกได้เรียนรู้เพื่อให้กระบวนการทางสมองทำอะไรที่ซับซ้อนได้" เสียงของแม่เล่าถึงความพยายามที่ผ่านมา
ทุกคนในครอบครัวต่างรู้ดีว่า สุดท้ายแล้วโฟล์คต้องมีชีวิตของตัวเอง และไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ตลอด 24 ชั่วโมง บทบาทของคนในครอบครัวศรีชัยญา จึงถูกแบ่งหน้าที่เพื่อเสริมสร้างส่วนที่ขาดหายไปของโฟล์ค โดยน้องสาว ธนกรณ์ ศรีชัยญา รับหน้าที่ช่วยเหลือพี่ชาย คอยดูแลทั้งเรื่องอาหาร สอนการเข้าสังคม ตั้งแต่เรื่องการต่อคิว การเดินทาง และทักษะการใช้ชีวิตในสังคม ส่วนแม่รับหน้าที่สอนด้านวิชาการ ฝึกเรื่องการพูดและต่อยอดพัฒนาการ ด้านพ่อจะสอนเรื่องทักษะที่โฟล์คชอบ
"เราต้องไม่ทิ้งในสิ่งที่ลูกชอบ โฟล์คยังชอบมอร์เตอร์ไซค์ แม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุ พ่อจึงช่วยให้ลูกเตรียมความพร้อม ฝึกใช้มือขวา เริ่มด้วยการขี่จักรยานก่อน สอนลูกอย่างเป็นขั้นตอน เมื่อสามารถควบคุมรถได้แล้ว พ่อก็ทำตามสัญญาเพียงแต่เลือกมอเตอร์ไซค์ 4 ล้อ (ATV) แต่เพื่อความปลอดภัยให้ขับขี่แค่ในหมู่บ้าน เช่นเดียวกับความชื่นชอบด้านการถ่ายภาพ พ่อสนับสนุนให้ลูกฝึกใช้ร่างกาย ซื้ออุปกรณ์มาเสริมในการใช้งานด้านถ่ายภาพ จนตอนนี้โฟล์คมีเพจรับงานเป็นช่างภาพมือสมัครเล่น เราให้ลูกตั้งความหวังไว้ด้วยว่า ลูกจะกลับมาเป็นเหมือนปกติ ทุกคนจึงช่วยกัน ด้วยความตั้งใจที่ว่า โฟล์คต้องกลับมาเหมือนเดิมเร็ว ๆ แม้จะไม่ได้ถึง 100 เปอร์เซนต์ แต่ก็อยากให้ได้มากที่สุด " พ่อของโฟล์ค กล่าว
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์
เห็นได้ว่า ทั้งหมดล้วนมาจากพลังใจของทุกคนในบ้าน สิ่งนี้เรียกว่า พลังล้มแล้วลุก พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อธิบายพลังล้มแล้วลุก ว่า สิ่งสำคัญเมื่อเจอกับวิกฤตด้วยการตั้งหลักและรับมือ เริ่มแรกต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่า ล้มไปแล้ว
"ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า ล้ม เสียก่อน เหมือนที่เรายอมรับว่า โควิด-19 มาแล้ว หนีไม่ได้ ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นแล้ว จึงค่อย ๆ ขยับตัวลุกขึ้นจากพลังของตัวเอง ซึ่งมีอยู่ 3 พลัง ที่ถือเป็นวัคซีนครอบครัวที่สำคัญ"
พญ.ดุษฎี ให้ข้อมูลว่า วัคซีนครอบครัวที่สำคัญ ได้แก่
1.พลังบวก ถ้าล้มแล้วต้องลุกให้ได้ หากล้มลง 7 ครั้งต้องลุกให้ได้ 8 ครั้ง พลังบวกจะทำให้มองเห็นทางออกในทุกปัญหา แทนที่จะเห็นแต่ปัญหา
2.พลังยืดหยุ่น ครอบครัวต้องสามารถปรับตัวให้ได้ จากเดิมพ่อเคยทำหน้าที่นี้ เมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น พ่อต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่หรือเพิ่มบทบาทเข้ามา แม่และน้องสาวก็ต้องเพิ่มหน้าที่บางอย่างเข้ามา ถ้าครอบครัวยืดหยุ่นไม่เป็น ทำแบบเดิมต่อไปจะทำให้ครอบครัวไม่มีพลัง
3.พลังร่วมมือ พลังที่ทำให้คนในบ้านทำงานเป็นทีม โดยมีเป้าหมายเดียวกัน ใช้พลังของทุกคนทำสิ่งเดียวกัน ไม่โทษและไม่ตำหนิกัน
ทั้ง 3 พลังจึงเป็นพลังสำคัญของทุกครอบครัว ขอเพียงมีวัคซีนครอบครัวที่แข็งแรง ต่อให้อุปสรรคแข็งแกร่งแค่ไหน ล้มกี่ครั้งก็ยังลุกได้เสมอ……..
- 201 views