เนคเทค สวทช. ร่วมกับกรมควบคุมโรค พัฒนาระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงติดโควิด-19 ชู DDC-CARE อีกเทคโนโลยีสร้างแพลตฟอร์มกลางสัญชาติไทยสกัดโรคอุบัติใหม่
สถานการณ์การเจ็บป่วยและเสียชีวิตของโรคโควิด-19 ปัจจุบันยังคงน่าห่วง ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการรับมือทางระบาดวิทยาของโรคติดต่ออย่างบูรณาการ โดยการกักตัว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงแยกตัวออกจากชุมชนไม่น้อยกว่า 14 วัน เพื่อสังเกตอาการและป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ขณะเดียวกันบุคลากรทางด้านสาธารณสุข และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องทราบข้อมูลต่างๆของผู้ที่มีความเสี่ยงในช่วงการกักตัว เพื่อประเมินสถานการณ์ เตรียมการ เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดสัมมนาวิชาการ “เทคโนโลยีเพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์ ทางระบาดวิทยาของโรคติดต่ออย่างบูรณาการ” เพื่อช่วยขับเคลื่อนการจัดการภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขให้มีความเข้มแข็ง โดยมีกรมควบคุมโรค ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารสถานการณ์ทางระบาดวิทยา และ สวทช. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ DDC-CARE
นพ.ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการร่วมกันพัฒนาระบบ DDC-CARE ว่า เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีพร้อมใช้ของ สวทช. ซึ่งการใช้งานระบบ DDC-CARE เชิงรุก ในช่วง Home Quarantine จนถึง Alternative Hospital Quarantine ตลอดจนการขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางระบาดวิทยาของโรคติดต่ออย่างบูรณาการ เพื่อการต่อยอดโดยไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีมาช่วยรับมือกับโรคระบาดถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก
“จากการถอดบทเรียนจำนวนผู้ป่วยในจีนและเกาหลีใต้ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทั้ง 2 ประเทศได้ใช้ระบบ Digital health เพื่อให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดิจิทัลและการป้องกันควบคุมโรคต้องไปด้วยกัน โดย Digital health จะนำมาใช้ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การค้นหาและติดตามผู้สัมผัส การวินิจฉัยที่รวดเร็ว 2.ลดผลกระทบด้านสถานบริการการแพทย์และสาธารณสุข ลดผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาล โดยผ่านระบบออนไลน์ 3.การวางแผนนโยบาย เช่น จำนวนผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ และพื้นที่เสี่ยง เป็นระบบสาธารสนเทศเชิงกลยุทธ์ และ4.ระบบสื่อสารและบริการประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเทคโนโลยีที่ทั้ง2ประเทศนำมาใช้ คือ Informatic platform, Big data ,AI ,IT Infrastruture & network ,IT securit”นพ.ยงเจือ กล่าว
นพ.ยงเจือ เหล่าศิริถาวร
นพ.ยงเจือ กล่าวว่า สำหรับไทยมีการใช้ Digital platformในงานป้องกันควบคุมโรคโควิด -19 ซึ่งมี 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ DDC Covid -19 :การรายงานและสอบสวนโรค, DDC-Care:การติดตามผู้ป่วย ผู้สัมผัส และกลุ่มเสี่ยง ,COSTE:การติดตามผู้เดินทางจากต่างประเทศที่กักตัวในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ , ไทยชนะ:การตรวจสอบประวัติการใช้สถานที่ร่วมกันกับผู้ป่วยยืนยัน และหมอชนะ:การตรวจสอบประวัติการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งจากกรณีที่ไทยเกิดการระบาดจาก 2 กลุ่มก้อน คือ สนามมวยและสถานบันเทิง ก็ถือว่าไทยควบคุมและชะลอการระบาดได้ดีสามารถควบคุมโรคได้ภายในสองเดือน กระทั่งมาต่อยอดถึงการวางมาตรการรองรับชาวไทยที่มาจากต่างประเทศ โดยการตั้งสถานที่กักกันเป็นเวลา14วัน
“การนำแอปพลิเคชัน DDC-Care มาใช้นั้นมีประโยชน์มากทำให้ช่วยประหยัดคนในการไปทำภารกิจเฝ้าตามบ้าน โดยในอนาคตหากมีการเปิดด่าน จะต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ทางระบาดวิทยา ของโรคติดต่ออย่างบูรณาการ โดยทำเป็นเรียลไทม์ดาต้า (Real Time Data ) ที่สำคัญคือต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลระบบกักกันโรคแห่งรัฐ ระบบสารสนเทศด้านระบาดวิทยาเพื่อตอบโต้การระบาดของโรค พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ เพื่อการเฝ้าระวังควบคุมโรคแบบ real Time เพื่อวางแผนนโยบายและกลยุทธ โดยที่มีความปลอดภัยและมั่นคง ซึ่งถือเป็นการบูรณาการเทคโนโลยีในทุกด้านรวมกับศาสตร์ในการควบคุมโรคระบาดอย่างแท้จริง”นพ.ยงเจือ กล่าว
ขณะที่ ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์-สวทช. ขยายภาพระบบ DDC-Care ว่า เป็นแอปพลิเคชัน ที่เน้นความเสี่ยงตามที่แพทย์ระบุว่าต้องมีการติดตามโดยไทยพบผู้ป่วยช่วยปลายเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา สำหรับระบบ DDC-Car พัฒนาขึ้นเพื่อติดตามกลุ่มเสี่ยงให้อยู่กับบ้านครบ 14 วัน โดยแอปฯนี้ จะต่างกับไทยชนะเพราะจะใช้เฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงจริงๆเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้นใน 2 ปัจจัย ได้แก่
1.เจ้าหน้าที่พบกลุ่มเสี่ยงก็จะให้สแกนคิวอาร์โค๊ด และ2.หากกลุ่มเสี่ยงไม่ได้อยู่กับเจ้าหน้าที่ เช่น มีญาติติดเชื้อ ก็จะส่ง SMS ไปแจ้งเตือน สำหรับแอปฯนั้นมีการพัฒนาเป็น 4 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ และพม่า ซึ่งแอปฯนี้เกิดได้จากความสามัคคี อย่างไรก็ตามเมื่อไทยมีการเปิดประเทศ อนาคตอาจใช้สายรัดข้อมือร่วมกับโทรศัพท์ เพื่อป้องกันการทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางที่เทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ การป้องกันโรค
ด้าน ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ นักวิจัย กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ เนคเทค-สวทช. ขยายภาพถึง ระบบ DDC-Care ว่า ระบบจะรับข้อมูลอย่างเรียลไทม์ เพื่อนำเสนอข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามประเมินกลุ่มเสี่ยงได้ โดยจะมุ่งไปที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขต จังหวัด ตำบล เพื่อป้องกันความลับ โดยแอปฯนี้ถือเป็นตัวแรกที่สามารถพัฒนาได้ภายใน 2 สัปดาห์ จากปกติต้องใช้เวลาเป็นปี
“DDC-Care เป็นการต่อยอดจากแอปฯทันระบาดซึ่งรับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ที่เรียกว่าข้อมูล 506 มาต่อยอดในเรื่องโควิด -19 ซึ่งการพัฒนาแอปฯนั้นจะทำไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการวางระบบเพื่อแก้ไขปัญหา การใช้งานโดยมีการเชื่อมโยงกับสำนักงานหลักระกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินแบบวันต่อวัน สำหรับการเตรียมการเพื่อรับมือกับโควิด-19 อนาคตการใช้เทคโนโลยียังสำคัญ ดังนั้นต้องวางแผนการใช้เทคโนโลยีให้ตรงจุด ทั้งนี้ในอนาคตสิ่งสำคัญคือไทยต้องสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆเข้าด้วยกันและระบบ DDC-Care ไม่ได้ใช้แค่ระบบที่ใช้กับโรคโควิด-19 อย่างเดียว เพราะตัวระบบสอดรับกับโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำทุกโรค เพียงแต่โรคโควิดถือเป็นตุ๊กตา เพราะจริงๆแล้วมี 3 ฟังก์ชันหลัก คือ 1.ดูว่าอยู่ในสถานที่กักหรือไม่ 2.ไม่ว่าจะโรคไหนก็จะรู้ว่าไปจุดไหนบ้าง และ3.มีการรายงานเรื่องของไข้ ดังนั้นฟังก์ชันพร้อมจะเปลี่ยนเพียงอาการของโรคเท่านั้น”ดร.นัยนา กล่าว
ดร.นัยนา กล่าวอีกว่า อนาคตต้องมีแพลตฟอร์มการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางระบาดวิทยาของโรคติดต่ออย่างบูรณาการ โดยตัวแพลตฟอร์มจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีการวางกรอบการทำงานด้านระบาดวิทยาคร่าวๆ ขณะนี้เป็นเพียงร่างที่จะนำไปหารือกับกรมควบคุมโรคอีกครั้งและถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่ามาก จึงต้องมาขับเคลื่อนการสร้างนวัฒกรรมต่างๆ ซึ่งในส่วนของเรเย่อต้องลดภาระการป้อนข้อมูลของมนุษย์ และมีดาต้าคอยเก็บข้อมูล ต่อไปจะมีการจัดการคุณภาพข้อมูล เพื่อจัดการข้อมูลให้ได้มาตรฐานเพื่อนำไปบูรณาการก่อนนำไปวิเคราะห์ต่อโดยใช้AIเข้ามาช่วย
“ข้อมูลที่ได้จะเหมือนการไหลเวียนโลหิต คือ ข้อมูลเข้ามามีการประมวลผล และนำข้อมูลที่ประมวลผลไปเก็บที่ดาต้า ก่อนนำข้อมูลขึ้นไปสู่ดิจิทัล หากข้อมูลไหนสามารถเปิดได้ เราต้องมีการจัดการข้อมูล โดยดึงกลุ่มสตาร์อัพมาร่วมในการทำให้กับชุมชน ฝั่งของแพทย์ก็จะมีทีมและแอปเฉพาะให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข” ดร.นัยนา กล่าว และว่า จากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น หากไทยมีการเหลียวหลังไปมองบทเรียนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญดังนั้นไทยต้องมีแพลตฟอร์มการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน
นพ.ยงเจือ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตัวเทคโนโลยีเองไม่สามารถป้องกันโรคได้ แต่ตัวเทคโนโลยีทำให้การควบคุมป้องกันโรคมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้นการที่จะป้องกันได้ต้องมีการร่วมกับเทคโนโลยี เป็นแพลตฟอร์มเดียวกันสร้างเป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลร่วมกันทั้งประเทศ
- 283 views