เวลาที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ตามแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ มักจะมีผู้ที่มาแสดงความเห็นว่าโควิด-19 ไม่มีอยู่จริง หรือบอกว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลหรือสื่อกุขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนกลัว ความเชื่อผิดๆ แบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะคนทั่วไป แต่ยังลามไปถึงระดับปัญญาชน

            ลักษณะของข้อมูลผิดๆ ที่เกิดจากปัญญาชนมีทั้งที่เป็นข้อมูลที่ผิดโดยไม่เจตนา (Misinformation) และการให้ข้อมูลผิดๆ โดยมีเจตนาบางอย่าง (Disinformation) เช่น เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อโดยหวังผลทางการเมือง ตัวอย่างที่อ้างอิงข้างต้นบางกรณีเป็นการให้ข้อมูลผิดๆ เพราะความเชื่อส่วนบุคคล หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นผู้กังขาต่อโควิด-19 

            เช่นเดียวกับที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าโลกของเรามีผู้ไม่เชื่อว่าโควิด-19 เป็นเรื่องจริงหรือเป็นภาวะฉุกเฉินมากมาย คนเหล่านี้คือพวกผู้กังขาต่อโควิด-19 ซึ่งมีทั้งคนธรรมดาและปัญญาชน/นักวิชาการ

            เช่น กรณีของ ไมค์ พาล์เมอร์ (Mike Palmer) ศาสตราจารย์ด้านเคมีแห่งมหาวิทยาลัยวอเทอร์ลู (University of Waterloo) ในประเทศแคนาดาที่บอกว่าโควิด-19 เป็น "เหตุฉุกเฉินปลอมๆ" โดยเขาถึงกับเขียนเรื่องนี้ไว้ในโครงร่างของหลักสูตรปีที่ 4 เกี่ยวกับเภสัชวิทยาชีวเคมีว่า “เนื่องจากเหตุฉุกเฉินปลอมๆ ของโควิด การสอบในชั้นเรียนจึงไม่สามารถทำได้ ดังนั้นผมจึงตัดสินใจที่จะยกเลิกทั้งหมด การประเมินจะขึ้นอยู่กับงานที่ได้รับมอบหมายทั้งหมด”

            เมื่อศาสตราจารย์พาล์เมอร์แสดงความเห็นแบบนี้ไป นายจ้างและเพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นอาจารย์วิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์บอกว่าไม่เห็นด้วยกับเขา แต่มีข้อสังเกตว่าศาสตราจารย์พาล์เมอร์ไม่ได้ถูกตำหนิหรือลงโทษที่แสดงความเห็นผิดๆ แบบนี้ รอเบิร์ท เลอมิเยอซ์  (Robert Lemieux) คณบดีวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามหาวิทยาลัยเคารพเสรีภาพทางวิชาการของคณาจารย์ในการแสดงความคิดเห็น (1)

            กรณีของศาสตราจารย์พาล์เมอร์เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดผลสะเทือนอย่างมาก เพราะตัวเขาเป็นศาสตราจารย์ด้านเคมีด้วยลักษณะอาชีพและตำแหน่งทางวิชาการ การพูดว่าโควิด-19 ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ทำให้ผู้ที่รับสารอาจจะเชื่อถือได้โดยไม่ใตร่ตรอง อีกทั้งต้นสังกัดยังยึดมั่นกับเสรีภาพส่วนบุคคลจนไม่สามารถแก้ไขคำพูดของเขาได้ ผลที่ตามมาอาจจะเลวร้ายอย่างมาก เพราะคนทั่วไปจะเชื่อว่าโรคนี้ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินและปล่อยปละละเลยจนติดเชื้อขึ้นมา

            นอกจากกรณีของการให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดแล้ว ยังมีกรณีของการให้ข้อมูลที่ไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มาพอ เช่น กรณีของ ฮาร์วีย์ ริสช์ (Harvey Risch) ศาสตราจารย์คณะสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการใช้ไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ในการรักษาโควิด-19 แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลก็ตาม

            ศาสตราจารย์ริสช์แสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ Newsweek  เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ว่าควรใช้ไฮดรอกซีคลอโรควินร่วมกับยาปฏิชีวนะอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19  COVID-19 ที่มีความเสี่ยงสูงโดยไม่ต้องรอการทดสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรักษา และก่อนหน้านี้เขายังตีพิมพ์บทความใน American Journal of Epidemiology เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนการใช้ไฮดรอกซีคลอโรควิน อ้างว่าการใช้ยาร่วมกันนี้สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและปลอดภัยสำหรับการใช้ในระยะสั้นในช่วงต้นของการติดเชื้อ

            แต่บทความทั้งสองของศาสตราจารย์ริสช์ถูกโต้แย้งอย่างกว้างขวาง เพราะการใช้ไฮดรอกซีคลอโรควินเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันอย่างหนักมาตลอดเรื่องประสิทธิภาพเนื่องจากขาดหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่ม ผลก็คือนักวิชาการของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเยลมีแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Medium เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563 แสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่ริสช์สนับสนุนการใช้ไฮดรอกซีคลอโรวินอย่างจริงจังของ โดยมีการลงนามโดยคณาจารย์เยลมากกว่า 20 คน

            ส่วนหนึ่งของแถลงการตอบโต้ระบุว่า “ในฐานะเพื่อนร่วมงานของเขา เราขอปกป้องสิทธิของดร. ริสช์นักระบาดวิทยามะเร็งที่ได้รับการยอมรับในการแสดงความคิดเห็นของเขา แต่เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อและเขาไม่ได้รู้สึกสั่นคลอยจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากการทดลองทางคลินิกอย่างเข้มงวดซึ่งหักล้างความเป็นไปได้ของความเชื่อและข้อโต้แย้งของเขา” นอกจากนี้แถลงการณ์ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ป่วยท่ามกลางข้อมูลที่ผิดๆ ถูกเผยแพร่โดยผู้คนอย่างริชทั้งๆ ที่มีหลักฐานโต้แย้งอย่างชัดเจน (2)

            การใช้ไฮดรอกซีคลอโรควินกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ส่งเสริมให้ยาคลอโรฟอร์มและไฮดรอกซีคลอโรควีนเป็นยาที่มีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563 และทรัมป์อ้างว่าคลอโรฟอร์มได้รับการ "อนุมัติอย่างรวดเร็วมาก" (approved very, very quickly) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) การปั่นข้อมูลนี้ของทรัมป์ทำให้คลอโรฟอร์มและไฮดรอกซีคลอโรควีนขาดตลาดอย่างรวดเร็ว (3)

            แต่ทรัมป์ซึ่งมีปัญหาเรื่องกาเรผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ยังไม่หยุดแค่นั้น เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ทรัมป์ยังเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเขารับประทานไฮดรอกซีคลอโรควินร่วมกับสังกะสีและอะซิโทรมัยซินในปริมาณเริ่มต้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอีกด้วย (3)

            หลังจากนั้นมีการทดลองวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของไฮดรอกซีคลอโรควินจนทำให้เกิดการโต้เถียงในวงกว้าง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้เพิกถอนการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยระบุว่า "ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไปที่จะเชื่อ" ว่ายานี้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านโควิด-19 และไม่เชื่อว่ายานี้มีคุณมากกว่าโทษในการใช้กับโควิด-19 (4)

            นอกจากกรณีที่เกิดขึ้นกับคนในวงการวิชาการสายวิทยาศาสตร์แล้ว วงวิชาการสายสังคมศาสตร์ก็ยังมีการแสดงความเห็นต่อโควิด-19 ในลักษณะกังขาอีกด้วย แต่เป็นความกังขาต่อวงการวิชาการสายวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ต่อการระบาด

            ตัวอย่างเช่นบทความที่ชื่อ Coronavirus: why it’s dangerous to blindly ‘follow the science’ when there’s no consensus yet (โคโรนาไวรัส: เหตุใดการ "ทำตามหลักวิทยาศาสตร์" แบบสุ่มสี่สุ่มห้าจึงเป็นอันตรายเมื่อยังไม่มีฉันทามติ) เขียนร่วมโดย นีล เลวี่ (Neil Levy) นักวิจัยอาวุโส Uehiro Center for Practical Ethics แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และคณะศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์อีก 2 ท่านจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา

            บทความนี้กล่าวว่า วารสาร Lancet และ New England Journal of Medicine เป็นหนึ่งในวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกยังต้องถอนงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของการรักษาโควิด-19 หลังจากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน (ซึ่งหนึ่งในกรณีเหล่านี้คือการถอนงานวิจัยเกี่ยวกับไฮดรอกซีคลอโรควิน) เรื่องอื้อฉาวในวงการวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาของการระบาดใหญ่เผยให้เห็นอันตรายของการเร่งรัดงานวิจัยเพื่อให้ได้ผลงานทางวิทยาศาสตร์ก่อนเวลาอันควร

            สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเรื่องความน่าเชื่อถือมาจากภาวะฉุกเฉินของการระบาด ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรฐานการวิจัยเพื่อส่งเสริมให้มีการตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับโรคระบาดให้เร็วขึ้นดังนั้นความผิดพลาดจึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

            "นี่คือความเสี่ยง ท้ายที่สุดแล้วหากคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระบาดของโรคกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องจะมีผลกระทบที่เลวร้ายต่อวิธีการปฏิบัติตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ในด้านนโยบายอื่นๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" บทความระบุ หมายความว่าหากงานวิจัยไม่สามารถเชื่อถือได้ ผู้คนก็จะไม่เชื่อผลวิจัยที่เตือนถึงปัญหาที่เลวร้ายในระยะยาวกว่าโรคระบาด นั่นคือปัญหาโลกร้อน ดังเช่นในตอนนี้มีผู้กังขาต่อภาวะโลกร้อนเป็นจำนวนมากกว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หนึ่งในนั้นคือโดนัลด์ ทรัมป์

            พวกเขายังเตือนว่า "เราเสี่ยงที่จะทำให้ผู้คนเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญไม่ดีไปกว่าพวกเรา (คนนอกวงวิชาการ) ในการคาดการณ์และให้คำอธิบายที่สามารถชี้นำนโยบายได้" (5) ซึ่งนี่คืออันตรายที่จะทำให้ผู้ที่กังขาต่อโควิด-19 (COVID-19 skeptics) ยิ่งกังขามันมากขึ้น และรวมถึงผู้กังขาต่อวิกฤตการณ์ต่างๆ ของโลกเรื่องอื่นๆ ด้วย จนกลายเป็นการบั่นทอนความพยายามที่จะแก้ปัญหา

            งานวิจัยที่ถูกถอดหรือตั้งคำถามอาจไม่ใช่ข่าวปลอม/ข้อมูลบิดเบือนทั้งหมด แต่มันเป็นผลมาจากความเร่งรีบในการทำวิจัยเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และถึงแม้ว่างานวิจัยจะถูกตรงเที่ยงตรงแต่ก็ยังมีปัญหามาจาก ปริมาณงานวิจัยและการตีความที่ไหลบ่าเข้าสู่การรับรู้ของสาธารณชนทำให้สาธารณชนย่อยข้อมูลไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแบ่งปันข้อมูลทางโวเชียลเน็ตเวิร์กหรือสื่อต่างๆ โดยไม่มีการเอ่ยถึงบริบทอย่างครบถ้วนก็อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเมินเฉยต่องานวิจัยที่ถูกต้องได้

            อเลสซู บาจัก (Aleszu Bajak) นักข่าวด้านวิทยาศาสตร์และดาต้าและอาจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นในเมืองบอสตันประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่าเราไม่สามารถคาดหวังให้สาธารณชนเข้าใจศาสตร์ทั้งหมดได้ ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจซึ่งเป็นคนที่ไว้วางใจในการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นให้ แต่ตอนนี้เราไม่ได้มีแค่นักวิทยาศาสตร์บนหอคอยงาช้างที่เอาแต่โยนข้อมูลออกมาเท่านั้น แต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่แข่งขันกันชี้นำโดยมีแรงจูงใจที่แตกต่างกันอีกด้วย (6)

 

 

อ้างอิง

1. Pender, Terry. "UW chemistry professor calls COVID-19 ‘fake emergency’". New Hamburg Independent. (September 11, 2020). Retrieved September 11, 2020.

2. Zimmer, Charlotte. "YSPH professor criticized for promoting unproven drug to treat COVID-19". Yale Daily News. (August 16, 2020). Retrieved September 11, 2020.

3. Wikipedia contributors. "Hydroxychloroquine." Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 7 Sep. 2020. Web. 11 Sep. 2020.

4. "HCQ and CQ revocation letter" (PDF). U.S. Food and Drug Administration (FDA). 15 June 2020. Retrieved September 11, 2020.

5. Levy, Neil. Schliesser, Eric. Winsberg, Eric. "Coronavirus: why it’s dangerous to blindly ‘follow the science’ when there’s no consensus yet". The Conversation. (June 18, 2020). Retrieved September 11, 2020.

6. Bryant, Christa Case. Hinckley, Story. "In a polarized world, what does ‘follow the science’ mean?". The Christian Science Monitor. (August 12, 2020). Retrieved September 11, 2020.

 

ภาพจาก FEMA/Win Henderson (Public Domain)