สธ.แจงรายละเอียดกรณีล่ามแรงงานประจำกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย เผยทางระบาดวิทยา นับเป็นการเสียชีวิตจากโควิด-19 รายที่ 59 ของประเทศไทย พร้อมนำเข้ากก.ภายใต้พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 พิจารณาให้ความเห็นเพิ่มเติม
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 18 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร โรงพยาบาลราชวิถี และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีล่ามที่เดินทางจากซาอุดิอาระเบียป่วยโควิด-19 และเสียชีวิตที่ รพ.ราชวิถี
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตสำหรับรายละเอียดของผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยอายุ 54 ปีเป็นล่ามของสำนักแรงงานที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย คนไข้เริ่มป่วยตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. ตรวจพบโควิด -19 วันที่ 21 ก.ค. แต่ไม่ได้นอนที่โรงพยาบาล ต้องกลับมาอยู่บ้าน และได้รับคำแนะนำจากทีมแพทย์ไทยในกรุ๊ปไลน์ จากนั้น วันที่ 26 ก.ค. อาการมากขึ้น หายใจไม่ทั่วท้อง มีไข้ไอ จึงไปที่รพ.King Fahad Medical City นอนรพ.ได้ 4-5 วัน ก็อาการแย่ลงต้องย้ายไปที่ ICU ต้องปั้มหัวใจในวันที่ 10 ส.ค. และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนั้นผู้ป่วยได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำ 2 ครั้งในวันที่ 25 ส.ค และวันที่ 30 ส.ค ก็ไม่พบเชื้อ สถานทูตและญาติผู้ป่วยจึงได้ประสานนำผู้ป่วยกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศไทย โดยมีการขนย้ายด้วยด้วยเครื่องบินพยาบาล (Air Ambulance) พร้อมทีมแพทย์และพยาบาล ออกจากกรุงริยาดวันที่ 1ก.ย.เวลา 20.30 น. เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. วันที่ 01.30 น. ทีมแพทย์ศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี รับผู้ป่วยมาที่รพ.ราชวิถี วันที่ 3 ก.ย. เวลา 8:00 ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นแพทย์จึงใส่ท่อช่วยหายใจและได้ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาทางหลอดเลือดดำ และเพาะเชื้อแบคทีเรีย รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถีอาการทรงๆ ทรุดๆ ในระยะหลังก็อาการแย่ลง ก่อนจะเสียชีวิต
“ผลการตรวจเชื้อตอนที่อยู่ซาอุฯ 2 ครั้งไม่พบเชื้อแพทย์จึงไม่ได้ให้ยารักษาโควิด-19 แต่ให้ยารักษาโรคประจำตัวของผู้ป่วยดังนั้นการเสียชีวิตในรายนี้ สาเหตุหลักจริงๆ ทีมแพทย์คุยกันแล้วว่าเป็นการเสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน แต่ในทางระบาดวิทยาเนื่องจากอยู่ระหว่างการรักษาโควิดต่อเนื่องมา จึงต้องรอคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้งว่าจะนับเป็นการเสียชีวิตจากโควิดหรือไม่ในสัปดาห์หน้า” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.พจน์ กล่าวว่า ระหว่างที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่รพ.ราชวิถี จากการประเมินแรกรับผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องปอดอักเสบต่อเนื่องจากโรคโควิด-19 ก่อนที่จะส่งตัวมารักษาที่ไทย แม้อาการจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ปอดเกิดผังผืดจากโรคโควิด ทำให้การหายใจค่อนข้างลำบาก หลังเข้ารับการรักษาได้ประมาณไม่ถึง 10 ชั่วโมงก็ต้องใส่ท่อช่วยหายใจอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายขนานแทรกซ้อนอยู่ จึงได้ให้ยารักษาต่อเนื่อง นอกจากนี้เนื่องจากผู้ป่วยหยุดหายใจ และปั๊ม 1 ครั้ง ตั้งแต่ที่อยู่ที่ซาอุฯ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการบาดเจ็บ รพ.ราชวิถีก็ตรวจพบคลื่นหัวใจมีความผิดปกติ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการให้ยาต่างๆ โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ
นพ.พจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งจากการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างสวิงระหว่าง 100-140 ซึ่งทำให้ยุ่งยากในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและผลของการควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดีส่งผลให้การดูแลรักษาเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำจากแบคทีเรียดื้อยาในรพ.ก็จะมีความยุ่งยากขึ้น ทั้งนี้ ทางรพ.ได้ให้ยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด แต่ตอบสนองไม่ดี เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงต้องให้ยาเพิ่มการควบคุมความดันของเลือด ในสภาพที่ปอดอักเสบต่อเนื่อง ทำให้ผู้สภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็ว ระบบเลือด และระบบการหายใจล้มเหลว และไตวายเรื้อรังที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อ จากปัจจัยที่เป็นผลรวมกันเป็นผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
นพ. โสภณ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 3,430 สอบสวนโรคติดเชื้อมาตั้งแต่ประเทศซาอุฯ ประมาณ 1 เดือนเศษก่อนเข้าประเทศไทย เดินทางด้วยเครื่องบินการแพทย์ คณะแพทย์ที่ติดตามมาไม่ได้เข้ามายังประเทศไทย ส่งตัวเสร็จก็กลับเลย ดังนั้น ถือเป็นมาตรฐานสากล ไม่มีผู้สัมผัสเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายเข้ารับการรักษาในรพ.ต่อเนื่องด้วยโรคโควิด-19 จำนวน 54 วัน แม้จะเปลี่ยนสถานพยาบาล และประเทศที่ให้การรักษา แต่ทางระบาดวิทยาก็นับว่าเป็นการการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และนับเป็นการเสียชีวิตรายที่ 59 ของประเทศไทย โดยจะนำเข้าคณะกรรมการภายใต้พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นเพิ่มเติม
- 11 views