รมช.สธ.เสียใจกรณีเหตุชายไทยกระโดดจากที่เป็นที่เป็นสถานที่กักแยกเฝ้าระวังโรค เร่งหาสาเหตุ ย้ำที่ผ่านมาดูแลสุขภาพทั่งกาย และสุขภาพจิต
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีชายไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอล กระโดดจากที่พักที่เป็นสถานที่กักแยกเพื่อเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในกลุ่มผู้เดินทางมา ว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สาเหตุ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการดูแลผู้ที่ต้องกักตัวนั้นจะมีระบบการดูแลทั้งทางด้านร่างกาย และสุขภาพจิตอยู่ด้วย
ด้าน นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการหาสาเหตุ และมีทีมสุขภาพจิตคอยดูแลผู้ต้องแยกกักในสถานที่เดียวกัน และประสานทีมจิตแพทย์ในพื้นที่บ้านเกิดของชายไทยรายดังกล่าวเพื่อลงไปให้การดูแล และเยียวยาสภาพจิตใจของญาติๆ ด้วย
นพ.สมัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามีระบบการดูแลผู้ต้องถูกกักตัวทั้งด้านร่างกาย และสุขภาพจิต ซึ่งในส่วนของการดูแลสุขภาพจิตนั้น มีระบบการคัดกรองตั้งแต่อยู่บนเครื่องบิน โดยจะมีการประเมินเรื่องความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะเสี่ยงซึมเศร้า และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย เพื่อจะได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งหากเป็นคนที่มีภาวะเสี่ยงก็จะเข้าไปดูแลทันทีตั้งแต่มาถึงเมืองไทย ส่วนคนที่ไม่มีภาวะเสี่ยงอะไรเลยนั้น ทีมจิตแพทย์จะไม่ได้เข้าไปดูแลในวันแรกๆ รอให้คนเหล่านี้ทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นจึงระดมทีมสุขภาพจิตไปประเมินให้ครบในวันที่ 2 และ วันที่ 3 ที่เข้าพัก พร้อมกับให้คำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดความเครียด ลดความกังวล
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารคำแนะว่าในแต่ละวันควรทำไรบ้าง ขณะเดียวกันระหว่างที่ต้องกักตัวก็จะมีการพูดคุยให้คำปรึกษาทั้งผ่านทางไลน์ ผ่านคิวอาร์โค๊ด ผ่านทางโทรศัพท์ หากพบว่าใครมีปัญหาสุขภาพจิตก็จะเข้าไปดูแล หรือหากมีอาการรุนแรงก็จะส่งไปรักษาที่รพ.ที่จับคู่ไว้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ในสถานที่แยกกักนั้น หากรู้สึกเครียดหรือกังวลก็สามารถโทรปรึกษาทีมสุขภาพจิตที่ประจำอยู่ หรือโทร 1323 ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็พบว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพกาย ต้องดูแลกันค่อนข้างมาก หรือที่เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชก็จะมีบางคนที่มีการเสพติดเหล้า ซึ่งในสถานที่แยกกักนั้นเราไม่อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้คนเหล่านี้มีปัญหาการลงแดง ก็ต้องเข้าไปดูแลกันเป็นพิเศษ อาจจะเครียดมากไปหน่อย
“ในรายนี้จากที่ประเมินบนเครื่องบินไม่พบปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า ประชาชนส่วนหนึ่งที่กลับเข้ามานั้นไม่ยอมบอกข้อมูลอะไรในช่วงที่คัดกรองตั้งแต่ที่อยู่บนสนามบิน แต่ก็ไม่ได้รับรายงานว่ามีการโกหก หรือให้ข้อมูลเท็จอะไร ดังนั้นหากญาติๆ เองที่รู้ว่าจะมีญาติกลับจากต่างประเทศแล้ว มีสภาวะปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิตอะไรอยู่สามารถแจ้งเข้ามาเพื่อให้ทราบ และดูแลอย่างเหมาะสมอีกทางหนึ่ง” นพ.สมัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงปัจจัยที่ทำให้คนเดินทางจากต่างประเทศไม่ยอมบอกข้อมูลเป็นเพราะอะไร นพ.สมัย กล่าวว่า ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่ไม่ยอมบอกข้อมูลเพราะความกังว่าจะถูกตีตรา ซึ่งเกิดขึ้นจริง และกระทบไปถึงญาติๆ ที่อยู่ทางบ้านด้วยที่ถูกรังเกียจ ตีตรา แต่ช่วงหลังๆ ลดลงไปมากแล้ว ซึ่งตนก็ขอยืนยันอีกครั้งว่าคนที่ต้องกักตัวนั้นไม่ใช่ว่าทุกคนจะติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีน้อยมาก สิ่งสำคัญคือ เมื่อกักตัวครบ 14 วัน แล้ว พ้นระยะฟักตัวของโรคแล้ว เพื่อกลับเข้าสู่ชุมชนก็จะไม่แพร่เชื้อฯ ต่อ
- 2 views