กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเผยขั้นตอนคุมเข้มคนไข้ต่างชาติที่เข้ารักษาพยาบาลตามนัดใน รพ.ไทย ย้ำต้องกักตัวในโรงพยาบาล หากฝ่าฝืนมีโทษ ทั้งคนไข้ และสถานพยาบาลนั้นๆ

หลังจากอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพออกมาชี้แจงกรณีคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารักษารักษาตามนัดในประเทศไทยพบว่า ติดเชื้อโควิด-19 ว่า จริงๆ มาตรวจพบภายหลังการเข้ารักษามะเร็งตับในไทย ซึ่งก่อนเข้าประเทศได้มีการตรวจเชื้อระยะเวลา 72 ชั่วโมงแต่ไม่พบนั้น และย้ำว่ามีมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อที่จะเข้ามาในประเทศไทยนั้น

( ข่าวเกี่ยวข้อง : สบส.แจงกาตาร์ติดโควิดหลังรักษามะเร็งตับในไทย ย้ำก่อนเข้าปท.ตรวจไม่พบ!!)

ภาพจาก Moph

ลองมาดูขั้นตอนในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันคนไข้ต่างประเทศที่จะเข้ามารักษาในประเทศไทยตามนัด ว่า ระบบคัดกรองป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างไร

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ข้อมูลว่า สำหรับคนไข้ต่างประเทศที่จะเข้ามารักษาในประเทศไทยตามนัดนั้น เรามีระบบการรองรับสถานพยาบาลทางเลือกตามมติ ศบค.ที่อนุญาตให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆมารักษาโดยมีผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่จะรักษานั้นตามระบบที่ออกแบบไว้ ได้แก่

1.ก่อนเข้าประเทศต้องมีผลตรวจเชื้อในระยะเวลา 72 ชั่วโมงว่าไม่เป็นโควิด

2. เรื่องการเงินการคลังต้องมีหลักฐานว่ามีความพร้อมจ่ายและมีกรมธรรม์

3.มีการติดต่อกับสถานทูตไทยเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศ

4.เมื่อมาถึงไทยต้องมีรถของโรงพยาบาล รับ-ส่งและมีตึกหรืออาคารเฉพาะ

5.มีการตรวจแล็บ 3 ครั้ง หากพบต้องเข้ารักษาร่วมกับการสอบสวนโรคเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

6.หากโรคที่เข้ามารักษาหายก่อน 14 วัน ก็จะต้องกักกันตัวจนครบ 14 วันถึงจะออกจากโรงพยาบาลได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้ป่วยต้องออกค่ารักษาเอง

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ที่ ศบค.อนุญาตนั้นมีผู้ป่วยเดินทางเข้ามาสู่ Alternative Hospital Quarantine: AHQ หรือโรงพยาบาลทางเลือกเป็นจำนวน 166 ราย เป็นผู้ป่วย 90 ราย ผู้ติดตาม 76 ราย และในวันที่ 25 ส.ค.จะมาอีก 4 ราย และมีผู้ป่วยยื่นความจำนงอีก 423 ราย มีผู้ติดตาม 250 ราย รวม 673 ราย ซึ่งจะทยอยมา สำหรับสถานพยาบาลที่ผ่านการประเมินขณะนี้มีโรงพยาบาล 98 แห่ง และคลินิก 26 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคลินิกรักษาการมีบุตรยาก ความงามทันตกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และเพื่อมนุษยธรรมเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มารักษาอยู่ก่อนแล้ว

“ เมื่อมารักษา ที่ รพ. จะมีการกักตัวที่สถานพยาบาล 100 % ไม่อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล ทั้งนี้เท่าที่ดำเนินการมา 166 ราย ยืนยันว่าทั้งหมดกักตัวในสถานพยาบาลทุกราย หากใครไม่ปฏิบัติตามจะโดนโทษตามกฎหมายทั้งโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ,พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และในกรณีโรงพยาบาลที่ไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541ด้วย” นพ.ธเรศ กล่าวทิ้งท้าย