ผู้อำนวยการรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผยรายงานวารสาร Science ระบุการนอนอาจช่วยป้องกันสมองเสื่อม ชูตำรับยาพื้นบ้าน “กลีบบัวแดง” ช่วยนอนหลับดีขึ้น พร้อมวิจัยร่วม มข. ศึกษาเพิ่มเติม

พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า มีการศึกษาจากหลายสถาบันระบุตรงกันว่า อาการนอนไม่พอหรือหลับๆ ตื่นๆ เป็นผลเสียต่อสมอง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ดังรายงานการวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ พบว่า การนอนน้อยหรือคุณภาพการนอนไม่ดีมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มระดับคราบโปรตีนอะไมลอยด์เบต้า (amyloid beta peptides) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นพิษต่อสมอง เมื่อสะสมมากเข้าจะกลายเป็นแผ่นในสมอง ขัดขวางการส่งสัญญาณประสาท และนำมาซึ่งโรคอัลไซเมอร์ นักวิจัยศึกษาผู้สูงอายุ 70 คน มีอายุเฉลี่ย 76 ปี จากการสแกนสมองพบว่า ผู้ที่มีการนอนน้อยต่ำกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน หรือผู้ที่หลับๆ ตื่นๆ มีระดับสาร amyloid-beta peptides ในสมองสูงกว่าผู้ที่นอนเกิน 7 ชั่วโมง

“ปัจจุบันนักวิจัยยังไม่อาจสรุปว่า การนอนที่ไม่ดีเป็นสาเหตุการสร้างสาร amyloid-beta peptides หรือการที่มีสาร amyloid-beta peptides สูงทำให้นอนไม่หลับ เรียกว่าเป็นได้ทั้งสองทาง เช่นเดียวกับงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่มีการนอนไม่หลับอาจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ เพราะการนอนหลับจะช่วยขับสารพิษออกจากสมอง พบว่าเมื่อหนูนอนหลับ เซลล์ในสมองจะสะอาดขึ้น” พญ.โศรยา กล่าว

ส่วนรายงานของ Dr.Mariken Nedergaad ในวารสาร Science ก็ระบุว่า การนอนอาจช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่พบว่าการนอนหลับทำให้ระงับผลจากยีน APOE-E4 ซึ่งเป็นยีนที่ทำให้พัฒนาเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยทดสอบในผู้สูงอายุ 700ราย ที่ติดตามผลการนอนและความจำ ระยะแรกไม่มีใครเป็นโรคสมองเสื่อม แต่อีก 6 ปีต่อมามี 98 รายเป็นโรคอัลไซเมอร์ และ 201 รายเสียชีวิต เมื่อตรวจสมองพบว่ามีแผ่นหนาและความยุ่งเหยิงที่บ่งบอกสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ “การนอนไม่พอทำให้มีปัญหาด้านความจำและความคิด แม้ในคนปกติ ส่วนภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ ที่เรียกว่า sleep apnea ซึ่งทำให้ตื่นในเวลาสั้นๆ นับร้อยครั้งก็มีปัญหาในด้านความจำ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคความจำเสื่อมเช่นกัน”

ตำรับยากลีบบัวแดง

พญ.โศรยา กล่าวว่า แพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ทำการพัฒนาตำรับยาจากองค์ความรู้พื้นบ้านใช้ชื่อ กลีบบัวแดง ประกอบด้วย กลีบบัวแดง(บัวหลวง) บัวบก และพริกไทยดำ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลพบว่าช่วยให้นอนหลับดีขึ้นในผู้ป่วย จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่า สารสกัดจากตำรับยากลีบบัวแดง ออกฤทธิ์ต้านกลไกการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ในหลายกลไกพร้อมๆกัน (multitarget activities) คือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ปกป้องสมอง ช่วยฟื้นฟูความจำ ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ที่มีหน้าที่เปลี่ยนความจำระยะสั้นเป็นความจำระยะยาว อีกทั้ง ยังยับยั้งการสะสมของ amyloid beta peptides และ ยับยั้งเอนไซม์แอซีทิลโคลีนเอสเทอเรส (acetylcholinesterase inhibitors) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อแอซีทิลโคลีน (acetylcholine) เป็นสารสื่อประสาทที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความจำของมนุษย์ หากสารสื่อประสาทชนิดนี้ลดลง จะส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้

“กลไกนี้ของตำรับกลีบบัวแดง เป็นกลไกเดียวกันกับยารักษาสมองเสื่อมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นการช่วยยืนยันองค์ความรู้โบราณที่สัมพันธ์กับการวิจัยสมัยใหม่ ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนในชื่อ อภัยบี กลีบบัวแดง และทางโรงพยาบาลกำลังดำเนินงานวิจัยตำรับยานี้ในผู้ที่มีภาวะถดถอยทางสมอง หรือ Mild Cognitive impairment ( MCI ) ซึ่งคงทราบผลการวิจัยภายในปีนี้” พญ.โศรยา กล่าว

ท่านที่สนใจสามารถไปติดตาม ตำรับยากลีบบัวแดง หรือ อภัยบี ได้ โดนจะมีจำหน่ายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน ณ ฮอลล์ 10-11-12 เมืองทองธานี และในงานจะมีการให้ความรู้กับผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโรคสมองเสื่อมด้วย