มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ สสส. ถอดบทเรียน “แม่...ภาระที่แบกรับซ้ำยังถูกทำร้าย” พร้อมเปิดสถิติความรุนแรงที่ผู้หญิงถูกกระทำครึ่งปี 63 พบสูงขึ้น 12% ถูกสามีทำร้าย มีสุรา-ยาเสพติดเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ
“ทำงานเป็นพนักงานเย็บผ้าโรงงาน ช่วงสถานการณ์โควิด – 19 ได้รับผลกระทบถูกลดเวลาทำงานล่วงเวลาจนเงินไม่พอใช้ ต้องเอาค่าจ้างรายวันไปใช้หนี้จนหมด..” เสียงของคุณแม่ที่ประสบปัญหาจากช่วงสถานการณ์โควิดภายในงานเสวนา“แม่...ภาระที่แบกรับซ้ำยังถูกทำร้าย” ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่เดอะฮอลล์ บางกอก วิภาวดี 64 กรุงเทพฯ
เธอเป็นแม่ที่ได้รับผลกระทบ จนทำให้ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียนและซื้ออาหาร บางวันต้องเอาข้าวบูดที่เหลือจากโรงงานมาล้างน้ำ อุ่นให้ครอบครัวกินประทังชีวิต ส่วนสามีก็กินเหล้าทุกวัน เพราะเครียดรายได้ไม่พอรายจ่าย และมีหนี้สินเยอะ พอเมาก็จะทุบตี ด่าทอด้วยคำที่หยาบคาย ทำลายข้าวของ ลูกต้องมาช่วยพาหนี อยากฝากถึงหัวหน้าครอบครัว อยากให้ดูแลครอบครัวให้ดี มีปัญหาอะไรก็ปรึกษาหารือ ช่วยกันแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตามมา
น.ส.บี (นามสมมุติ) จบปริญญาโท ม.ศิลปากร เป็นล่ามอาสาสมัคร คุณแม่อีกท่านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า สามีเป็นชาวต่างชาติที่เพิ่งย้ายมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทยด้วยกันได้ปีกว่า สถานการณ์โควิด - 19 ทำให้เกิดแรงกดดันในครอบครัว เนื่องจากสามีชอบที่จะทำกิจกรรม เมื่อเกิดวิกฤตที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจึงเกิดความเครียด จากที่ไม่เคยทะเลาะกันก็เริ่มมีปากเสียง เมื่อมีการปลดล็อค สามีก็ไปดื่มเหล้า เมากลับมาก็ทำร้ายร่างกายต่อหน้าลูก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ลูกชายวัย 9 ขวบ ที่เคยเป็นเด็กร่าเริง เริ่มซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงจากพ่อ เวลาไม่พอใจหรือโกธร จะกระแทกประตู ขยำกระดาษ และชอบนั่งคนเดียว ไม่พูดกับใคร
ในฐานะแม่ เราต้องลุกขึ้นทำอะไรบางอย่างเพื่อลูก อย่าให้ลูกต้องซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงมากขึ้น เพราะพฤติกรรมเด็กยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ เราต้องลุกขึ้นสู้ด้วยปัญญาไม่ใช่การใช้กำลัง จึงแจ้งความดำเนินคดีทำร้ายร่างกายกับสามี แม้จะเจ็บปวดหรืออาย แต่การที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยาไม่ใช่เรื่องธรรมดา ก็ต้องขอให้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาคุ้มครองจากการถูกทำร้าย” น.ส.บี (นามสมมุติ) กล่าว
นี่คือตัวอย่างของผู้ที่ได้รับผลกระทบช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่ยังรวมถึงการดำเนินชีวิตทั้งหมด โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นตอของปัญหาสำคัญใน 4 มิติ ได้แก่ 1.ด้านสุขภาพ ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอด เสี่ยงติดโควิดถึง 2.9 เท่า 2.ด้านอุบัติเหตุทางถนน กว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนน เกิดจากการ “ดื่มแล้วขับ” และจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล 3. ด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 90,000 ล้านต่อปี และ4.ด้านความรุนแรงในครอบครัว ที่มีทั้งผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว โดยเนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ สสส. ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รณรงค์สร้างจิตสำนึก ตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะเป็นปัจจัยร่วมของปัญหา
“จากสถิติที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลสำรวจ ชี้ชัดว่า ครึ่งปี 2563 ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีปัญหาเรื่องเพศที่เกิดขึ้น และมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด – 19 ผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องงานที่ถูกเลิกจ้าง หรือการถูกลดชั่วโมง แต่ยังถูกกระทำความรุนแรง โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมสะท้อนปัญหาให้สังคมได้รู้และเข้าใจถึงปัญญาความรุนแรงในครอบครัว เพื่อที่จะมาช่วยกันแก้ไขให้ผู้หญิงปลอดภัยจากความรุนแรงและพิษภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ สำรวจสถิติความรุนแรงในครอบครัวในรอบครึ่งปี 2563 โดยการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 มีการนำเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 350 ข่าว ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น ข่าวมีการระบุเชื่อมโยงถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 74 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 21.2 ของข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด แบ่งเป็นข่าวการฆ่ากันตาย 201 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 57.4 ข่าวการทำร้ายกัน 51 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 14.6 ข่าวการฆ่าตัวตาย 38 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 10.9 ข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว 31 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.9 ข่าวการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 10 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 2.9
น.ส.จรีย์ กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในรอบครึ่งปี 2563 เทียบกับปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ12 และปี 2559 สูงกว่าถึงร้อยละ 50 โดยในรอบครึ่งปี 2563 ข่าวอันดับ 1 ยังเป็นข่าวการฆ่ากันในครอบครัว เป็นข่าวสามีกระทำต่อภรรยาสูงถึง 65 ข่าว โดยมีมูลเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งหึงหวง ระแวงว่าจะนอกใจ ขัดแย้งเรื่องเงิน ทรัพย์สิน ปัญหาธุรกิจ โมโหที่ภรรยาขัดใจ ความเครียด เมาเหล้า ติดยาเสพติด รวมถึงมีอาการป่วย ข่าวภรรยากระทำต่อสามี 9 ข่าว มีมูลเหตุมาจากถูกสามีทำร้ายร่างกายก่อน ความขัดแย้ง แค้นสามีนำเงินไปซื้อเหล้า หรือถูกสามีข่มขู่ ยิ่งไปกว่านั้นพบข่าวความรุนแรงทางเพศจากคนในครอบครัวสูงถึง 31 ข่าว เป็นข่าวการถูกข่มขืนโดยคนในครอบครัวสูงถึง 30 ข่าว และข่าวการอนาจารโดยคนในครอบครัว 1 ข่าว
“แม่ – เมีย ต้องแบกรับทั้งความคาดหวังของสังคมที่หล่อหลอมให้ดูแลครอบครัว ต้องรองรับอารมณ์ของสามี ทางออกของปัญหา คือ ต้องรื้อสร้างวิธีคิดใหม่ โดย 1.เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ ทั้งการเลี้ยงลูก การทำงานบ้าน ต้องมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาต้องพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน 2.หน่วยงานภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือที่เป็นมิตร ผู้ประสบปัญหาสามารถขอความช่วยเหลือได้ 3.หน่วยงานภาครัฐควรสร้างทางเลือกการมีอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกงานให้พึ่งตนเองได้ 4.คนในสังคมไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องในครอบครัว เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับเหตุได้ทัน” น.ส.จรีย์ กล่าวทิ้งท้าย
- 170 views