อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กังวลเด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจกระบวนการผลิตวัคซีน ข้อเท็จจริงมีนักวิทยาศาสตร์หลายสาขาอยู่เบื้องหลัง ไทยยังขาดกระบวนการสื่อสาร ห่วงอนาคตเด็กเมินวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลต่อการพัฒนาปท.
หลังจากโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงใกล้สู่ความสำเร็จในกาพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ชื่อ "CHULA-Covid19"เข็มที่ 2 ซึ่งทดลองในลิงได้ผลดี และเตรียมส่งโรงงานผลิตทดลองในคนเฟสแรกปลายปีนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2563 ที่ผ่านมานั้น
ผศ.ดร.รัฐ พิชญางกูร ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมทั้งโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า บทบาทของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของไทย รวมทั้งแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข เกี่ยวกับกระบวนการผลิต vaccine COVID 19 จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ที่ทำงานร่วมมือและสอดประสานกัน โดยผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จะประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ สัตวแพทย์ และ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ซึ่งในการวิจัยขั้นพื้นฐานนั้น กลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อเข้าใจไวรัสชนิดใหม่ชนิดนี้ ทางด้านชีววิทยาของไวรัสและกลไกการติดเชื้อของไวรัสชนิดนี้ ลงไปในระดับโมเลกุล ซึ่งต้องใช้ นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านจุลชีววิทยา (microbiology) ชีวเคมี (biochemistry) และ ชีววิทยาโมเลกุล (molecular biology) เพื่อที่จะสามารถเข้าใจกระบวนการและกลไกการติดเชื้อของไวรัสชนิดนี้ เชิงลึกในระดับเซลล์และโมเลกุล (Cellular and molecular level) นักวิทยาศาสตร์ทางด้านจุลชีววิทยา ประกอบด้วยสาขาย่อยหลากหลายสาขา แต่ที่สำคัญและเกี่ยวข้องมากที่สุดต่อการพัฒนาวัคซีน คือ นักจุลชีววิทยา สาขา ไวรัสวิทยา (virology) และ ภูมิคุ้มกันวิทยา (immunology)
“เมื่อเราเข้าใจชีววิทยาของไวรัสและกลไกการเข้าสู่เซลล์ และการติดเชื้อของไวรัสแล้ว ก็จะสามารถเข้าใจและทราบได้ว่าจะต้องทำวัคซีนออกมาอย่างไร จะเลือกโปรตีนชนิดไหนบนอนุภาคของไวรัสมากระตุ้นให้ร่างกายเราให้สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ แล้วผลิตออกมาเป็นวัคซีน โดยนักวิทยาศาสตร์จะเริ่มวิจัยและทดลองในหนูขาวเพื่อดูว่าจะสามารถกระตุ้นให้ร่างกายของหนูสร้างแอนติบอดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกันของเรา ต่อโปรตีนที่เลือกมาได้หรือไม่ และเมื่อร่างกายมีกลุ่มแอนติบอดีที่จับกับโปรตีนชนิดนี้แล้ว จะสามารถปกป้องร่างกายไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้หรือไม่” ผศ.ดร.รัฐ กล่าว
ผศ.ดร.รัฐ กล่าวอีกว่า เมื่อทำสำเร็จแล้วจึงจะขยายผลออกไปทำต่อในลิง ที่เป็นสิ่งมีชีวิต ที่มีความใกล้เคียงในเชิงสรีระวิทยาและระบบภูมิคุ้มกันกับมนุษย์มากกว่าหนู โดยจะทำการทดลองและวิจัยในเชิงลึกโดยจะต้องนำโปรตีนที่สามารถชักนำให้หนูผลิตแอนติบอดีที่จับกับไวรัสได้นั้น ไปทดลองในลิงต่อ ว่าจะสามารถกระตุ้นให้ลิงสามารถผลิตแอนติบอดีและจับกับไวรัสได้เช่นเดียวกันกับที่พบในหนูหรือไม่
ในส่วนนี้ต้องมีการวิจัยหลายด้าน ทั้งสารที่จะใช้ผสมเข้ากับโปรตีนเพื่อกระตุ้นร่างกายลิง ที่จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันนำโปรตีนดังกล่าวไปสร้างแอนติบอดีได้ดีขึ้นเรียกว่าแอดจูแวนท์ (adjuvant) ที่มีหลากหลายชนิด และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของลิง เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ชีววิทยาและสัตวแพทย์ทำงานร่วมกัน
เมื่อเราสามารถกระตุ้นร่างกายลิงให้สามารถผลิตแอนติบอดีซึ่งจะจับกับอนุภาคของไวรัสได้ โดยเฉพาะในส่วนของอนุภาคไวรัสที่จะป้องกันไม่ให้ไวรัสเกาะกับเซลล์ (adsorption) และสามารถเข้าสู่เซลล์ และทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายได้แล้ว ก็จะต้องทำการทดลองโดยการฉีดเชื้อไวรัสเข้าไปในลิงที่ได้รับวัคซีนของเราแล้ว (challenging experiment) เพื่อที่จะดูว่าสามารถป้องกันไม่ให้ลิงติดเชื้อไวรัสได้หรือไม่ ซึ่งงานในส่วนนี้เรายังไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย
ถึงแม้ว่าเรามีศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ (National Primate Research Centre of Thailand) อยู่ ที่ปัจจุบัน ผู้อำนวยการศูนย์ คือ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ที่เป็นอาจารย์ประจำของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดูแลการทดลองในลิงทั้งหมด ซึ่งจะมีบุคลากรจากคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยด้วยอีกแรง แต่ยังต้องการเงินลงทุนเพื่อปรับมาตรฐานให้สูงขึ้นเพื่อที่จะสามารถการทำวิจัยดังกล่าวได้เองในประเทศ ที่ในอนาคตผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศชาติและประชาชนจะให้การสนับสนุน ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ เพื่อทำให้เราสามารถผลิตและทดสอบวัคซีนในประเทศไทยได้อย่างครบวงจร เพราะเราไม่ทราบเลยว่าในอนาคตจะมีไวรัสชนิดใหม่ๆ หรือโรคติดเชื้ออื่นๆเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่
เมื่อเราได้วัคซีนซึ่งสามารถทำงานได้ในลิง และป้องกันไม่ให้ลิงเกิดการติดเชื้อได้แล้ว ก็จะต้องถึงขั้นตอนที่นำไปทดลองในมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์นำวัคซีนที่ได้ไปทดลองและวัดผล ร่วมมือกับนักวิทยาภูมิคุ้มกันและนักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ
แฟ้มภาพ
“จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้วัคซีนออกมาให้แพทย์ทดลองกับใช้กับมนุษย์นั้นผ่านการวิจัยและการทำงานของนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาหลากหลายความเชี่ยวชาญ ที่ทำงานกันอย่างหนัก ซึ่งพวกเราอาจไม่เคยทราบและเห็นปรากฏอยู่ในข่าว จนหลายท่านเข้าใจไปว่าแพทย์เป็นผู้ผลิตวัคซีน เยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจทางด้านนี้อาจเข้าใจผิดไปว่าถ้าอยากจะช่วยผลิควัคซีนในอนาคตจะต้องเรียนแพทย์ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนัก” ” ผศ.ดร.รัฐ กล่าว
ข่าวต่างประเทศทุกสำนักบอกให้เราเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ “believe in science” และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความชำนาญที่นำเราไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้กับ COVID 19 แต่ในเมืองไทยไม่เคยได้ยินคนพูดถึงนักวิทยาศาสตร์เลย เป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุงและพูดถึงนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยในสาขาต่างๆที่ทำงานอยู่เบื้องหลังให้มากขึ้น เพราะจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ ผู้นำประเทศ ประชาชน และเยาวชนของชาติ เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยของไทย
รวมทั้งเห็นความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ของประเทศ ต่อไปในอนาคต และอยากให้ประเทศชาติและประชาชนช่วยกันสนับสนุนวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย เพื่อให้เรามีบุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถเหล่านี้ ที่จะสามารถช่วยเหลือและรับใช้ประเทศชาติ ทั้งในยามปกติ และในยามฉุกเฉินเช่นนี้ได้ต่อไปในอนาคต
- 1617 views