ที่ ประชุม ศบค.กทม. กำชับมาตรการเข้มคุมโควิด19 ขอความร่วมมือปชช. ผู้ประกอบการที่พักอาศัย สถานพยาบาลตรวจรักษาโรค หากพบเห็นผู้ป่วยหรือสงสัยติดเชื้อต้องแจ้งศูนย์ฯ หรือจนท.ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
วันที่ 17 ก.ค. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 67/2563 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะโฆษกกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ที่ประชุม ศบค.กทม. ขอความร่วมมือประชาชน ผู้ประกอบการที่พักอาศัย ผู้ประกอบการสถานพยาบาลตรวจรักษาโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นต้น เข้ามีส่วนร่วมควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (Emergency Operation Center :EOC) โทรศัพท์หมายเลข 09 4386 0051 หรือ ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โทร. 1646 หรือติดต่อโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตใกล้บ้าน
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 กำหนดว่า ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น ให้บุคคลดังต่อไปนี้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ได้แก่ 1.เจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน หรือแพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาล ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้นในบ้าน 2.ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้นในสถานพยาบาล
3.ผู้ทำการชันสูตรหรือผู้รับผิดชอบในสถานที่ที่ได้มีการชันสูตร ในกรณีที่ได้มีการชันสูตรทางการแพทย์หรือทางการสัตวแพทย์ตรวจพบว่ามีหรืออาจมีเชื้ออันเป็นเหตุของโรคติดต่ออันตราย และ 4.เจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้นในสถานที่นั้น ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตใกล้บ้าน นอกจากนี้มาตรา 50 ของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
- 181 views