สสส. ชูโปรเจกต์ ‘ตามสั่ง ตามส่ง’ สร้างแรงกระเพื่อมชีวิตวิถีใหม่ เพิ่มรายได้ วิน-ร้านอาหาร-ชาวลาดพร้าว 101 สู่ชุมชนเข้มแข็ง-เกื้อกูล
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ซ.ลาดพร้าว 101 กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนา “ตามสั่ง – ตามส่ง : บิดเมือง” ภายใต้โครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก ในทางวิชาการ เรียกว่า “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” เช่น รายได้ ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมรอบตัว สสส. จึงเห็นโอกาสในการสร้างความเข็มแข็งให้แก่ชุมชน ช่วยให้คนในชุมชนมีความสามารถในการปรับตัวในภาวะวิกฤติ (Resilience) และแก้ไขปัญหาสุขภาพของตนเองได้จริง จึงริเริ่มสร้างสรรค์ ชุดโครงการ “พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ” 1 ใน 55 โครงการที่ร่วมกันลดผลกระทบจากโควิด-19 มีความแปลกใหม่ น่าสนใจ และเป็นโครงการนำร่องที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ คือ โครงการตามสั่ง-ตามส่ง พร้อมขยายผลต่อทั้งเชิงลึกในชุมชม และถอดบทเรียนเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังชุมชนที่มีความพร้อมอื่น ๆ
ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี หัวหน้าชุดโครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ กล่าวว่า โครงการฯ ใช้แนวคิด Resilience คือ การใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีต่อสู้เพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอด โดยการบูรณาการนำเอาความรู้ ความเข้าใจพฤติกรรม และบริบทของชุมชน มาใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการตอบรับกับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น การใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานความรู้เดิม (Cognitive resilience) กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน (Behavioral Resilience) โดยใช้ผู้คน เครือข่าย และทรัพยากรที่มีอยู่เดิม (Contextual resilience) มาสร้างทางออกในการดำเนินชีวิตในช่วงวิกฤติและหลังวิกฤติ ช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบ สามารถดำเนินชีวิตด้วยความต่อเนื่องได้
นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ หัวหน้าโครงการตามสั่ง ตามส่ง กล่าวว่า กลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง และร้านค้า ผู้บริโภคในชุมชนลาดพร้าว 101 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กลไกตลาดออนไลน์ปัจจุบันยังถูกทำให้บิดเบี้ยว ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารที่มากขึ้น จึงเกิดโครงการ “ตามสั่ง ตามส่ง” โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ชุมชนเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างบิดสิ่งที่เบี้ยวกลับมา โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย กว่า 50 ร้าน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กว่า 40 คน นับเป็นนวัตกรรมทางสังคมในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ให้เรียนรู้ พัฒนา และมีสำนึกร่วมในฐานะเจ้าของชุมชน พร้อมแสดงให้เห็นว่า คนตัวเล็กที่ด้อยอำนาจต่อรอง สามารถรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่เป้าหมายได้
ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ ศูนย์ประสานงานวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการตามสั่ง-ตามส่ง ส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และชุมชน และช่องทางการจำหน่ายของเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาและพึ่งพิงตัวเอง และเศรษฐกิจพอเพียง สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง สืบสานความเป็นชุมชน ส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อให้เกิดวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีถูกสุขลักษณะ เพิ่มความมั่นคงทางรายได้ สร้างอำนาจการต่อรอง และช่วยเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานกับรูปแบบงานในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน ทำความสะอาด หาบเร่แผงลอย ร้านตัดผม
นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย และประธานวินซอยลาดพร้าว 101 กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้รับผลกระทบจากแอปพลิเคชั่นเรียกรถต่าง ๆ ทำให้รายได้ลดลงกว่าร้อยละ 60 เกิดความเครียด ความขัดแย้ง โครงการ ตามสั่ง ตามส่ง เข้ามาสร้างโอกาส สร้างรายได้ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีส่วนร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้นให้ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ช่วยยกระดับมาตรฐานอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมีขั้นตอนการทำงานที่ไม่ขัดกับมาตรฐานทางอาชีพ ชุมชนใกล้ชิดกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ผู้บริโภค ร้านค้า วินมอเตอร์ไซค์ได้ประโยชน์ร่วมกัน ความเป็นชุมชนกลับมา ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ตามสั่ง-ตามส่ง.com เฟซบุ๊กแฟนเพจ ตามสั่ง ตามส่ง และไลน์ @tamsangtamsong101
- 95 views