งานวิจัยชิ้นหนึ่งสำรวจพบว่าประชาชนเชื่อข่าวปลอมที่แพร่หลายตามสื่อต่างๆ มากถึง 60% เป็นเรื่องจริง ซึ่งข่าวปลอมเหล่านี้เป็นเรื่องสุขภาพ การรักษาโรค และเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสาธารณสุข
งานวิจัยนี้ทำขึ้นโดยคณะนักเศรษฐศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์จัมเปียโร ฟาวาโต (Professor Giampiero Favato) และ ดร. อันเดรอา มาร์เชลลูซี (Dr. Andrea Marcellusi) จากวิทยาลัยธุรกิจคิงสตัน (Kingston Business School) มหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งพวกเขายังพบด้วยว่า ยิ่งข่าวปลอมพวกนี้แพร่ออกไปแล้วเข้าถึงสาธารณชนมากเท่าไร มันยิ่งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณไปเรื่อยๆ
ทีมวิจัยพบว่าหากการที่ข่าวปลอมผ่านตาคนมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้พวกมันน่าเชื่อถือมากขึ้นอีก ยิ่งคนเห็นมากยิ่งน่าเชื่อถือมาก ต่อให้ใชเว็บแบนเนอร์ (web banners) บอกเตือนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับข้อมูลที่อาจจะไม่ถูกต้องก็ยังไม่ได้ผลในการควบคุมข่าวปลอม เพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะแชร์ข่าวปลอม
ศาสตราจารย์ฟาวาโต้กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่ผู้คนมีความเชื่อในเรื่องข่าวปลอมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นถ้าขาวปลอมให้ข้อมูลที่ดูเหมือนจะสมเหตุสมผลแล้วสาธารณชนก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เชื่อ
ทีมงานซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลอิตาลี ได้ทำการสำรวจและทดลองโดยคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยมากกว่า 1,900 คนอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปีจากภูมิหลังที่หลากหลาย จากนั้นผู้เข้าร่วมแบ่งเป็นสองกลุ่มด้วยการสุ่มเลือก
จากนั้นให้พวกเขาดูโพสต์ข้อมูลที่ทำขึ้นในรูปแบบเดียวกับที่เราเห็นในสื่อสังคมออนไลน์โดยเป็นเรื่องจริง 6 เรื่องและเรื่องข่าวปลอม 6 เรื่อง แล้วถามว่าพวกเขาจะแชร์ข้อมูลเหล่านี้บน Facebook หรือไม่ แต่ข้อแตกต่างคือ มีกลุ่มหนึ่งเห็นป้ายเตือน (เว็บแบนเนอร์) เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการโพสต์ข่าวปลอม ในขณะที่อีกกลุ่มไม่เห็น ต่อมาผู้เข้าร่วมโครงการจะดูข้อมูลเดิมทั้ง 12 เรื่องพร้อมด้วยเรื่องราวใหม่ 12 เรื่อง (แบ่งเป็นข่าวจริง 6 ข่าวปลอม 6 เรื่อง) และขอให้คะแนนว่าข้อมูลเหล่านี้จริงหรือเท็จ
ปรากฎว่าคำเตือนจากเว็บแบนเนอร์ให้ระวังข้อมูลที่ไม่ผ่านการตรวจสอบกลับไม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมการศึกษาในแง่ของความเชื่อหรือการแบ่งปันข้อมูล หรือพูดง่ายๆ ก็คือแม้จะมีประกาศเตือนให้ระวังคนที่เห็นข่าวปลอมก็ยังเชื่อและแชร์ข้อมูลโดยไม่ใตร่ตรอง
แม้กระทั่งข้อมูลที่ทราบโดยทั่วว่าเป็นข่าวปลอมชัดๆ ก็ยังมีโอกาสที่ผู้คนจะแชร์ข้อมูลนี้มากถึง 50 % ดังนั้นในเวลานี้ ข่าวปลอมเรื่องการดูแลสุขภาพจึงแพร่ระบาดอย่างอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ศาสตราจารย์ฟาวาโตหัวหน้าทีมวิจัยจึงต้องการให้สื่อมวลชนทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสกัดกั้นการแพร่ะกระจายของข่าวปลอม
"องค์กรสื่อที่เผยแพร่เรื่องราวข่าวปลอมมีความรับผิดชอบทื่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ Facebook กำลังวางแผนที่จะลงทุนในทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่แชร์บนแพลตฟอร์ม หากเรื่องราวไม่น่าเชื่อถือเราแนะนำให้สำนักข่าวพิจารณาทางเลือก 2 ทาง คือ ลบโพสต์หรือใช้อัลกอริธึมเพื่อทำให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ถูกบังออกไปให้อยู่ตอนท้ายของหน้าแสดงผลการค้นหา" ศาสตราจารย์ฟาวาโตกล่าว
ถ้าหากสื่อที่น่าเชื่อถือไม่ลงมือเพื่อแก้ไขข่าวปลอม ผลกระทบนั้นก็จะย้อนกลับมาที่สื่อหลักๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ ผลกระทบที่หนักหน่วงเรื่องหนึ่งคือรายได้ที่จะหายไป เพราะข่าวปลอมเป็นข่าวที่มีความหวือหวาน่าสนใจไม่สนความถูกต้องจึงปลุกเร้าอารมณ์ของผู้คนได้ง่ายกว่าข่าวจริง และข่าวพวกนี้จึงมีคนอ่านและแชร์มากกว่าข่าวทั่วไป
เมื่อมีคนอ่านและแชร์มากขึ้นแหล่งข่าวปลอมก็จะได้รับรายได้จากการโฆษณามากขึ้น
ศาสตราจารย์ฟาวาโตกล่าว่า เราจะเป็นจะต้องตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่กระจายของข่าวปลอมด้วย เพราะยิ่งพวกมันทำรายได้มากขึ้นปัญหาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การแพร่กระจายของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขที่ชี้เป็นชี้ตายคนในสังคม เช่นโครงการฉีดวัคซีนและยังเพิ่มภาระด้านงบประมาณในการต่อสู้กับโรคที่ป้องกันที่แพร่กระจายอยู่ในสังคมของเรา เช่น ความลังเลที่จะฉีดวัคซีนและกระแสต่อต้านวัคซีนเพราะความเชื่อผิดๆ เป็นหนึ่งใน 10 ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้านสาธารณะจากการระบุโดยองค์การอนามัยโลก (1)
คำถามสำคัญก็คือทำไมสาธารณชนถึงปักใจเชื่อข่าวปลอมกันอย่างง่ายดาย ?
จากงานวิจัยของฮิโรโกะ คาโน (Hiroko Kanoh) แห่งมหาวิทยาลัยยามางาตะ (Yamagata University) อ้างทฤษฎีของ A. Kucharski ที่ชี้ให้เห็นว่าการเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มีความคล้ายคลึงกันหลายประการกับวิวัฒนาการและการแพร่กระจายของโรคระบาด ดังนั้นการวิเคราะห์กลไกของการระบาดของโรคจึงมีส่วนช่วยให้เห็นกลไกของการแพร่กระจายของข่าวปลอมได้ด้วย
ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ต่างๆ ของโรคสามารถวิวัฒนาการและต่อสู้กับร่างกายในประชากรที่เป็นที่ติดเชื้อ (โฮสต์) ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับข่าวลือ นอกจากนี้การติดเชื้อและความคิดเห็นของคนเราต่างก็เกิดจากการติดต่อทางสังคม การสร้างแบบจำลองของสายพันธุ์ต่างๆ ของโรคระบาดที่ต่อสู้กันแสดงให้เห็นว่า มื่อการติดต่อทางสังคมสามารถปรับตัวเข้ากับโฮสต์มากขึ้น ความหลากหลายของสายพันธุ์ที่หมุนเวียนเข้ามาก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย (2)
ดังนั้นเมื่อข่าวปลอมทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นชินมากเท่าไร คนๆ นั้น (หรือโฮสต์) ก็จะยิ่งปล่อยให้ข่าวปลอมไหลเวียนเข้าสู่ตัวเขามากขึ้นแล้วแพร่กระจายไปเมื่อเกิดการติดต่อทางสังคม แต่สิ่งที่ต่างจากโรคระบาดคือ ข่าวปลอมไม่สามารถหยุดยั้งได้ผ่านการเว้นระยะทางสังคม (Social distancing) เพราะการกระจายของข่าวปลอมไม่ใช่แค่การซุบซิบนินทากันตัวต่อตัวแต่ยังผ่านการแพร่กระจายออนไลน์โดยไม่ต้องพบหน้ากัน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้คนมักจะคิดว่าข่าวทางอินเทอร์เน็ตมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าแต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวทางอินเทอร์เน็ตมากกว่า มีการวิจัยโดย Wogalter และคณะ (2008) พบว่าถึงแม้คนทั่วไปจะไม่พึ่งพาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแบบร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็ยากที่จะรอดพ้นจากอิทธิพลของมัน และถึงแม้ว่าผู้คนมักจะคิดว่าข้อมูลออนไลน์น่าสงสัยและไม่น่าเชื่อถือ แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากข้อมูลออนไลน์ ดังนั้นเมื่อเห็นภาพข่าวปลอมข่าวหนึ่งคนจะสงสัยไว้ก่อนว่าจริงหรือไม่ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่าบางทีมันอาจจะมีส่วนจริง จะเห็นว่านี่คือจิตวิทยาเบื้องหลังของการที่ทำให้คนคนเริ่มจะเชื่อข่าวปลอม
จากงานวิจัยข้างต้นเราจะเห็นกลไกของจิตวิทยาทำให้ผู้คนสงสัยข้อมูลที่แปลกๆ ว่าเป็นข่าวปลอมเอาไว้ก่อน ถ้าหากพวกเขาคิดเชิงวิเคราะห์มากขึ้นก็อาจค้นพบความจริง แต่น่าเสียดายที่คนที่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมส่วนใหญ่อยู่ในโหมดสบายๆ ไม่ได้ตั้งการ์ดระวังแล้วคิดวิเคราะห์ต่อจากนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้เสพข่าวกำลังกินหรื่อดื่ม (ซึ่งเป็นโหมดผ่อนคลาย) จะทำให้พวกเขาเชื่อข่าวปลอมได้ง่ายขึ้น
เรื่องนี้สามารถอ้างอิงงานวิจัยโดย Irving และคณะ (1965) เกี่ยวกับการรับข่าวสารโดยแบ่งผู้ทดลองออกเป็น 2 กลุ่มให้รับข้อมูลที่มีความไม่แน่นอน กลุ่มหนึ่งให้รับประทานถั่วกับโค้กซึ่งเป็นอาหารว่างไปด้วยขณะรับข้อมูลส่วนอีกกลุ่มไม่ให้รับประทานอะไรเลย ปรากฎว่ากลุ่มที่รับประทานของว่างไปด้วยมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลมากกว่าอีกกลุ่ม
จากการทดลองนี้ ฮิโรโกะ คาโน (2017) จึงทำการทดลองบ้างโดยคราวนี้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ 2 กลุ่มรับข่าวปลอมและบางข้อมูลเป็นข่าวที่เห็นได้ชัดว่าปลอมมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ปรากฎว่ากลุ่มที่รับประทานของว่างไปด้วยมีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทานอะไรเลย
วิธีการนี้เรียกว่า luncheon technique หรือการปล่อยข้อมูลข่าวสารในตอนที่ผู้รับสารกำลังรับประทานอาหารอย่างผ่อนคลายมักถูกใช้ในงานแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและผลิตภัณฑ์ความงาม และการประชุมด้านธุรกิจอื่นๆ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้รับสารเชื่อข้อมูลที่กำลังแถลงออกไป (2)
ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยกรองข่าวกรองได้ดีที่สุดคือการทำลายแหล่งข่าวนั้น เพราะการคิดวิเคราะห์ของผู้รับข่าวเองเป็นเรื่องที่พึ่งพาไม่ได้ เพราะเห็นแล้วว่าแม้จะมีแบนเนอร์เตือนแต่ผู้รับข่าวก็ยังมีแนวโน้มที่จะเชื่อมัน และยิ่งหากผู้รับข่าวทำตัวสบายๆ ด้วยแล้ว ข่าวปลอมยิ่งแทรกซึมเข้าไปในสมองของผู้รับข่าวง่ายขึ้นอีก
อ้างอิง
1. Kingston University. (November 20, 2019). "Public believe more than half of fake news about healthcare spread online, major study by Kingston University reveals" Retrieved July, 7 2020 from https://www.kingston.ac.uk/news/article/2272/20-nov-2019-public-believe-more-than-half-of-fake-news-about-healthcare-spread-online-major-study-by/
2. Kanoh, Hiroko. "Why do people believe in fake news over the Internet? An understanding from the perspective of existence of the habit of eating and drinking" in Procedia Computer Science Volume 126, 2018, Pages 1704-1709. https://doi.org/10.1016/j.procs.2018.08.107
- 1691 views