“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” เผยข้อมูลภูมิต้านทานธรรมชาติจะเกิดขึ้นหลังติดเชื้อหรือไม่ ยังไม่การันตี ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่ากลุ่มอาการรุนแรงจะมีภูมิฯ เกิดขึ้นสูงในช่วง 2-3 ปี จึงต้องติดตามผู้ที่หายป่วยอย่างน้อย 1 ปี
เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยววชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ถึงความคืบหน้าการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วสร้างแอนติบอดี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดมีความพยายามนำยาหลายชนิดมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนว่ายาชนิดไหนใช้รักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ด้วยหลักของภูมิต้านทาน เมื่อคนไข้หายจากโรคโควิด-19 กลไกตามธรรมชาติร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้น โดยสร้างได้สูงมากในช่วง 4-6 สัปดาห์แล้วจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าจะอยู่ถึง 6 เดือน
“ข้อมูลจากการศึกษาร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในการศึกษาประชากรที่หายจากโรคโควิด-19 แล้วประมาณ 300 คน พบว่า 10 % ตรวจไม่พบภูมิต้านทาน และช่วง 4 สัปดาห์ภูมิต้านทานจะมีปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นภูมิที่ต่อต้านกับหนามแหลมของไวรัส เปรียบเสมือนเซรุ่มหรือแอนติบอดี้ที่คอยปกป้องหรือยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ ดังนั้น การใช้พลาสมาหรือน้ำเหลืองของผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว ซึ่งจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคโควิด-19จึงมีความสำคัญ” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ผู้ที่จะบริจาคพลาสมาได้โดยทั่วไป จะต้องหายจากโรคโควิด-19แล้วไม่น้อยกว่า 14 วันต้องตรวจเชื้อจากสารคัดหลั่งในลำคอและตรวจในเลือดว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว อายุ 18-60ปี น้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม ร่างกายแข็งแรงตามเงื่อนไขการการบริจาคโลหิต ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการที่จะมาบริจาค โดย 1 คนสามารถบริจาคได้ 6 ครั้ง ทุก 2 สัปดาห์ ได้พลาสมาครั้งละ 500-600 ซีซี จะแบ่งเป็น 2 ถุง ถุงละ 250 ซีซีและ300ซีซี เพื่อให้กับผู้ป่วยตามน้ำหนักตัวหากมากกว่า 60 กิโลกรัมจะให้ถุงละ 300 ซีซี เมื่อให้แล้วภายใน 24-48 ชั่วโมงอาการไม่ดีขึ้นสามารถให้ซ้ำอีกได้ ขณะนี้มีอาสาสมัครหรือฮีโร่ที่มาบริจาคให้กับศูนย์บริจาคบริการโลหิตแห่งชาติแล้วมากกว่า 150 คน ได้พลาสมาที่มีภูมิต้านทานสูงมากกว่า 250 ถุง ซึ่งในการใช้รักษาคนป่วย 1 คนจะใช้ประมาณ 1 - 2 ถุง ในจำนวนนี้สามารถใช้รักษาได้ราว 100 คน แต่ยังไม่ได้มีการนำไปใช้กับผู้ป่วยในประเทศไทย เพราะสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยดีขึ้น จึงมีการเก็บรักษาไว้ในคลังสำรองสามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปี
หัวหน้าศูนย์เชี่ยววชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวว่า ถ้ามีผู้มาบริจาคเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ เมื่อสามารถบริจาคได้ 600-1,000 ถุง ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติมีความสามารถที่จะเอาพลาสมาทำเป็นเซรุ่ม โดยเอามาทำให้ปริมาณพลาสมาเข้มข้น ก็จะสามารถบรรจุขวดและมีปริมาณแอนติบอดี้ต่อ 1 ขวดค่อนข้างสูง สำหรับฉีดใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19เหมือนเซรุ่มที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบบี หรือเซรุ่มรักษาพิษสุนัขบ้า และการเก็บในรูปแบบนี้จะอยู่ได้นานขึ้น จึงยังยินดีที่จะให้ผู้ป่วยที่หายแล้วและสนใจมาบริจาคพลาสมาให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
“โดยทั่วไปจากข้อมูลทางตะวันตก การใช้พลาสมาในการรักษาผู้ป่วยในประเทศสหรัฐอเมริกา มากกว่า 10,000 ถุง มีการศึกษาความปลอดภัยแล้ว 5,000 คน พบว่า ปลอดภัย อาการข้างเคียงเหมือนกับการให้เลือดหรือน้ำเหลืองในผู้ป่วยโรคอื่นๆไม่แตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มีรายงานออกมาค่อนข้างมากมายทั้งในประเทศจีน ฝรั่งเศส ฮังการี อิตาลี หรือแม้กระทั่งอเมริกาที่มีการให้มากที่สุด พบว่าได้ผลดีจำนวนมาก ส่วนที่ให้แล้วไม่ได้ผลนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ในคนไข้ที่มีอาการค่อนข้างมากหรืออยู่ในระยะที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือใช้ปอดเทียมแล้ว โอกาสที่จะได้ผลก็ค่อนข้างน้อย” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในการตรวจวัดภูมิต้านทานของผู้ที่หายจากโควิด-19 ประมาณ 300 คน พบว่า 10-12 % ตรวจไม่พบภูมิต้านทาน ข้อมูลนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเหมือนกับการศึกษาในประเทศจีนหรือทางตะวันตก ที่พบผู้ไม่ตอบสนองต่อภูมิต้านทานหรือตรวจไม่พบภูมิต้านทาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาการน้อย คล้ายไข้หวัด ไอ ไม่รุนแรง ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงจะมีภูมิต้านทานสูง คนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการปอดบวมหรือลงปอด ภูมิต้านทานจะขึ้นสูง ซึ่งจะมีโครงการต่อเนื่องในการติดตามภูมิต้านทานธรรมชาติที่เกิดขึ้น หลังหายแล้ว 6 เดือน ,9 เดือน และ 1 ปี เพื่อหาว่าการติดเชื้อและเกิดภูมิต้านทานธรรมมชาติแล้วจะลดลงเป็นอย่างไร นอกจากนี้ มีการตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ประมาณ 400 คน พบว่า มีหลักฐานการติดโรคประมาณ 5 % และไม่มีอาการของโรคหรือเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยมากกว่าบุคคลที่เป็นเพื่อนร่วมงาน
" ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าภูมิต้านทานธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อนี้ จะอยู่ยาวนานแค่ไหนจะอยู่ตลอดไปหรือไม่ และจะปกป้องไม่ให้เป็นซ้ำได้หรือไม่ โครงการนี้จึงต้องมีการศึกษาติดตามประชากรที่หายจากโควิด-19ต่อไป เท่ากับว่ายังไม่สามารถการันตีได้ว่าคนที่เคยติดเชื้อแล้วจะไม่ติดเชื้ออีก อาจเป็นซ้ำอีก เพียงแต่เชื่อว่าในกลุ่มผู้ที่มีอาการรุนแรง และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นสูงนั้น ใน 2-3 ปีจะไม่เป็นซ้ำอีก แต่ไม่มีใครรู้ จึงต้องติดตามภูมิต้านทานของผู้หายป่วยไปอย่างน้อย 1 ปี อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคนป่วยที่หายยังตรวจพบเชื้อในคอ7 % พบในช่วง 4 สัปดาห์และนานสุดที่ 81 วัน แต่ปริมาณเชื้อน้อย อยู่ในเกณฑ์ต่ำ โอกาสที่จะแพร่เชื้อน้อยมากๆ ซึ่งไม่ต่างจากในเกาหลีใต้และจีน" ศ.นพ.ยง กล่าว
- 557 views