สสส. จับมือ TPAK เปิด ‘คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน-คู่มือฟื้นกิจกรรมทางกายหลังโควิด’ แนะปฏิบัติง่าย ๆ ที่บ้านเหมาะกับแต่ละช่วงวัยในชีวิตวิถีใหม่
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทุกช่วงวัย สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในมิติช่วงวัยและมิติเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในสังคมด้วยการสื่อสารความรู้ด้านการมีกิจกรรมทางกายที่ถูกวิธี โดยพัฒนาชุดความรู้ร่วมกับศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำคู่มือสองเล่ม 1.คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน และ 2.คู่มือฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
“คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้านทำหน้าที่เหมือนยาสามัญประจำบ้าน สมาชิกในครอบครัวที่อยากรู้จัก ทำความเข้าใจ และรู้วิธีการทำกิจกรรมทางกายสามารถใช้คู่มือเป็นแนวทางปฏิบัติได้ เพราะกิจกรรมทางกายสำคัญเท่ากับการรับประทานอาหารที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เล่มนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายที่สามารถทำได้เมื่ออยู่บ้าน ปฏิบัติได้ง่าย ๆ เครื่องมือไม่มาก สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับชมคลิปวิดีโอกิจกรรมทางกาย กว่า 60 คลิปวิดีโอผลงานของภาคีเครือข่าย สสส. และคลิปจากบุคคลที่มีชื่อเสียง ส่วนคู่มือฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 เป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการด้านกิจกรรมทางกายของไทยครั้งแรกในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประโยชน์กับนักวิชาการและผู้วางนโยบายกิจกรรมทางกาย ปัจจุบันสถานการณ์กิจกรรมทางกายของไทยลดลงมาก จำเป็นต้องเพิ่มยากระตุ้นให้กิจกรรมทางกายกลับมาเช่นเดิม ถือเป็นวาระระดับชาติเพราะไทยแบกรับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในโรคกลุ่ม NCDs สูงขึ้น คู่มือฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 จะชี้ช่องให้รัฐบาลเห็นแนวทางขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายในประเทศให้พิชิตเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย(TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดเด่นของคู่มือกิจกรรมทางกายในบ้านเสนอประโยชน์หลายประการ ในกลุ่มเด็ก ช่วยกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการ กลุ่มวัยรุ่นทำให้รูปร่างดี สมส่วน สุขภาพจิตดีไม่เสี่ยงซึมเศร้า แนะนำให้วัยเด็กและวัยรุ่นมีกิจกรรมทางกายวันละ 60 นาที กลุ่มผู้ใหญ่กิจกรรมทางกายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แนะนำวันละ 30 นาที หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ สำหรับผู้สูงอายุ ช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้มนำไปสู่การบาดเจ็บรุนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต แนะนำ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ภายในเล่มยังแนะนำว่า การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคในกลุ่ม NCDs หัวใจสำคัญของคู่มือฯ คือ การใช้บ้านเป็นฐานในการดำเนินชีวิตและการมีกิจกรรมทางกายจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าโรคโควิดจะกลับมาอีกรอบหรือไม่
“คู่มือฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 มีสถานการณ์ภาพรวมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยและด้านพฤติกรรมเนือยนิ่งของประชากรไทย ระหว่าง พ.ศ. 2555-2562 ด้านกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่งของประชากร 3 ช่วงวัย ได้แก่ เด็กและเยาวชน (5-17 ปี) ผู้ใหญ่ (อายุ 18-59 ปี) และผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) พร้อมเสนอกิจกรรมทางกายยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นชีวิตวิถีใหม่ของประชากรในมิติของกิจกรรมทางกาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีมนุษย์เฉื่อย เด็กมีพฤติกรรมใช้เวลากับอุปกรณ์หน้าจออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นน่ากังวล 14 ชั่วโมงต่อวัน วิถีน้องใหม่สายสุขภาพ ลุกขึ้นมาออกกำลังกายหลังโควิด อยากสร้างภูมิคุ้มกันโรค วิถีหน้ากากนักวิ่ง วิถีมนุษย์เวอร์ชวล/ออนไลน์ ใช้แอพ Tik Tok เคลื่อนไหวร่างกายประกอบเพลง วิถีเด็กติดจอ และวิถีเด็กสายเพลย์ เสนอทั้งมุมบวกและลบท้าทายให้คิดและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น
ทังนี้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน ได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/Books/646/คู่มือ+กิจกรรมทางกายประจำบ้าน.html และคู่มือฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 https://www.thaihealth.or.th/Books/647/ฟื้นกิจกรรทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19.html
- 114 views